เริ่มแล้ว! ‘HACK ใจ’ ค้นหานวัตกรรมฮีลใจ ครั้งแรกในไทย

ไทยพีบีเอส-ภาคีเครือข่าย จัดงาน ‘HACK ใจ’ ระดมสมองหน่วยงานรัฐ เอกชน สร้างนวัตกรรม จาก 8 โจทย์สำคัญ สร้างทางเลือกใหม่ เสริมสุขภาวะทางใจ

วันนี้ (29 ก.พ. 67) The Active ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม ‘HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมสุขภาพจิต, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC)

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากโควิด-19 เราพบว่าสังคมไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเยอะขึ้นมาก และไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง แต่คนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกันเพื่อให้เป็น ‘สังคมไทยใจไม่ป่วย’ เช่นเดียวกับ สุทธิพงษ์วสุโสภาผคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เน้นว่า ระบบสุขภาพไม่ใช่เรื่องทางกายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องทางจิต สังคม และปัญญา และไม่ใช่การทำงานกับคนป่วยเท่านั้น แต่ทุกคนในสังคมควรได้รับการดูแลไปพร้อมกัน

ด้าน สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบายสาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่า ปัจจุบัน ไทยมีการออกแบบนโยบายสารณะมา 60-70 ปี แต่ยังมีปัญหาหลายรูปแบบที่ยังแก้ไม่ได้ ต้องมีการ transform นโยบายสาธารณะ หากเป็นเมื่อก่อนอาจเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ตอนนี้เห็นความเป็นไปได้แล้วผ่านกิจกรรมและนวัตกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในขณะที่ กานต์ รามอินทรา หัวหน้าที่มบูรณาการ UNDP Thailand เน้นว่า เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาสุขภาพจิตมาก จิตแพทย์เข้าถึงลำบาก แต่กลับยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้มากพอ และคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต หากไม่รีบแก้ตั้งแต่วันนี้ ประเทศไทยอาจเกิดวิกฤตได้

สุดท้าย รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาาธารณะแห่งประเทศไทย เน้นว่าอยากเป็นสื่อที่ช่วยสร้างความแข็งแรงทางใจให้สังคมตั้งแต่แรก และสร้างเครือข่าย social safety net มากกว่าที่จะเป็นสื่อที่รอรายงานเมื่อเกิดการสลดใจเท่านั้นจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม ‘Hack ใจ’ ในครั้งนี้ โดยในกระบวนการจะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 8 กลุ่ม ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน แต่ละกลุ่มจะได้โจทย์ในหัวข้อที่แตกต่างกัน 

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS)

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ชี้ให้เห็นถึง 8 มิติ ผ่านหัวข้อ ‘What We Hack ?’ ที่เป็นต้นตอแห่งปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย ได้แก่ 

  1. การออกแบบเมือง (Urban Planning) ที่ระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีประชากรหนาแน่นมากขึ้นกว่า 10 ปี ที่แล้ว และมีการย้ายถิ่นฐานทำงานจำนวนมาก โดยมีความหนาแน่นประชากรเฉลี่ยสูงถึง 118.7 คน/ตร.กม. ในขณะที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวใน กทม. เพียงแค่ 7.49 ตร.ม./คน (ข้อมูลปี 2565) ซึ่งน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดนั่นคือ 9 ตร.ม./คน รวมทั้งมีสัดส่วนของห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฟินแลนด์และสหรัฐอเมริกาด้วย

  2. องค์กรแห่งความสุข (Happy Work) พบว่า มีพนักงาน 44% ที่รู้สึกว่าบริษัทที่ตนทำงานอยู่ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ได้เลย และ 1 ใน 3 ของพนักงานบอกว่ารู้สึกไม่สบายใจในการบอกเล่าปัญหาทางสุขภาพจิตของตนให้กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน

  3. Happy e-Work – พบว่า พนักงานทั่วโลกรู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงานแบบ Work from home และนำเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปใช้ในการทำงานมากขึ้นแทน และมี 47% ที่บอกว่ารู้สึกเหนื่อยล้ากับการประชุมออนไลน์ที่เลื่อนลอย ไร้เป้าหมาย

  4. การสื่อสาร (Communication) – จากสถิติพบว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดูคอนเทนต์วิดีโอในอินเทอร์เน็ตสูงถึง 7.25 ชั่วโมง/วัน และมี 79.20% ที่ประสบปัญญาการคุกคามจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์และ SMS โดยประชากรสูงวัยในไทย มีทักษะดิจิตอลอยู่ในระดับพื้นฐานเท่านั้น และยังต้องการการพัฒนา 

  5. บังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcer)  –  ปี 2566 ไทยมีคดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ สูงถึง 17,848 คดี โดยคดีที่ก่อเหตุสูงสุดคือ การทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า และข่มชืน โดยมีดัชนีอาชญากรรมของไทยอยู่ในลำดับที่  7 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  6. ระบบยุติธรรม (Justice System) – เด็กและเยาวชนที่ก่อคดีอาญากว่า 12,000 คดี โดยมีคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกายสูงขึ้นถึง 1,296 คดี และเมื่อตุลาคม 2566 มีเหตุการณ์กราดยิงประชาชนทั่วไปในห้างสรรพสินค้าที่มีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กครั้งแรกในไทย

  7. นวัตกรรม (Innovation) – พบว่า ไทยมีทรัพยากรที่สนับสนุนระบบสุขภาพจิตน้อย ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยจิตเวชพุ่งทะยานขึ้นทุกปี (ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 12.09% และผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้น 16.60%)

  8. Mental Health Insurance  – หรือการประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคจิตเวชที่ยังไม่มีมาก ราคาแพง และคุ้มครองน้อย โดยมีค่าเบี้ยประกันเกือบ 1 แสนบาท/ปี แค่คุ้มครองตลอดชีวิตไม่เกิน 4 แสนบาท

“มิติหลักเหล่านี้เป็นต้นตอของปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนที่ไม่ได้เกิดจากเรื่องใดหรือเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของทุกคนและเกิดขึ้นได้จากหลายมิติ”

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุในหัวข้อ ‘Why We Hack ’ ชี้ให้เห็นว่า จากปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการระดมทีมผู้เชี่ยวชาญ เก็บข้อมูลด้านสุขภาพจิตยาวนานกว่า 7 เดือนจนได้เป็นสิ่งที่เรียกว่าแรงขับเคลื่อน หรือ driving force จนกระทั่งนำไปสู่การศึกษา future study จากการคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า (foresight) จนได้เป็น 5 ภาพอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงดีที่สุด ได้แก่ การระเบิดของความหวาดกลัว (Terror outburst) วิกฤตที่แฝงด้วยโอกาส (Opportunity in adversity) มวลชนผู้โดดเดี่ยว (Packs of lone wolves)สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน (Decentralized mental well-being) และจุดหมายแห่งความสุขประเทศไทย (Land of smiling minds)

“นี่ไม่ใช่การการดูดวงประเทศ แต่เป็นการศึกษอนาคต เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าชีวิตเราจะเดินไปในทิศทางไหน แต่มันมีความเป็นไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะแย่ที่สุดหรือดีที่สุด อยู่ที่เรากำหนดชีวิตเราเอง”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

ขณะที่ ฑิฟฟาณี เชน จาก Thailand Policy Lab ระบุในหัวข้อ ‘How We Hack’ ถึงกระบวนการในการจัดกิจกรรม ว่าจะมีกระบวนการ 5 ขั้นตอนเกิดขึ้น ได้แก่ 1. Persona & Hope & Fear 2. Problem Statement 3. How Might We ? 4. deation Flower 5. Ideation Canvas ตามลำดับ โดยมีเป้าหมาย คือ สามารถหาปัญหาที่แท้จริงออกมาได้ จนนำมาสู่แผนปฏิบัติ และกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ฑิฟฟาณี เชน Thailand Policy Lab

สำหรับกิจกรรม ‘Hack ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 รวมระยะเวลา 3 วัน ด้วยกระบวนการระดมสมองหาไอเดียด้วยรูปแบบ Hackathon เพื่อถอดรหัสนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active