“เพชร” เผยความในใจถึง “แบม” ทำไมถึงตัดสินใจอดอาหาร

เยาวชนคดี 112 คนแรก กล่าวถึงแบมบนเวทีแอมเนสตี้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่าง แต่ก็เคารพการตัดสินใจของเพื่อน ชี้ ผิดที่รัฐใช้อำนาจ ขณะที่ ผู้แทนยูเอ็นห่วงสิทธิชุมนุมเยาวชนไทย งานวิจัยเผยเด็กโดนรัฐรังแกสารพัด 

วันนี้ (8 ม.ค. 2566) ธนกร ภิระบัน (เพชร) นักปกป้องสิทธิมนุยชนเยาวชน อายุ 20 เยาวชนคนแรกที่ถูกดำเนินคดี ม.112 เมื่อปี 2563 กล่าวถึงกรณี ตะวัน-แบม 2 นักกิจกรรมการอดน้ำ อดอาหาร รักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ บนเวที เปิดตัวรายงาน สิทธิเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ส่วนตัวเป็นเพื่อนของแบมที่ร่วมต่อสู้กันมาถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับวิธีบางอย่าง แต่การต่อสู้ในกระบวนการประชาธิปไตยแต่ละคนก็มีแนวทางไม่เหมือนกัน สิ่งที่จะทำได้คือการสนับสนุนเพื่อน เคารพการตัดสินใจ ช่วยกระจายข่าวสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองที่มีผู้ติดตามอยู่จำนวนหนึ่งสุดท้ายแล้วก็เคารพการตัดสินใจเขา และเข้าใจ ที่อดอาหารเพื่อต้องการข้อเรียกร้องสำหรับบางอย่าง 

“หนูไม่ได้มองว่าเขาผิด หนูมองว่ารัฐผิดที่ใช้อำนาจ เพราะแต่ละคนที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ บางคนยังไม่ถูกตัดสินคดี ก็ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างเด็กกลุ่มทะลุแก๊สก็ถูกคุมขังมาเป็นเวลา 300 วัน หนูจึงค่อนข้างเข้าใจแบม และซัปพอร์ตได้เท่าที่จะทำได้ และเคารพการตัดสินใจของทั้งตะวันและแบม โดยเฉพาะแบมหนูเป็นเพื่อนเขามา หนูรู้เลยว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น หนูอยู่เคียงข้างมารู้ว่าเขาสู้มากจริง ๆ” 

เพชร กล่าว

เพชร ยังบอกกว่าอีก บทเรียนที่ได้รับจากการต่อสู้ที่ผ่านมาคือสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องกันตอนนี้ยังต้องเวลานี้ในการเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็รู้สึกเสียเวลากับสิ่งที่ทำไป แต่ก็คิดบวกว่าการไปศาลก็คือการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง และตอนนี้ก็พยายามหาจุดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว กับการออกมาเรียกร้องตามอุดมการณ์ เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่โดนคดี ก็เหมือนกับโดนตัดอนาคต ต้องพยายามมากว่าเพื่อนคนอื่น ๆ 

ด้าน เกลมองต์ วูล ผู้รายงานพิเศษขององค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม บอกว่าสิทธิการชุมนุมชองเยาวชนไทยอยู่ในระดับน่ากังวลโดยเฉพาะระหว่างการชุมนุมของเยาวชนเมื่อปี 2563-2565 พบว่าภาครัฐของไทยนำระเบียบและข้อกฎหมายหลายอย่างมาใช้ต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน ซึ่งระเบียบและข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

“ผมได้ติดต่อกับภาครัฐเพื่อแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กหรือทำให้คนที่เข้าไปประท้วง ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับรัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ ไม่ได้ และยังเรียกร้องสิทธิทางสังคมโดยทั่วไป เช่น เรื่องโควิด-19 ไม่ได้ และมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเมื่อมีเด็กและนักเรียนเข้าไปชุมนุม เราได้เห็นการจับกุมผู้ชุมนุมและใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุม” 

วูล กล่าว

วูล บอกอีกว่า การชุมนุมโดยสงบของเยาวชนเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ เพราะมองว่าเยาวชนเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของสังคม แต่เป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นวิธีที่คนกลุ่มนี้เลือกใช้ เพื่อส่งเสียงไปยังสังคมและเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง 

เด็กสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและประชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นโอกาสให้เด็กมีโอกาสยืนหยัดเพื่อสิทธิตัวเอง ของผู้ใหญ่ และของสังคม เพราะฉะนั้นจึงควรปกป้องสิทธิของเด็กในการเข้าชุมนุมโดยสงบและจัดการชุมนุมโดยสงบ

แอมเนสตี้ เปิดงานวิจัย เด็กโดนรัฐรังแกสารพัด 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดรายงานของแอมเนสตี้ ที่ศึกษาถึงการกดดันหรือกลั่นแกล้งของภาครัฐต่อเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการพูดคุยกับเยาวชน 30 คนที่เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งมีความหลากหลายทั้งเพศวิถี ภูมิลำเนา และชาติพันธุ์ จากหน่วยงานของรัฐ และจากทนายความ โดยมีการตรวจสอบคำบอกเล่าเหล่านี้ผ่านเอกสารของรัฐข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน

รายงานวิจัย พบข้อสรุปว่า 1. ก่อนชุมนุมมีการกดดันทางอ้อมไม่ให้ไปชุมชนผ่านครูและผู้ปกครอง หลังไปชุมนุมมีการคุกคามด้วยการสอดส่อง เฝ้าตามบ้าน ตามโรงเรียน 2. ในระหว่างชุมนุมไม่มีความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องมือและความรุนแรงในการสลายการชุมนุม เคยมีการคุมตัวเยาวชนไม่ให้ไปร่วมชุมนุมที่ ตชด. ซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวน และ 3. ตั้งแต่ปี 2563 เยาวชน 280 คนถูกดำเนินคดีในกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน 

ชนาธิป บอกอีกว่า ไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่กลับมีท่าทีที่สวนทาง จึงมีข้อเสนอว่า 1. รัฐต้องหยุดใช้ยุทธวิธีกดดันคุกคามเยาวชน หยุดใช้ความรุนแรง 2. หยุดดำเนินคดีจาการที่กลุ่มเยาวชนออกมาร่วมชุมชนของ และ 3. ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่กดขี่และควบคุมสิทธิในการชุมนุมประท้วงของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยบอกว่า ปี 2566 แอมเนสตี้ จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองหรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและผู้สมัคร ส.ส. ของหลายพรรค มาแสดงวิสัยทัศน์หรือพูดคุยเพื่อเสนอข้อเสนอด้วย นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและเยาวชนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อดูว่าคนกลุ่มนี้มีข้อเสนอใดบ้าง โดยแอมเนสตี้จะทำงานเป็นตัวกลางเพื่อนำข้อเสนอเหล่านี้ไปให้ถึงภาคการเมืองและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

ที่ผ่านมาการพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลเยาวชนหรือเสรีภาพของประชาชนกลับเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด เช่น การจัดเวทีเสวนาของแอมเนสตี้หลายครั้งที่พบว่าตัวแทนหน่วยงานรัฐเหล่านี้แทบไม่มารับฟังข้อความของภาคประชาสังคมและกลุ่มอื่นเลย มีแต่ตัวแทนของสถานทูตต่าง ๆ ที่ตอบรับอย่างสม่ำเสมอ

ปิยนุช บอกอีกว่า สิ่งที่รัฐทำทั้งการเพิกเฉยต่อเวทีต่าง ๆ และการเดินหน้าดำเนินคดีต่อเยาวชน แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและผู้มีอำนาจในประเทศมองเยาวชนอย่างไร ตนจึงอยากเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดต่อเยาวชน

“ดิฉันขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่อยากทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ และทำให้เรามองผ่านเลยไป คุณก็มีความพยายามที่ทำเกือบสำเร็จ แต่ดิฉันขอแสดงความเสียใจกับรัฐบาลด้วยว่า เราจะไม่ยอมให้มีการลอยนวลพ้นผิด หรือการกระทำต่อเด็กเยี่ยงนี้ต่อไป” 

ปิยนุช กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active