พีมูฟลำปาง จี้รัฐ ดัน ‘โฉนดชุมชน’ แก้ประกาศอุทยานฯทับที่ชุมชน

‘พีมูฟลำปาง’ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ดันแนวทางจัดการที่ดิน ‘โฉนดชุมชน’  เร่งแก้ปัญหาอุทยานฯ เตรียมประกาศทับที่ จี้เปิดทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงใน ‘ไร่หมุนเวียน’ กระจายอำนาจจัดการทรัพยากร  ด้านเลขานุการ รมต. สำนักนายกฯ  เตรียมนำความเห็นชาวบ้านเข้าสู่คณะทำงานโฉนดชุมชน

วันนี้(15 ก.พ. 2566) ธัชชญาณ์ณัช  เจียรธนัทกานนท์  เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริง การดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ในพื้นที่ที่ยื่นคำขอเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนของคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หลังการขับเคลื่อนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565 ว่าด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ รองรับและเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งนี้ ในการประชุมมีผู้แทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง ได้แก่ ชุมชนบ้านกลาง ชุมชนบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ, ชุมชนบ้านขวัญคีรีนอก ชุมชนบ้านขวัญคีรีใน ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา ชุมชนบ้านแม่กวักชุมชนบ้านแม่ฮ่าง อ.งาว, ชุมชนบ้านแม่หมี ชุมชนบ้านแม่ต๋อม อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ในนามเครือข่ายสมาชิกพีมูฟ ร่วมสะท้อนปัญหา พาคณะลงพื้นที่เรียนรู้รูปธรรมการจัดการทรัพยากร และยื่นหนังสือเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำไปพิจารณาในการยกร่างระเบียบในคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว

พีมูฟลำปางชี้ข้อจำกัด คทช. และกฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ

‘พีมูฟลำปาง’ ได้ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ เพื่อขอให้เร่งรัดยกระดับการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชนตามมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน และแก้ไขปัญหาจากพระราชบัญญัติป่าไม้ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562

“การนำเสนอข้อเรียกร้องเช่นนี้ เนื่องจากโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ยังไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชุมชน เต็มไปด้วยข้อจำกัด และเข้าข่ายการละเมิดสิทธิชุมชน เราจึงไม่อาจยอมรับนโยบายของ คทช. ได้ แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ”

ตัวแทนพีมูฟลำปางกล่าว

นอกจากนี้ ชุมชนบ้านกลาง ชุมชนบ้านแม่ส้าน .แม่เมาะ และชุมชนบ้านขวัญคีรีนอก ชุมชนบ้านขวัญคีรีในชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา ชุมชนบ้านแม่กวัก ชุมชนบ้านแม่ฮ่าง .งาว .ลำปาง อยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไททั้งสิ้น 750,310.27 ไร่ ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนดังกล่าว 87,531 ไร่ ส่วนชุมชนบ้านแม่หมี และ บ้านแม่ต๋อม .เมืองปาน .ลำปาง อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หมี ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนมาตลอด โดยเฉพาะหลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เช่น มีการข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เคยบอกว่าเราหากินกับป่าไม่ได้แล้ว จะไปทำไร่หมุนเวียนก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่จำกัดขึ้น

“เขาไม่ให้เราหมุนเวียนพื้นที่ทำไร่ ให้เราทิ้งพื้นที่ไว้ได้แค่ไม่เกิน 1 ปี หรือเงื่อนไขการสำรวจอื่น ๆ ซึ่งดูจะเต็มไปด้วยข้อจำกัด นอกจากนั้นเขาพยายามจะให้เราเข้า คทช. เขาบอกว่าเราจะเข้าไปทำกินได้ พัฒนาสาธารณูปโภคได้ทุกอย่าง ชาวบ้านบางส่วนก็คล้อยตามไป แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เป็นแบบนั้น เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของเราเป็นเพียงการข่มขู่และหลอกลวงเราทั้งนั้น”

อิทธิพลกล่าว
อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หมี ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง 

อิทธิพล ยังระบุว่า พบข้อจำกัดในการ “เก็บหาของป่า” ซึ่งเป็นวิถีชีวิตสำคัญของชุมชนทั้งที่ถูกประกาศอุทยานทับฯ แล้วและกำลังจะถูกประกาศทับ รวมถึงยังมีอุปสรรคตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนพ.ศ. 2562 ที่อาจสร้างข้อจำกัดใหม่ในการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชน ไม่รองรับสิทธิชุมชนตามเจตนารมณ์ที่ภาคประชาชนเรียกร้อง

ยืนยัน ยกระดับ ‘โฉนดชุมชน’ รองรับสิทธิชุมชนปลดล็อกข้อจำกัดกฎหมายป่าไม้

โดยพีมูฟลำปาง ได้ยืนยันข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 3 ประการ ได้แก่ 1. ขอให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน สอดรับในมาตรา 10 (4) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายพื้นที่

2. ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทให้เกิดกระบวนการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตการเตรียมการประกาศ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และพิจารณากันพื้นที่ชุมชนประมาณ 87,531 ไร่ ออกจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

3. ขอให้เร่งรัดประสานงานเพื่อให้พิจารณาชะลอการบังคับใช้ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและสร้างข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทำมาหากิน และอยู่อาศัยกับป่าตามวิถี จนกว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ  “คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562” ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจักแล้วเสร็จ

ห่วงนโยบาย “ห้ามเผา “ ทำลายวิถีไร่หมุนเวียน ดันแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงแยะแยกไฟก่อนห้ามเผา

ประกาศจังหวัดลำปาง เรื่อง ห้ามเผาป่าและพื้นที่โล่ง ยกเว้นพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ที่ประกาศ ณ วันที่ 6 ก.พ. 2566 ให้ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปางงดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง เผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณีในพื้นที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2566 ยกเว้นพื้นที่ตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง แต่ชุมชนก็ยังกังวลเกี่ยวกับการใช้ไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียน

ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ตามปฏิทินไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยง ต้องมีการแผ้วถาง เดือนกุมภาพันธ์ แล้วเผาบริหารจัดการเชื้อเพลิงในเดือน มีนาคม มีการเก็บเศษไม้ที่เผาไม่หมดในเดือนเมษายน  และปลายเดือนเมษายน ชาวบ้านจะเริ่มหยอดข้าวและพืชอาหารอื่นๆเพราะฝนจะเริ่มตกแล้ว ซึ่งหากทำได้ตามปฏิทินฤดูกาลเช่นนี้ จะทำให้ได้ข้าวตามฤดูกาล มีผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้

โดยที่ผ่านมาพบตัวอย่างรูปธรรมผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาจากประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งการประกาศช่วงเวลาห้ามเผา สร้างผลกระทบต่อการใช้ไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียน กล่าวคือ เมื่อมีประกาศให้งดเว้นการเผาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ถึง วันที่ 30 เม.ย. 2566 ทำให้ชุมชนบางส่วนต้องตัดสินใจ “ชิงเผา” ก่อนมาตรการห้ามเผา ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเผา และทำให้การเผาไหม้ไม่ดี กระทบต่อการใช้แรงงานจัดการเชื้อเพลิง ตลอดจนปริมาณปุ๋ยที่ได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตไม่ดีตามไปด้วย

ไร่หมุนเวียน

“พอมีมาตรการห้ามเผามาจำกัดทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปเลย หากเราดึงดันเผาไปก็กังวลว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี เราก็เลยต้องปรับวิถีชีวิต ต้องถางและเผาเร็วขึ้น โดยต้องเผาซึ่งหลายปีที่ผ่านมาผลผลิตเราได้ไม่ดีเท่าเดิม และกระทบกับเรื่องแรงงานของเราที่ต้องออกแรงมากขึ้นในการไปเก็บวัชพืชและเศษไม้ที่เผาไม่ไหม้”

ณัฐนนท์ กล่าว

ขณะที่บางพื้นที่ไม่สามารถจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนที่ชุมชนดูแลได้ อาทิ กรณีชุมชนบ้านกลาง และบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเข้าดำเนินการตามโครงการจัดทำแนวกันไฟและเข้าดับไฟป่าในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 3 (ลำปาง) ได้มีหนังสือถึงประธานกองทุนหมู่บ้าน บ้านดง เรื่อง ขอสอบถามการใช้พื้นที่สำหรับการดำเนินการโครงการชุมชน “โครงการจัดทำแนวกันไฟ บ้านกลาง ม.5” ลงวันที่ 25 พ.ย. 2565 ระบุว่า “…หากท่านประสงค์จะขอเข้าดำเนินการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่า จะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมป่าไม้ก่อน…” แสดงให้เห็นว่า มีการผูกขาดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอยู่ที่หน่วยงานรัฐเท่านั้น แม้ชุมชนบ้านกลางและบ้านแม่ส้านจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนอยู่กับป่าที่สามารถดูแลจัดการป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ณัฐนนท์ ยังย้ำข้อเรียกร้องของชุมชนว่า อยากจะให้ชาวบ้านได้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิม จะได้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้  ไม่มีความวิตกกังวล อยากให้แยกแยะไฟในไร่หมุนเวียนออกมาจากการห้ามเผา เพราะมีระบบจัดการที่ดี ชุมชนก็พยายามควบคุมไม่ให้ไฟเข้าไปในป่าตลอด จึงอยากให้รัฐยกเว้นไร่หมุนเวียนให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ จากตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงความเป็นมาของมาตรการและนโยบายการจัดการฝุ่นควัน PM 2.5 และไฟป่าดังกล่าว 

ซ้าย : สมชาติ รักษ์สองพลู / ขวา : ณัฐนนท์ ลาภมา

ด้านสมชาติ รักษ์สองพลู ชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยังเห็นว่าเป็นการสะท้อนภาพใหญ่ของแนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหน่วยงานรัฐที่ยังผูกขาด ไม่คำนึงถึงความหลากหลายในวิถีชีวิต แต่ชุมชนกลับไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือจัดการทรัพยากร

“เราของบประมาณในการดับไฟป่า ขอเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาสาธารณูปโภค แต่ติดที่กรมป่าไม้ไม่อนุญาต แต่พอป่าไม้อยากทำอะไรก็ทำได้ นี่มันคือความเหลื่อมล้ำ เราอยากจะจัดการป่าได้ แล้วนี่มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ เราดูแลกันด้วยจิตวิญญาณ ไปควบคุมไฟป่า กลางคืนก็ดับ กลางวันก็ไป แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรจากรัฐเลย แม้จะช่วยรัฐจัดการก็ตาม”

สมชาติ กล่าว

แม้จะมีคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้นำปัญหา PM 2.5 และไฟป่าไปเป็นปัญหานำร่องในการสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหา แต่ในทางปฏิบัติในระดับพื้นที่ยังไม่สามารถโอบรับรูปแบบการจัดการทรัพยากรที่แตกต่าง วิถีชีวิตที่หลากหลาย โดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปางในนามผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง มีข้อเรียกร้อง ถึง  วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

1. เปิดให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียน และการใช้ “ไฟจำเป็น” รูปแบบอื่นตามองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของชุมชน ยกเลิกใช้นโยบายที่มุ่งกำจัดไฟโดยไม่แยกแยะ โดยไม่พิจารณาถึงเงื่อนไขสำคัญอื่นตามบริบทที่แตกต่าง และต้องจำแนกการใช้ไฟในพื้นที่ป่าของรัฐ เป็น “ไฟดี” ซึ่งเป็นไฟที่มีการควบคุม และ “ไฟไม่ดี” คือไฟที่ปราศจากการควบคุม รวมถึงทำความเข้าใจ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมเกี่ยวกับระบบการเกษตรแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ ของชุมชนชาติพันธุ์

2. เลิกรวมศูนย์อำนาจรัฐและผูกขาดกลไกการบริหารจัดการ มุ่งกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการสร้างนโยบายการแก้ไขปัญหาที่เป็นฉันทามติร่วมทางสังคมและเป็นธรรม สอดคล้องกับความซับซ้อนของปัญหา ตอบสนองต่อช่วงฤดูวิกฤติผ่านกระบวนการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาที่มีความเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมเงื่อนไขความพร้องทางสังคมทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและหมู่บ้าน บนฐานของการพิจารณาชุดขององค์ความรู้ ระบบฐานข้อมูล ระบบสนับสนุน การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

3. สนับสนุนแผนการจัดการไฟและ PM 2.5 ของชุมชนและ อปท. โดยการสร้างแผนการบูรณาการจัดการไฟป่าเชิงระบบ ที่มาจากฐานศักยภาพและบริบทเฉพาะของชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับสู่แผนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ระบบการสนับสนุนทรัพยากรโดยตรงที่ทันต่อสถานการณ์จากหน่วยงานหลักระดับจังหวัดและระดับประเทศ รวมถึงสนับสนุนการกระจายงบประมาณหรือจัดตั้งกองทุนในด้านการจัดการไฟป่าและ PM 2.5 สู่ชุมชนและ อปท.

พร้อมทั้งย้ำว่า ไม่ได้คัดค้านกฎหมายและนโยบาย แต่กฎหมายและนโยบายต้องแยกแยะ เพื่อวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของคนหลายกลุ่ม

หลายหน่วยงานตอบรับนำข้อมูลความเห็นชาวบ้านสู่ระดับนโยบาย

ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายตนมาในพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะ ซึ่งต้องขอขอบคุณทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดอำเภอ ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่จะนำสู่คณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

“ผมอยากฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ของพี่น้องชาวบ้านและส่วนราชการในพื้นที่ อยากรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอไปที่ส่วนกลาง เช่น กรณีแนวกันไฟ การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าเราไม่สบายใจ คิดว่าเป็นปัญหา เราต้องช่วยกัน รวมถึงเราต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐที่ให้การสนับสนุนชุมชน”

ธัชชญาณ์ณัช
ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ศิริชัย เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้รับมอบหมายให้มารับฟังปัญหา เจตนารมณ์ของ สคทช. มีเจตนารมณ์ที่ดี เป็นไปได้ว่าที่ผ่านมาชุมชนที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากกฎหมาย สคทช. อาจจะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเพื่อให้มีทางออก โดยผ่านทาง คทช. จังหวัดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อยู่แล้ว ให้เกิดการทำงานแก้ปัญหา

“เราจะประสานงาน ติดตาม ขับเคลื่อน อย่างวันนี้ก็ได้ฟังปัญหาของพี่น้อง ได้บันทึกรวบรวมไว้แล้วและจะนำเสนอในระดับนโยบายต่อไป ส่วนแต่ละหน่วยงานนั้นก็ต้องเข้าใจว่ามีกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่มีข้อจำกัดและอาจไม่ได้แก้ไขวันนี้ ซึ่งเราก็จะรวบรวมในเรื่องเทคนิค ข้อจำกัดทางกฎหมายไปนำเสนอต่อไป หลักเกณฑ์ของ คทช. เราอาจไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่ แต่ก็เปิดไว้ในเรื่องของแปลงรวมแบบไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบอื่น ซึ่งคำว่ารูปแบบอื่นเปิดช่องไว้ เราต้องมาคุยกับหน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวกับข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ บางทีเราตัดเสื้อมาแล้วก็ใส่ทั่วประเทศไม่ได้ บริบทของพื้นที่ต่างกันน อยากให้ คทช. จังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อนอีกตัวหนึ่ง”

ศิริชัย กล่าว

ด้าน พีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง ย้ำว่าตนคุ้นเคยกับพื้นที่ตรงนี้ พยายามแก้ปัญหา หลัก ๆ ทุกหน่วยงานมีเจตนาที่จะให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ปัญหาอุทยานฯ ที่นี่หลายสิบปีแล้ว ไม่สามารถประกาศได้ ซึ่งก็เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ที่ต้องรับฟังความคิดเห็น ทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ส่วนเรื่องพื้นที่จิตวิญญาณเป็นเรื่องใหม่ เสนอได้ แต่ตนเป็นระดับปฏิบัติการ ต้องให้ระดับนโยบายรับรู้ ให้ผู้บริหารเข้าใจ

เจตนารมณ์ของกรมอุทยานฯ คือการรักษาพื้นที่ที่ยังคงสภาพเป็นป่า แต่ที่ทำกินที่ซ้อนทับเราจะไม่เอา เราต้องการคุ้มครองพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นของทุก ๆ คน ที่ไม่ใช่แค่ของพี่น้องประชาชน ผืนแผ่นดินนี้มันไม่ใช่แค่ของเราชุมชนเดียว แต่เป็นของคนทั่วประเทศ เราต้องเผื่อใจด้วย ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ยินดีให้เสนอปัญหาอุปสรรคขึ้นมา อะไรที่แก้ในพื้นที่ได้เรายินดี ถ้าแก้ไม่ได้จะเสนอไปทางนโยบายต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active