ปิดฉาก ‘HACK ใจ’ ค้นพบ 8 นวัตกรรม ดูแล ปกป้อง ‘สุขภาพจิต’ คนไทย

เน้นเข้าถึงระบบส่งเสริม ป้องกัน ก่อนป่วย อย่างเท่าเทียม Thai PBS และภาคีฯ พร้อมขับเคลื่อนต่อ ไปสู่ระดับนโยบาย

วันนี้ (2 มี.ค.67) เสร็จสิ้นลงไปแล้วกับกิจกรรม ‘HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ ที่ ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) จัดขึ้น

เพื่อเป้าหมายรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต ซึ่งจัดมาตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67

โดยในวันสุดท้ายเป็นการนำเสนอนวัตกรรมส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ผ่านกระบวนการระดมสมองค้นหาไอเดียในรูปแบบ Hackathon ครั้งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 3 วัน จนนำมาสู่ 8 นวัตกรรม ประกอบด้วย

ใจฟู Community – นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย (Innovation)

“เปลี่ยนป้าข้างบ้าน เป็นป้าข้างใจ เปลี่ยนสังคมรอบกาย ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” โมเดลการใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ สร้างสุขภาพใจที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมจาก NIA งบประมาณในการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพใจ รวมถึงการสร้างให้เกิดเครือข่ายเพื่อขยายผลในวงกว้าง โดยมี ใจฟู Creator ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสุขภาพจิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดำเนินงานให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพใจ เช่น การจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป และถ้าสร้างให้เกิดการตระหนักรู้ได้ในวงกว้าง สามารถขอรับทุนจาก NIA  ได้

และระบบที่ 2 คือการดึง influencer เป็นกาวใจในการพูดเรื่องสุขภาพจิต ระบบที่ 3 ใช้บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกนนำสร้างชมรวมส่งเสริมสุขภาพจิต และระบบที่ 4 คือ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการรักษาเป็นแรงบันดาลใจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จนในท้ายที่สุดเกิด ecosystem ที่ดีทางสุขภาพจิต ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยให้ได้

ฟังกันก๊อนนน – องค์กรส่งเสริมความสุข และสุขภาวะทางจิต (Happy Work)

การเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานส่งผลต่อการขาดงาน แต่เนื่องจากองค์กรเป็นพื้นที่ของความแตกต่าง เช่น เพศ เชื้อชาติ จึงจำเป็นต้องแผนงานต้องมีการสร้างแบบประเมินเกณฑ์ ความเครียดของพนักงานในองค์กร โดยในแบบสำรวจระบุว่าปัจจัยอะไรที่เข้าถึงความเครียด เช่น หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน การทำงาน ลักษณะงาน ครอบครัว การเงิน ฯลฯ

เพื่อให้ได้ข้อมูลช่วยในการแก้ปัญหา ในระยะกลางเมื่อได้ข้อมูลพนักงานทั้งหมดจะได้รับการอัพสกิล สร้างหลักสูตรพื้นฐานในการดูแลสุขภาพใจกันและกันฟังกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา และในแผนระยะยาว คือการ สร้างพื้นที่ปลอดภัยพร้อมรับฟังด้วยหัวใจ จนออกมาเป็นนโนบายในการแก้ปัญหา เช่น ที่ปรึกษาด้านการเงินเพื่อลดปัญหาความเครียดจากภาวะทางเศรษฐกิจ

ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง – นวัตกรรมระบบสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด (Justice system)

จากสถิติพบว่า 85% ของเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่กระทำความผิดและได้เข้ากระบวนการฟื้นฟู ภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจฯ สามารถออกไปเรียนหนังสือ ทำงาน ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสามารถ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อีกทั้งการให้เด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมรุนแรงอยู่รวมกัน ในทางวิชาการทำให้บรรยากาศภายในเกิดความหวาดกลัว ทั้งกับตัวเด็ก เจ้าหน้าที่ และสังคม

ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง จะขับเคลื่อนใน 3 ส่วน คือ การฝึกฝนอบรมเจ้าหน้าที่โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการรับฟังเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมรุนแรง, ระยะที่ 2 มีระบบการแก้ไขที่เฉพาะเจาะจงในการดูแลเด็กที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและรุนแรง และระยะสุดท้ายขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่ไม่ใช่แค่เชิงระบบกับบุคลากรอย่างเดียว แต่ไปถึงเชิงโครงสร้างของตัวศูนย์แห่งนี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัย

happy Hub – Digital economy สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต

“คนทำงานสำราญ งานก็สำเร็จ” ใช้นวัตกรรมสร้างพื้นที่ Sandbox เพื่อรวมภาคีฯ สร้าง happy Hub ของคนทำงาน เพื่อเก็บข้อมูลผลสัมฤทธิ์จาการทดลองลดกฎ เพิ่มเกณฑ์ ที่ปิดกั้นอิสระและความสุขของคนทำงานออกไป เพิ่มเกณฑ์เพื่อการันตีมาตรฐานสุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต ผ่านการสนับสนุนจากองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพจิต ขยายขนเกิดเป็นเครือข่ายองค์กร แลกเปลี่ยนรูปแบบการทำงานซึ่งกันและกัน

ท้ายที่สุดองค์กรไม่ได้แข่งขันกันที่มูลค่าของสินค้า แต่แข่งกันที่มูลค่าความสุขของคนทำงานในองค์กร ดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาเอง อัตราการลาออกที่ลดลง ดัชนีความสุขของประเทศจะสูงขึ้นอย่างยั่งยืน

อุ่นใจ เตือนภัยมิจจี้ – พลังของเทคโนโลยีการสื่อสารต่อสุขภาพจิตสังคมไทย  (Communication)

นวัตกรรมป้องกันการถูกหลอกในโลกออนไลน์ จนนำมาสู่ความเครียด ฆ่าตัวตาย โดยมีแกนนำหลักอย่าง AIS ร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ ให้การให้ภูมิคุ้มกัน ระบบแจ้งเตือนเบอร์น่าสงสัยที่โทรเข้ามา ศูนย์กลางในการรับแจ้งคดีความถูกหลอกในออนไลน์ มีระบบให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจ และให้คำแนะนำเรื่องการจัดการการเงินหลังถูกหลอก

รวมถึงการจับมือสถานศึกษาขยายผลการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ทั้งหมดนี้คาดว่าจะทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลการแจ้งความเสียหาย มีผู้แจ้งเหตุมากขึ้นจาก 4 แสนคดีต่อปี มูลค่าความเสียหายลดลงจาก 50,000 กว่าล้านบาท (มากกว่า 5%)  และนักศึกษามีทักษะทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

Hack Jai Insurance – ระบบประกันสุขภาพจิตที่ครอบคลุมสำหรับคนไทย (Insurance)

46.2% ของผู้เข้ารับการรักษาสุขภาพจิต เคยหยุดการรักษากลางคันเหตุเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยกรุงเทพประกันภัยหนึ่งในธุรกิจประกันภัยที่เข้าร่วมการHack ในครั้งนี้ นำเสนอว่า ในอนาคตจะร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าโดยมุ่งหวังให้สังคมช่วยดูแลประคับประคองอย่างยั่งยืน

ขณะที่ไตรมาสที่ 2 บริษัทจะขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันสุขภาพมาตรฐาน โดยเพิ่มการให้บริการตรวจรักษาของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจหรือจิตเวช และไตรมาสที่ 4 บริษัทและภาคีฯ จะมีการให้บริการคำปรึกษาและรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจผ่านระบบ telemedicine Service ซึ่งในระยะแรกสำคัญที่สุดคือการเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตในธุรกิจประกันภัย รู้ความเสี่ยง ปริมาณของผู้คน เป็นฐานข้อมูลเพื่อแบ่งปันให้กับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ในการขยายผลครอบคลุม คุ้มครองระบบสุขภาพจิตคนไทย

Hero Protecter – เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สุขภาพจิตคนไทย (Law Enforcer)

“ข้าราชการตำรวจมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ” ผ่านการใช้นวัตกรรมนำจิตวิทยาเชิงบวกมาปรับใช้  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แผนการปฏิบัติงานระยะสั้น Hero Protecter Club House ที่มีภาคีฯ ด้านสุขภาวะจิต ร่วมจัดกระบวนการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ระบายความรู้สึก ขยายผลโมเดลไปยังตำรวจหน่วยอื่นๆ โดยตัวชี้วัดและการประเมินผล ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความสุขก่อนและหลังการร่วมกิจกรรม และความต่อเนื่องในการเข้าร่วมกิจกรรมระยะแรก

พื้นที่เมืองแห่งความสุข – Smiling Cities

การพัฒนารูปแบบเมืองที่ใช้นวัตกรรมทำให้ผู้คนในเมืองรู้สึก ปลอดภัย ผ่าน urban Data platform ระบบการป้องกันภัยล่วงหน้า ป้องกันภัยพิบัติอุบัติ เหตุอาชญากรรม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในเมืองทั้งกายและจิต

สวยงามน่าอยู่ ออกแบบหลักสูตรคำแนะนำ ในการส่งเสริมเมืองที่คำนึงถึงสุขภาพจิตต้องเป็นอย่างไร เพื่อส่งต่อให้กับ กทม.และอปท. ปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม สร้างให้เกิดเมืองที่รองรับคนทุกกลุ่ม

ส่งเสริมสุขภาพจิต ร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตสร้างพื้นที่บริการสุขภาพจิตส่งเสริม mental Health interacy ให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ และบริการสุขภาพจิตได้อย่างทั่วถึง

โดยระยะสั้น วางแผนสร้างแพลตฟอร์มทดลองพื้นที่นำร่อง ระยะกลาง 3-5 ปี กระจายโหนดขยายเครือข่าย และระยะสุดท้าย 6-10 ปี ขยายผลทุกพื้นที่ในเมือง นำไปสู่การปรับแก้กฎหมาย

ซึ่งตลอดการนำเสนอ ทั้ง 8 ทีม ได้รับคำแนะนำโดย กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, สุวิตา จรัญวงศ์ CEO and Co-Founder Tellscore และกลุ่มเยาวชน INDY CAMP เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดทุกนวัตรรมให้เกิดขึ้นจริงและใช้งานได้อย่างยั่งยืน

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ในฐานะภาคีฯ ร่วมจัดกิจกรรม Hackใจ กล่าวว่า ในฐานะสื่อมวลชน นวัตกรรมที่คิดค้นได้ในครั้งนี้ ช่วยสร้างความมั่นใจว่าเรื่องของสุขภาวะทางจิต มีทางออก มีรูปธรรม เพื่อนำไปสื่อสารให้เกิดผลสะเทือนกับสังคม ซึ่งทั้ง 8 นวัตกรรม ส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจว่าทุกเรื่องมีเจ้าภาพแล้ว

“Hack ใจ ในครั้งนี้ คือการแลกเปลี่ยนงาน หาเจ้าภาพร่วม นั่นคือความสำเร็จที่หนึ่งแล้ว หลายโปรเจคอาจจะเริ่มเดินหน้าได้เลย ซึ่ง Thai PBS จะเกาะติดแน่นอนในฐานะที่เราหยิบทั้ง 8 ประเด็นไปสื่อสารต่อ เพื่อผลักดันต่อในเชิงนโยบาย”

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล

ขณะที่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุภายหลังจบกิจกรรมว่า จะมีการติดตามทั้ง 8 ผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดให้ใช้งานได้จริง มีผู้ร่วมสนับสนุนด้านนวัตกรรม งบประมาณ และนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาวะทางจิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active