หวั่น ครม. เบรก พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน – อุ้มหาย

องค์กรสิทธิฯ ครอบครัวผู้เสียหาย ยื่นหนังสือคัดค้าน ชี้กฎหมายผ่านความเห็นชอบสภาฯ แล้ว นายกฯ ต้องเคารพ ย้ำการเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล

วันนี้ (14 ก.พ. 2566) บริเวณทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน นำโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ครอบครัวผู้เสียหาย และผู้สูญหาย โดย สมศักดิ์ ชื่นจิตร และกัญญา ธีรวุฒิ เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้คณะรัฐมนตรีหยุดการพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่จะถึงนี้

พรเพ็ญ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ วาระที่เกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่ได้เป็นวาระเร่งด่วนใด ๆ และกฎหมายนี้อีกไม่ถึง 10 วันจะมีผลบังคับใช้แล้ว การนำเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ออกกฎหมายเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ในเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติทั้ง 2 สภา รับรองกฎหมายฉบับนี้ โดยแทบไม่มีเสียงคัดค้าน ผ่านเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ที่ทำให้สังคมรับรู้ และตระหนักร่วมกันจึงไม่มีเหตุผลที่จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป

“การมีกฎหมายนี้ จะทำให้ทุกคนปลอดภัย จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ไม่สามารถกระทำได้ เป็นบทบาทที่สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยฝ่ายบริหาร (นายกฯ) ไม่มีความชอบธรรมใด ในการให้นักกฎหมายมาเสนอเป็น พ.ร.ก. แล้วมีผลในการยับยั้งใช้กฎหมายฉบับนี้ทันที และหากมีการยุบสภาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ กฎหมายนี้จะถูกฝังในวันวาเลนไทน์…”

ด้าน สมศักดิ์ ชื่นจิตร ครอบครัวผู้เสียหาย กล่าวว่า ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีกฎหมายซ้อมทรมาน โดยลูกชายของตนเอง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ จ.ปราจีนบุรี กระทำทรมาน ใช้ถุงดำครอบหัวลูกชายของตน จนเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ตนต้องการให้กฎหมายนี้ออกมาป้องกัน และป้องปรามเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเมิดประชาชน การเลื่อนบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไป เสมือนการเลื่อนความยุติธรรมของประชาชนออกไป ขอให้ผู้มีอำนาจอย่าได้ขัดขวาง พ.ร.บ. นี้เลย

โดยเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. สมภาศ นิลพันธุ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยในหนังสือได้กล่าวถึงความกังวลของการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ที่จะสร้างความเสียหาย และทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน สำหรับความไม่พร้อมนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ระบุอุปสรรค และข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว สรุปเป็นสามประเด็น ได้แก่

  1. ความไม่พร้อมเรื่องงบประมาณในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวให้กำลังพลเพื่อใช้ปฏิบัติงาน
  2. การเตรียมความพร้อมของบุคลากรซึ่งยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.
  3. ความไม่ชัดเจน หรือคลุมเครือในบทบัญญัติของกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็น มาตรฐานกลาง

โดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และผู้เสียหาย มองว่าการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายนั้น ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเวลา ในการเตรียมกำลังพล และอุปกรณ์ตั้งแต่ เมื่อปี 2564 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่ง ที่ ๑๗๘/๒๕๖๔ เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจคน จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา มาแล้ว ซึ่งการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ยิ่งจะช่วยให้มีการจัดสรรงบประมาณมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งระเบียบภายในของ สตช. ได้ดียิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active