สัญญาณดี! ควาญฝึก ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ก่อนกลับไทย 2 ก.ค.นี้

ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าฯ ไซเตส ติดตามกระบวนการลำเลียง ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ทางอากาศอย่างใกล้ชิด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะ เลี่ยงใช้ยาซึม หวั่นเกิดผลเสียกับช้าง

ภาพจาก Facebook : NuNa Silpa-archa

วันนี้ (11 มิ.ย.66) เฟซบุ๊ก NuNa Silpa-archa โพสต์คลิปวิดีโอในระหว่างที่ควาญช้าง 2 คน คือ ทรชัยสิทธิ์ ศิริ และ ศุภชัย บุญเกิด จากสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ช่วยควาญเดิมของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ให้อาหาร และช่วยทำความสะอาดโรงเลี้ยง และอาบน้ำช้าง เพื่อทำความคุ้นเคย ที่สวนสัตว์เดฮิวาลา กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา โดยพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ มีการตอบสนองต่อคำสั่งได้ไว คือ เรียกและขานรับทันทีพร้อมส่งเสียงร้อง ซึ่งถ้านับจากวันนี้ควาญทั้ง 2 คน จะมีเวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อฝึกให้พลายศักดิ์สุรินทร์หัดเดินเข้า-ออกกรง และอยู่ในพื้นที่แคบ ซึ่งตามกำหนดจะกลับถึงไทย 2 ก.ค.66 หลังพลัดพรากจากแผ่นดินแม่นานถึง 22 ปี

ส่วนอาการของพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ฟื้นตัวตามลำดับ โดยได้รับการดูแลจากทีมสัตว์แพทย์ไทยและศรีลังกา ซึ่งวันที่ 28 มิ.ย.นี้ จะประเมินความพร้อมครั้งสุดท้ายว่า พร้อมเดินทางกลับไทยหรือไม่

ขณะที่กรงที่กำลังต่ออยู่ในกรุงโคลอมโบนั้น ประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญา ไซเตส เดินทางไปดูความคืบหน้าปลายเดือนนี้ โดยจะมีขนาดพอดีกับพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ใหญ่หรือแคบเกินไป เพื่อไม่ให้ช้างอึดอัดระหว่างเดินทางแต่มีโซ่คล้องขาไว้ให้ขยับได้ 

ภาพจาก Facebook : NuNa Silpa-archa

Thai PBS สอบถามไปยัง น.สพ.วิสิทธิ์ อาศัยธรรมกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า การให้ยาซึมกับช้างจะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะทำ และจะไม่อยู่ในแผนการขนย้าย เพราะเคยเกิดเหตุการณ์วางยาซึมแล้วช้างล้มกลางอากาศมาแล้ว จากแรงกดอากาศที่ส่งผลต่อหัวใจ

“เป็นทางเลือกที่ไม่อยากทำอย่างยิ่ง และก็จะไม่ทำหากไม่จำเป็น จนกว่าจะถึงจุดที่ควบคุมอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าที่จะไปถึงจุดนั้นต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับควาญในการควบคุม และกล่องที่เราใช้เพื่อขนย้ายก็ถูกออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยอย่างที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นต้องในความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างคนและช้าง สื่อถึงกันให้ได้” 

น.สพ.วิสิทธิ์ อาศัยธรรมกุล
ภาพจาก Facebook : NuNa Silpa-archa

สำหรับ พลายศักดิ์สุรินทร์ (Muthu Raja) เป็น 1 ในช้าง 3 เชือก ที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี 2544 โดยรัฐบาลศรีลังกา ได้มอบพลายศักดิ์สุรินทร์ต่อให้แก่วัด Kande Vihara เป็นผู้ดูแล เพื่อเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ต่อมาในเดือน พ.ค.2565 กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแจ้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า องค์การ Rally for Animal Rights & Environment (RARE) ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ค่อนข้างหนัก และพลายศักดิ์สุรินทร์ไม่ได้รับการดูแลที่ดี และควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน

กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการเร่งด่วน และได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ เข้าตรวจสอบ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ไม่ดี จึงได้ร่วมกับคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไทย จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางไปตรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้ง ซึ่งคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่า ควรให้พลายศักดิ์สุรินทร์หยุดการทำงาน และส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังคงติดตามและเร่งรัดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนมีกำหนดกลับไทยในวันที่ 2 ก.ค.66 และจะส่งตัวไปรักษาและดูแลชีวิตบั้นปลายที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

ภาพจาก Facebook : NuNa Silpa-archa

ปัจจุบันมีช้างไทย ที่ออกไปในนามทูตสันถวไมตรี ในประเทศต่าง ๆ รวม 10 เชือก ยังมีชีวิตอยู่ ทางกรมอุทยานฯ จะติดตามสถานภาพของช้างต่างแดนอีกครั้ง แต่คงไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ เนื่องจากช้างเหล่านี้ไปในนามของทูต ส่วนช้าง อีก 2 เชือก ที่อยู่ที่ศรีลังกา คือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ซึ่ง ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาในเรื่องของการดูแลและขอร้องขอให้กลับมาไทย และกรมอุทยานฯ ได้ไปติดตามดูชีวิตความเป็นอยู่แล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active