เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เสนอ ยกเครื่องระบบบริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัย ศูนย์ฯเด็กเล็ก ให้เพียงพอต่อประชากรคนจนเมืองนุบสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ลดภาระผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.65 ที่ชุมชนพัฒนา 70 ไร่ คลองเตย กทม. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัดเวทีรับฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เมืองเป็นธรรม” มีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 80 องค์กร ชี้ให้เห็นปัญหาหลากหลายมิติของคนเมือง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้ชีวิต เพื่อร่วมกันตกผลึกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
หนึ่งในข้อเสนอสำคัญ คือ ปัญหาเรื่องการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนจนเมือง และผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงในชีวิตมาหลายยุคหลายสมัย แต่เครือข่ายภาคประชาชนบอกว่าแทบไม่มีผู้สมัครคนไหน ชูนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อคนจนเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค ระบุว่า คนจนเมือง เป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาเมือง แต่ผู้คนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อชุมชน จากโครงการพัฒนาภาครัฐ อีกทั้งยังมีชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หรืออาจสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนจนมากขึ้น จึงอยากเห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แสดงความจริงใจแก้ปัญหา โดยเฉพาะการพัฒนาเมือง ที่ไม่จำกัดอยู่แค่การเช่าพื้นที่เป็นศูนย์การค้า หรือสวนสาธารณะ แต่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยด้วย
เวทีในวันนี้ยังพูดถึงความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ตัวอย่าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน คนรวย เช่น การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ระบบประกันสังคม ผ่านการเล่นบอร์ดเกมที่ทำให้คนในชุมชนคลองเตยเห็นถึงปัญหา และสิทธิในการเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ยกตัวอย่างในวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ต้องมีหน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้าน เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ยกระดับคุณภาพศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ขณะประเด็นเรื่องสวัสดิการเพื่อเด็กเล็ก เครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า อยากเห็นทั้งทุกเขต ของ กทม.มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีคุณภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีแต่การดำเนินการของเอกชน และมูลนิธิต่างๆ ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกเขต รวมถึงผู้ว่าฯ กทม. ต้องสนุบสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี 600 บาทแบบถ้วนหน้า แทนในส่วนของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีกว่า ร้อยละ 40 หรือ 6 หมื่นคน ที่ไม่เข้าเกณฑ์ ซึ่งทั้งสองข้อเสนอยังสัมพันธ์กับการช่วยลดภาระผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำอีกด้วย
ศิธา ทิวารี ไซราม ประกายกิจ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
สำหรับเวทีเมืองเป็นธรรมวันนี้ มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงทีมนโยบายของผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. มาเข้าร่วม เช่น น.ต. ศิธา ทิวารี เสนอการแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชน ว่า จะใช้วิธีเจรจากับเจ้าของพื้นที่ขอแบ่งพื้นที่ในการจัดตั้งเป็นชุมชนให้กับชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่สาธารณะ
ไซราม ประกายกิจ ผู้สมัคร ส.ก. เขตคลองเตย พรรคก้าวไกล ผู้แทน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เสนอยกระดับคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก ด้วยการบรรจุอาสาสมัครศูนย์เด็กเล็กเป็นลูกจ้างของ กทม. รวมถึงจะนำงบประมาณ 5 ล้านบาทต่อศูนย์มาปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐาน สื่อพัฒนาเด็กเล็กในชุมชน
สว่าง ศรีสม ทีมคนลุยเมือง ผู้แทน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง กล่าวว่า จะทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ขนส่งสาธารณะ การศึกษา รวมถึงการทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่ยังไม่ได้จดทะเบียน มาจดทะเบียนอย่างถูกต้องเพื่อสามารถขอรับเงินสนับสนุนได้
เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ “ทีมเพื่อนชัชชาติ” ผู้แทน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เสนอ ทำให้ระบบการศึกษาของกรุงเทพฯ ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่ากัน คืนครูให้นักเรียน มีศูนย์เด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน และก่อนปฐมวัย เพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถกลับไปทำงานได้
ขณะที่เวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ ยังเหลืออีก 2 เวที คือ เมืองสร้างสรรค์ และ เมืองมีส่วนร่วม โดยข้อเสนอจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ กว่า 80 องค์กร ทั้ง 6 เวที จะถูกรวบรวมเป็นสมุดปกขาว เพื่อยื่นต่อผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในมหกรรมปลุกกรุงเทพฯ ที่ไทยพีบีเอสจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้