ข่าวดี! ไทยผลิตสเปรย์พ่นจมูกยับยั้งโควิด-19 สำเร็จ

ขณะที่กรมควบคุมโรคยังชวนฉีดเข็มกระตุ้น แนะฉีดหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้ว 4 เดือนขึ้นไป  ด้าน กรมการแพทย์ ห่วงภาวะลองโควิดในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 นายรังษี ปัดลี รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าภายหลังจากได้รับใบจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้การรับรอง ISO-13485 : 2016  จาก  บริษัท UIC certification service ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับรองประเมินมาตรฐานสากล 

ขณะนี้สามารถ ผลิตนวัตกรรม “สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19” จากความร่วมมือของภาคีทั้ง 5 หน่วยงาน คือ องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ บริษัทไฮไบโอไซ จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งสนับสนุนโดยกรมการแพทย์และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19 ที่องค์การเภสัชกรรมผลิตนั้น คาดว่าจะสามารถผลิตออกสู่ตลาดเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ใน ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศต่อไป 

“เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และเป็นนวัตกรรมสุขภาพในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของคนไทย ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” 

รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม   

นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรมยังความสามารถต่อยอดผลิตเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ในกลุ่มระบบทางเดินหายใจและช่องปากต่อไปในอนาคตอีกด้วย

กรมควบคุมโรค ยังชวนคนไทยฉีดเข็มกระตุ้น 

วันเดียวกัน ที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเห็นชอบทุกคนฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น อย่างน้อยเข็ม 3 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้รับเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่หากติดเชื้อ จะมีอาการหนักและเสียชีวิตได้ โดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลงตามธรรมชาติ จึงแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้ว 4 เดือนขึ้นไป โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจและความจำเป็นอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ 

ประชาชนสามารถไปรับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายวัคซีนไปยังหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด และให้บริการแบบ walk in ทุกจุดฉีดเพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชน เป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

กรมการแพทย์ ห่วงลองโควิดกลุ่มผู้ป่วย NCD

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มีการคาดประมาณว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยประชากรโลกที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น  มีข้อมูลว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดแล้ว จะเหลืออาการที่เรียกว่าอาการเรื้อรัง เกิดได้กับหลายระบบในร่างกาย หรือเรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากสุขภาพหรือโรคประจำตัว โดยเฉพาะคนที่มีความอ้วนและผู้หญิง จะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคโควิดมากกว่า

ด้านนายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่าอาการของลองโควิดจะคล้ายกับอาการของโรค NCD หลายโรค  ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ  โรคทางเดินหายใจอุดตันอุดกั้นเรื้อรัง  โรคที่มีผลต่อจิตใจและระบบประสาท  มีอาการปวดทั่วๆไป  อ่อนแรง  หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ ใจสั่นหรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น การรับรู้ผิดปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ปอดและสมองลดลง รวมถึงไต  ตับ  ตับอ่อน  ม้าม  ต่อมหมวกไตและทางเดินอาหาร  

อาจเกิดเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลหรือหลายอาการรวมกัน เป็นแค่ชั่วคราวหรือระยะเวลานานหรือถาวร ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  สมองล้า  ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ  ภาวะระบบประสาทส่วนปลายถูกทำลายด้วยภูมิคุ้มกันแบบเฉียบพลัน โรคเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อเรื้อรัง  และโรคนอนไม่หลับ ซึ่งต้องปรึกษาและรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง

สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)  โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ความดันมะเร็ง  ทางเดินหายใจอุดตันเรื้อรัง ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ  แพทย์จะรักษาลองโควิดตามอาการเป็นหลัก ดังนั้นหากมีอาการแล้วพบแพทย์โดยเร็วตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้น รักษาได้ทันท่วงทีและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมจากภาวะแทรกซ้อนของลองโควิด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS