อภิปรายไม่ไว้วางใจ ล้มรัฐบาลได้ ? | บัญชร​ ชวาลศิลป์ และ มนตรี​ จอมพันธ์​

“ระบบรัฐสภา ที่ตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก อภิปรายอย่างไรก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ แม้เหมือนกับลูกฟุตบอล แต่อย่างไรก็แพ้ เราก็ต้องดูว่าเกมของฝ่ายค้าน เขาทุ่ม​ เขาตั้งใจแค่ไหน​”

แม้จะประกาศต่อหน้าที่ประชุม ในสภาผู้แทนราษฎร ว่า “อย่ามายุผม ผมไม่โกรธ” แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่สามของการอภิปราย​ในช่วงบ่าย (18 ก.พ.) ก็เห็นท่าทีของ พลเอก​ ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินออกจากที่ประชุม ด้วยท่าทีน้อยใจ หลังจากชี้แจง ประเด็น นิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่อาจจะเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ กลุ่ม ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน จับกลุ่มคุยกัน ทำให้นายกฯ มองว่าแม้จะพูดไปก็ไร้ซึ่งประโยชน์ ทำให้เดินออกไปจากห้องประชุม​

แต่ในระหว่างที่นายกฯ เดินออกไป ก็มี ส.ส.​ ฝั่งรัฐบาล ลุกขึ้นประท้วง ให้ประธานในที่ประชุมควบคุมการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประธานในที่ประชุมชี้แจงไปว่า​ “การคุมการประชุมให้อยู่ในความเรียบร้อยทำกันได้ แต่เรื่องมารยาทคุมกันไม่ได้” การเดินออกจากห้องประชุมของนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นช็อตไฮไลท์และถูกพูดถึงไม่น้อย

พลเอก บัญชร​ ชวาลศิลป์​ นักคิดนักเขียนเชิงประวัติศาสตร์​ มองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างที่เราคุ้นเคยโดยเฉพาะหลัง ๆ ชัดเจนเลยว่าระบบรัฐสภา ที่ตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก อภิปรายอย่างไรก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ แม้เหมือนกับลูกฟุตบอลแต่อย่างก็แพ้ แต่เราก็ต้องดูว่าเกมของฝ่ายค้านเขาทุ่ม​ เขาตั้งใจแค่ไหน​

“จะเห็นว่าฝ่ายค้านมีความระวังตัวเองขึ้นมาก คราวที่แล้วถูกมองว่ามวยล้มต้มคนดู แต่พอได้ฟังของคุณสุทินทำให้เห็นว่า ทำการบ้านมา​ เปิดแล้วจะมีคนมารับช่วงต่อ แต่ทว่า ความเป็นจริงของการเมืองไทย การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีทางที่จะล้มรัฐบาลได้”

ประวัติศาสตร์​อภิปราย​ไม่ไว้วางใจ​

หากไล่ย้อนตามประวัติศาสตร์การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา จากอดีต ปี 2487 เป็นช่วงที่ จอมพล​ ป.พิบูลสงคราม​ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมี ส.ส.จากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง เพราะ ส.ส. ไม่มีสังกัดพรรคการเมือง ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ไม่มีพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่มีการเมืองนอกรัฐสภา​

ปี​ 2493 ในยุคของรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์​ ก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้​ แต่หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ​ พลเอก เกรียงศักดิ์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขึ้นราคาน้ำมันที่สูงจนกลายเป็นภาระของประชาชนเกินกว่าจะรับมือได้ ก็ถือว่าสะดุดขาตัวเองจึงต้องลาออก

ยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์​ ก็เช่นเดียวกัน การอภิปรายไม่สามารถจะล้มรัฐบาลได้นอกจากการสะดุดขาตัวเองล้ม

จิ๊กซอว์ศึกซักฟอกรัฐบาล คือ อะไร?

ในมุมมอง​ มนตรี​ จอมพันธ์​ สื่อมวลชนอาวุโส​  ให้ความเห็นว่า​ การอภิปรายครั้งนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาพใหญ่ เพราะเมื่อกลไกต่าง ๆ ที่ออกแบบเอาไว้ ไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของรัฐธรรมนูญที่เป็นความคาดหวังของผู้คนว่าอยากจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชน แต่สุดท้ายถ้ามันไม่สามารถไปต่อได้ ทุกอย่างมันก็จะเป็นการผสมผสานและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่อาจจะคาดไม่ถึงก็ได้

ด้าน พลเอก บัญชร​ มองว่า จิ๊กซอว์ไม่มี ​แต่เป็นภาพเหมือนจิ๊กซอว์ที่ไม่มีรอยต่อ และก็ประกอบมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบันเป็นภาพเดียว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเลยให้ความเห็นว่า ไม่มีจิ๊กซอว์


พลเอก บัญชร​ ชวาลศิลป์​ นักคิดนักเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ย้อนรอยศึก #อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในอดีต ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง… เราเรียนรู้อะไร? และ มนตรี​ จอมพันธ์​ สื่อมวลชนอาวุโส ร่วมวิเคราะห์​การเมือง​หลังจากนี้​ พร้อมต่อจิ๊กซอว์ลำดับเหตุการณ์​ที่ต้องขีดเส้นใต้ชัด ๆ ใน #ศึกซักฟอกระลอกใหม่ ไว้ใน Active Talk EP.4 “ย้อนรอยอภิปรายในอดีต ศึกซักฟอก หักเหลี่ยม-เฉือนคม” (18 ก.พ. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS