8 นวัตกรรมดูแลสุขภาพจิต “HACK ใจ” ครั้งแรกในไทย

The Active – Thai PBS ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและภาคีเครือข่าย เตรียมระดมไอเดียผ่านกิจกรรม “HACK ใจ” แฮกกาธอนเพื่อให้สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไทยพีบีเอส  UNDP Thailand และภาคีเครือข่าย ร่วมมือจัดโครงการ HACK ใจ “เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป้าหมายของการจัดกิจกรรม เพื่อรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต

กิจกรรม HACK ใจ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 ที่ไทยพีบีเอส ในรูปแบบของกิจกรรมแฮกกาธอน ระดมสมองหาไอเดียต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ก่อนนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย 8 กลุ่ม ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตแตกต่างกันไป

  • นวัตกรรม (Innovation) –  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
  • เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) – สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • ระบบยุติธรรม (Justice system) – กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
  • ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Law enforcer) – กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  • การสื่อสาร (Communication) – AIS
  • การออกแบบเมือง (Property & Urban) – ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC)
  • ธุรกิจประกัน (Insurance) – กรุงเทพประกันภัย
  • องค์กรแห่งความสุข (Food) – บาร์บีคิว พลาซ่า

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทั้ง 8 กลุ่ม จะยังมีตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือก เช่น นิสิต นักศึกษาด้านจิตวิทยา ประชาชน และอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีความสนใจด้านการการส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพจิต ซึ่งทั้ง 8 กลุ่ม ภายนอกอาจจะรู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพจิต แต่ถ้าดูจากการดำเนินนโยบายของแต่ละองค์กร ต่างมีความสอดคล้องกับเรื่องสุขภาพจิตของคนในสังคมไทย ซึ่งหลายองค์กรอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องสุขภาพจิต การที่ HACK ใจ ชวนแต่ละกลุ่มมาร่วมกระบวนการแฮกกาธอน เพื่อช่วยเร่งสร้างนวัตกรรมบางอย่างให้เกิดขึ้นเป็นเป็นรูปธรรมในเวลาอันรวดเร็ว

โดยนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอาจไม่ชัดเจนว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ต่อยอดไปในทิศทางไหน แต่การให้ทั้ง 8 กลุ่มได้มาระดมสมองร่วมกัน นำองค์ความรู้ที่มีสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร เกิดเป็นนโยบาย แคมเพน หรือเจตจำนงใหม่ ๆ ที่ไม่เคยถูกสร้างมาก่อน

ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาพจิตจากนี้ต้องเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกคนมีส่วนร่วม และภาครัฐต้องมองว่าการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพจิต เป็นหนึ่งในนโยบาย ไม่ใช่การรอให้ผู้คนเจ็บป่วย เพิ่มศักยภาพในองค์กรที่ทำงาน ซึ่ง HACK ใจ จะพิสูจน์ให้เราจะเห็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์กร ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

จากสถิติช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง รวม 15 คู่สาย ยังไม่เคยว่าง ซึ่งทั้งหมดนี้รองรับได้เพียง 20% ของผู้ที่โทรมาขอรับคำปรึกษาทั้งหมดเท่านั้น

แม้ตัวเลขผู้ใช้บริการสายด่วน 1323 จะลดลง แต่ที่น่าสนใจ คืออัตราของผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษา 70% คือ ผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาด้านอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรัก ความสัมพันธ์ การทำงาน การเรียน โรคทางกาย ถูกกลั่นแกล้ง ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ส่วนที่เหลือ 30% คือ ผู้ป่วยด้านจิตเวช เช่น ผู้ที่กำลังรักษาหรืออยู่ระหว่างรอคิวรักษา  โดยเฉพาะในเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือนแรกที่การขอรับคำปรึกษาพูดคุยเรื่องทั่วไป มากเป็นอันดับ 1 จำนวน 2,038 สาย แซงหน้าปัญหาสุขภาพจิตที่ 1,782 สาย

แต่เมื่อดูจากทิศทางการให้บริการด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนเข้าสู่การรักษา อาจทำให้ที่ผ่านมาผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาถูกดันให้เข้าสู่การรักษาหรือผู้ป่วยในโดยไม่จำเป็น ส่งผลกระทบทั้งค่ารักษา 1,500-2,300 บาทต่อครั้ง รวมถึงภาวะหมดไฟในจิตแพทย์ให้พุ่งสูงขึ้นถึง 5 เท่า สวนทางกับพีระมิดของระบบบริการสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลกที่พบว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นให้คนเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตขั้นพื้นฐานในระดับเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะไปสอดคล้องกับความต้องการของปัญหาที่สูงขึ้น แต่ลงทุนค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณที่ต่ำกว่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active