ภาคประชาชนเรียกร้องผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ดันนโยบาย “เมืองสร้างสรรค์” สู่ Soft Power

‘เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ’ ชู 6 ข้อเสนอถึง ‘ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.’ ใช้ศิลปวัฒนธรรมเคลื่อนเศรษฐกิจ “ส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์ตลอดห่วงโซ่” ครอบคลุมศิลปิน พื้นที่แสดงออก เอื้อกลไกทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ รวมภาคีภาคประชาสังคม นักวิชาการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และสื่อมวลชนกว่า 80 องค์กร จัดเวที Bangkok Active Forum : ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “เมืองสร้างสรรค์” ชวนผู้สมัครผู้ว่า กทม. เปิดเวทีสาธารณะหารือแนวทางผลักดันให้กรุงเทพมหานครสร้างวาระทางคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รองประธานกรรมการมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ลักขณา คุณาวิชายานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), มณฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร ศิลปินนักนิเวศสุนทรีย์ และ วรรณิกา ธุสาวุฒิ เยาวชนเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง เป็นตัวแทนนำเสนอนโยบาย

ตัวแทนเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่เก่าและอาคารรกร้างที่ขาดการใช้ประโยชน์ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. ขาดมุมมอง “ศิลปะที่กินได้” หรือ การใช้ศิลปวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ (Soft Power) หากภาครัฐสามารถทำงานร่วมกับประชาชนได้ จะทำให้เกิดการต่อยอดสิ่งที่มีคุณค่าไปสู่การสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนและชุมชน อาทิ การทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต สืบสานสร้างสรรค์พื้นที่ของดีแต่ละเขต ซึ่งเป็นพันธกิจด้านศิลปวัฒนธรรมตามอำนาจหน้าที่มาตรา 89 (ทวิ) ของกรุงเทพมหานคร

ข้อเสนอสำคัญของ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ คือการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเกิด “เมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative city โดยมีกระบวนการสนับสนุนการสร้างศิลปิน การพัฒนาพื้นที่และโอกาสทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชนให้กลายเป็นย่านศิลปวัฒนธรรม (Social Economic Impact) เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งศิลปะ โดยมีเสนอนโยบาย 6 ด้าน ได้แก่

1. จัดตั้ง “คณะกรรมการว่าด้วยศิลปวัฒนธรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งกรุงเทพมหานคร เป็นกลไก สภาสมัชชา เครือข่าย หรือที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมในกลไกงานบริหารของกรุงเทพมหานคร (Active Citizens Network for Art and Culture) มีหน้าที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สื่อสารกับสังคมบนPlatform ที่ทุกคนเข้าถึงได้ รวมทั้งบริหารกองทุนฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนงานศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2.จัดตั้ง “กองทุนศิลปวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนศิลปินและโครงการด้านนี้ และเปิดโอกาสให้ภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ มีส่วนร่วมในการสนับสนุน และให้ผู้บริจาคสามารถไปลดหย่อนภาษีได้

3. มี “พื้นที่ เริ่มต้นสร้างศิลปินรุ่นใหม่ โอกาสสร้างงาน แสดงงาน มีงบประมาณอุดหนุนในการลงทุนสร้างบุคลากรที่นำไปสู่การสร้าง Soft Power

4. มีพื้นที่ โครงสร้างกลไกการจัดการศิลปะ (Art Eco System) ทุกเขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ศิลปะ เทศกาล พื้นที่อนุรักษ์และย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สมสมัย

5. ให้ “ศิลปะ” เป็นส่วนหนึ่งทั้งในและนอกหลักสูตรการเรียนรู้ของโรงเรียนกว่า 400 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นต้นน้ำการใช้ศิลปะหล่อเลี้ยงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนระดับต่าง ๆ

6. เยาวชน คนุร่นใหม่ควรมีพื้นที่และโอกาสเติบโตจากเมืองที่มีพื้นที่สร้างสรรค์

ด้านผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และทีมนโยบายของผู้สมัคร มีผู้เข้าร่วม 3 คน ได้แก่ รสนา โตสิตระกูล      ผู้สมัครอิสระ, บวรลักษณ์ ทองมาก กลุ่มคนลุยเมือง ผู้แทน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ และ นิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางบอน พรรคก้าวไกล โดยมีความเห็นและนโยบายในการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative city ดังนี้

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ จะนำพื้นที่สำนักงานผู้ว่าฯ กทม. หลังเก่าที่ถนนดินสอมาจัดเป็นพื้นที่ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ หรือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งจะฟื้นเอกลักษณ์เมืองเก่าและชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการกระจายงบฯ ให้เขตละ 1 ล้านบาท โดยพบว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สวยงามจำนวนมากแต่ยังไม่มีชีวิต จำต้องพัฒนาให้ทันสมัย สะดวกและสวยงามยิ่งขึ้น

บวรลักษณ์ ทองมาก กลุ่มคนลุยเมืองดูแลงานด้านพัฒนา ผู้แทน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ บอกว่าจะสนับสนุนให้แต่ละชุมชนดึงอัตลักษณ์สร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนศิลปวัฒนธรรม มีมาตรการทางภาษีดึงดูดเอกชนเจ้าของพื้นที่เก่าให้ความร่วมมือในการทำพื้นที่สร้างสรรค์

นิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางบอน พรรคก้าวไกล จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่ทำธุรกิจสร้างสรรค์ หรือธุรกิจนวัตกรรม มีต้นทุนลดลง และมีโอกาสตั้งตัวได้เร็วขึ้น เช่น ผู้ประกอบการรายใดที่อยู่ในโครงการของ NIA, DEPA และ TCDC โดยมองว่า กทม. สามารถยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและภาษีป้ายในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ พร้อมกับส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ด้วยการจัดงานให้ผู้ประกอบการมีโอกาสพบปะกับนักลงทุนเพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจ

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากเวที Bangkok Active Forum : ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะถูกนำไปรวบรวมกับข้อเสนอจากเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นทั้งหมด 6 เวที เพื่อจัดทำสมุดปกขาวยื่นต่อผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในงานมหกรรมปลุกกรุงเทพฯ ที่ไทยพีบีเอสจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม