ประณาม!! ชายชุดดำทำลายไร่หมุนเวียน ชุมชนห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย

ถือเป็นการละเมิดวัฒนธรรมอย่างรุนแรง เรียกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบหาผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ หวั่นเกิดเหตุซ้ำ ด้านสำนักป่าไม้ที่ 2 แนะ ชาวบ้านแจ้งความดำเนินคดีเอาผิด

วันนี้ (7 มิ.ย.67 ) ตัวแทนชาวชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ สำนักจัดการทรัพย่กรป่าไม้ที่2( เชียงราย ) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ชุดดำเข้าดำเนินการอันเป็นการบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

จากกรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ได้มีกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดหน่วยงาน จำนวน 3 นาย ได้แต่งกายด้วยชุดสีดำ ใช้ผ้าปิดคลุมใบหน้าทั้งหมด พร้อมอาวุธปืนยาว 1 กระบอก ได้เดินทางโดยรถจักรยานยนต์ 2 คัน ผ่านเข้ามาในบริเวณพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้าจ.เชียงราย และกลับออกมาในช่วงเย็นของวันนั้น โดยชุมชนไม่ได้เอะใจสงสัยเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นการเข้ามาลาดตระเวนป่า ซึ่งตรงเช้าเส้นทางในชุมชนเข้า-ออกตามปกติ

กระทั่งในวันถัดมาเมื่อ 5 มิถุนายน 2567 ชาวบ้านได้เข้าไปยังพื้นที่ทำกินแบบไร่หมุนเวียน จนได้พบว่า ข้าวของของชาวบ้านที่อยู่ในกระท่อมในไร่หมุนเวียน อาทิ ถ้วย ชาม กาน้ำ จอบ เสียม ถังน้ำที่ใช้สำรองน้ำ รวมถึงสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในฤดูกาลทำไร่หมุนเวียนนั้นถูกทำลาย รวมทั้งยังพบว่า ถังสำรองน้ำซึ่งตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเพื่อใช้ดับแนวกันไฟตามเส้นแนวกันไฟได้ถูกทำลาย ปล่อยน้ำออกจากถังสำรองน้ำจนหมด

“การกระทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดหน่วยงานได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านห้วยหินลาดในอย่างใหญ่หลวง ทั้งผลกระทบต่อทรัพย์สิน และผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน ถือเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ กระทำเกินกว่าเหตุ และไม่อาจนับว่าชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นการแสดงเจตนาบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ชุมชนโดยปราศจากการแจ้งผู้นำชุมชน และเจตนาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน“ 

ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน ดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนควบคู่กับการดูแลรักษาให้อุดมสมบูรณ์ เรายืนยันว่าวิถีการทำไร่หมุนเวียนและตัวตนของพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอนั้นได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2569 มาตรา 70 และในระหว่างนี้ที่สภาผู้แทนราษฎรและภาคประชาชนกำลังร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร เราเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และไม่ควรเกิดขึ้นมิใช่เพียงในท้องที่การปกครองของท่าน แต่ไม่ควรเกิดขึ้นแม้เพียงสักแห่งเดียวในประเทศไทย

ในนามชาวบ้านห้วยหินลาดใน หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จึงขอยื่นเรื่องร้องเรียนมายังผูว่าราชการจังหวัด เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ดังนี้

1. ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนว่าเกี่ยวข้องกับใคร หน่วยงานใด กระทำไปโดยอ้างอำนาจหน้าที่ใด ตามกฎหมายใด เพื่อจุดประสงค์อะไร ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนทางกฎหมายหรือไม่ โดยการจัดประชุมส่วนราชการในท้องที่ ทั้งฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 รวมถึงชาวบ้านห้วยหินลาดใน ตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งด่วน เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบและให้เกิดมาตรการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

2. ขอให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ภายใน 7 วัน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในสัดส่วนที่เท่ากัน

3. ขอให้เร่งหามาตรการในการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกทำลายทรัพย์สินอย่างน้อย 4 แปลง และถังสำรองน้ำสำหรับดับไฟของชุมชน รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน

หากยังไม่มีความคืบหน้าในระดับพื้นที่ เรายืนยันจะเรียกร้องความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานระดับสูง รวมถึงองค์กรอิสระ และสภาผู้แทนราษฎร ต่อไปโดยเร็วที่สุด เนื่องจากผลกระทบซึ่งเกิดขึ้นแล้วภายหลังชาวบ้านได้หยอดเมล็ดพันธุ์ลงในพื้นที่ไร่หมุนเวียนนั้นไม่อาจรอได้ และใกล้จะถึงช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะได้ประกอบพิธีกรรมตามประเพณี วิถี วัฒนธรรม รวมถึงจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในลำดับต่อไป จึงขอให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในท้องที่โดยเร่งด่วน

ด้าน นายธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า แนะ ให้ชาวบ้านไปแต้งความดำเนินคดีเพื่อหาผู้กระทำผิด 

“เดี่ยวหาว่ายื่นแล้วล่าช้า เจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไร ผมว่าไปแจ้งความเลย หลักฐานมี มีพยาน  สู้กันในระบวนการในชั้นศาลเลย  ถึงมือตำรวจก็ให้สืบสวนสอบสวนหาคนกระทำผิดเลย ใครทำผิดก็รับโทษ ผิดก็ว่าไปตามผิด“ 

ธนชัย จิตนาวณิชย์ 

วิศรุต ศรีจันทร์ กองเลขานุการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( พีมูฟ ) กล่าวว่า เข้าใจเรื่องการตรวจสอบทางนโยบายจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ที่จะมาตรวจสอบพื้นที่อยู่แล้ว แต่ปัญหาจากสิ่งที่เกิดขึ้นมันมากกว่าการเข้ามาตรวจสอบแล้ว ที่ผ่านมาเข้ามาชาวบ้านให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกให้อย่างดี แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่เข้ามาไม่ปกติ ทำลายข้าวของ ทำเกินกว่าเหตุ 

“เป็นสิ่งที่ต้องหาผู้กระทำผิดลงโทษทางวินัย สิ่งที่หวังคือให้หาคนกระทำผิด ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก  อย่างน้อยๆทางวินัย ตักเตือนก็ได้ เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างที่จะทำแบบนี้ซ้ำอีก “

วิศรุต ศรีจันทร์ กองเลขานุการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( พีมูฟ ) 

“เราไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ต้องทำแบบนี้  โดยเฉพาะ การทำลายแทงค์น้ำ ปล่อยน้ำ ที่ชาวบ้านเก็บไว้ และแทงค์น้ำเหล่านี้ ชาวบ้านระดมทุนสร้างหมดเลย  เราเก็บไว้ใช้ในไร่ ไว้ดับไฟป่าได้ทันท่วงที ซึ่งเราช่วยเฝ้าระวังตลอด ทั้งๆที่หน้าที่เราไม่ต่างกันเลย แต่กลับทำกับเราเช่นนี้ “

ตัวแทนชาวบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย

ชี้ กรณีที่เกิดขึ้น เป็นการละเมิดวัฒนธรรมอย่างรุนแรง

สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์  วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ  ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวและผลผลิตกำลังงอกเงยหรือแตกใบ ถือเป็นช่วงที่มีความเปราะบาง  เหมือนคนคลอดใหม่ๆ 2-3 วัน  ตามความเชื่อชาวปกาเกอะญอ คนคลอดใหม่ ๆ มีข้อห้ามคนอื่นเข้าบ้าน ยกเว้นคนในครอบครัว อย่างน้อย 3 วัน เพราะมีความเชื่อว่าขวัญของทั้งแม่และลูกยังอ่อนอยู่ ถ้าคนอื่นเข้ามาเอาขวัญไม่ดีมา จะส่งผลต่อสุขภาพรวมถึงขวัญของเด็กและแม่ ส่วนในเชิงวิทยาศาสตร์  คือ เวลาที่คลอดลูก สุขภาพแม่และเด็กก็อ่อนแอ ต้องมีห้องปลอดเชื้อจำกัดคนเข้าเยี่ยม

“เช่นเดียวกันในไร่ที่กำลังแตกยอดใหม่ๆ เขาห้ามคนและสัตว์เข้าไป  เพราะหากเข้าไปจะทำให้ขวัญข้าวเสีย หรือแตกกระเจิงได้ ซึ่งหากมีคนเข้าไป จะทำให้ข้าวหรือผลผลิตไม่ดี เสียหาย“ 

สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์  

ในส่วนของพื้นที่พิธีกรรม ที่เรียกว่า “จื่อ ลอ มวา ข่อ” ซึ่งก็ถูกทำลาย ตรงนี้เป็นพื้นที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นจุดปักหมุดเรียกฝน จากเทพแห่งฝนในไร่หมุนเวียน โดยมีเสียมที่ปัก คือตัวที่เชื่อมฝนกับดิน  หมายความว่า จนกว่าจะเกี่ยวข้าว จึงจะดึงเสียมออก แต่กลับมาถูกทำลายตอนนี้ เหมือนเป็นการทำลายจุดเชื่อมดินฟ้า ดินกับฝน  ซึ่งหากใครทำลาย ต้องมาทำพิธีขอขมา เพราะหากเกิดเหตุอาเพศ หรือฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลต่อผลผลิตในไร่หมุนเวียน ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ  

“ถ้าไม่มีการขอขมาชุมชนจะไม่สบายใจ ส่งผลต่อจิตใจ จิตวิญญานในการทำไร่ปีนี้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำลายความเชื่อ ทำลายวิถี และละเมิดวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ที่สำคัญไร่หมุนเวียน ยังเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติด้วย“ 


ทั้งนี้ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางวัฒนธรรม และพื้นที่ห้วยหินลาดใน ถูกประกาศเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ หรือพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  หน่วยงานทั้งหมดก็รับรู้ สำนักป่าไม้ที่ 2 และวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ก็รับรู้ดี  พอเกิดกรณีดังกล่าวก็เป็นคำถามใหญ่ ถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองฯ ที่มีระดับนโยบาย อย่างรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ว่ากรรมการชุดนี้ จะมีการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร แล้วการปกป้องคุ้มครองชุมชนจะได้รับการเยียวยายังไง รวมไปถึงชุมชนอื่นๆที่มีความเสี่ยงแบบนี้เช่นกัน จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร เป็นประเด็นที่น่ากังวลมาก 

“เพราะพื้นที่ห้วยหินลาดใน เป็นพื้นที่ได้รับการยอมรับเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรในระดับจังหวัดในเครือข่ายกระเหรี่ยง สภาชนเผ่าฯด้วยกัน หรือในระดับประเทศ ภูมิภาค นานาชาติ  มีปฏิสัมพันธุ์ที่ดีภาครัฐความร่วมมือดับไฟป่า เป็นพื้นที่เรียนรู้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม แต่ยังมีคนกล้าทำลายบุกรุกพื้นที่วัฒนธรรมของเขา ซึ่งถือว่าท้าทาย ไม่ใช่แค่ชุมชนนี้ แต่ท้าทายวัฒนธรรม ศักดิ์ศรีชนเผ่าทั้งหมด“

เรื่องนี้ ถือว่าท้าทายคณะกรรมการเคลื่อนพื้นที่เขตคุ้มครอง ท้าทายระดับนโยบายทั้งคณะ นี่จึงเป็นตัวสะท้อนเหตุผลที่ต้องมีการผลักดัน การคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีกลไกสำคัญ อย่างการเดินหน้ากฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตดลุ่มชาติพันธุ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active