ปวดประจำเดือน เป็นเหตุผลให้ลาหยุดเรียนได้

ม.ธรรมศาสตร์ ให้สิทธิ นศ. ผู้มีประจำเดือนและมีอาการจนไม่สามารถเข้าเรียนสามารถใช้สิทธิลาหยุดตามข้อเสนอของสภานักศึกษาได้ โดยไม่กระทบการเรียน

วันที่ 15 พ.ย. 66 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลังฝ่ายวิชาการ กองบริหารงานวิชาการออกบันทึกข้อความ ลงวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องการกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน โดยเนื้อหาระบุว่า

ด้วยสภานักศึกษา ในการประชุมสภานักศึกษาสมัยสามัญ 1 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มธ. ศูนย์รังสิต และระบบออนไลน์ ขอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาข้อเสนอ “เรื่องการกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน”

เนื่องจากพบว่ามีนักศึกษาผู้มีประจำเดือนมีอาการต่างๆ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนวิตกกังวลง่าย มีพฤติกรรมแยกตัวจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ไม่มีสมาธิ ไม่กระตือรือร้น ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงระยะเวลาของการมีประจำเดือน ซึ่งนักศึกษามีความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาในชั้นเรียน แต่ไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนได้เนื่องจากมีอาการดังกล่าว

“จึงขอความร่วมมือคณะ/สถาบัน/วิทยาลัย แจ้งอาจารย์ผู้สอนพิจารณาอนุญาตให้นักศึกษาผู้มีประจำเดือนโดยได้รับผลกระทบจากอาการดังกล่าว สามารถใช้สิทธิลาหยุดตามข้อเสนอของสภานักศึกษาได้ โดยไม่กระทบกับการจัดการเรียนการสอนของชั้นเรียน”

บางประเทศให้สิทธิลาเนื่องจาก “ปวดท้องประจำเดือน”

สิทธิลาหยุดและลางานสำหรับผู้มีประจำเดือน เป็นประเด็นที่ถูกเรียกร้องและให้ความสำคัญในต่างประเทศ  เช่น รัสเซีย ในช่วงปี 1880-1927 ด้วยสำนึกที่จะปกป้องหน้าที่การสืบพันธุ์ของแรงงานหญิง อินโดนีเซีย แรงงานหญิงได้รับการอนุญาตให้ลาปวดประจำเดือนได้เดือนละ 2 วัน ญี่ปุ่น อนุญาตให้แรงงานหญิงลางานเพราะความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนได้ ตั้งแต่ปี 1947 เป็นต้น

18 พ.ค.2565 สเปน เป็นประเทศล่าสุด ที่คณะรัฐมนตรีสเปนเห็นชอบร่างกฎหมายที่จะเปิดทางให้ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงสามารถลางานได้ ด้วยการให้สิทธิแรงงานหญิงสามารถลาจากอาการปวดประจำเดือน 3-5 วัน/เดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์แสดงชัดเจนว่ามีอาการจากการเป็นประจำเดือนจนไม่สามารถทำงานได้

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ ทำให้สเปนกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยรายละเอียดของร่างกฎหมาย คือ ให้ลูกจ้างลางานได้นานเท่าที่ต้องการ เพื่อให้หายจากอาการปวดประจำเดือน แต่ยังได้ค่าตอบแทนอยู่ โดยนายจ้างไม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่เป็นระบบสวัสดิการ (ประกันสังคม) ของภาครัฐ ซึ่งการลาแบบได้เงินนี้จะต้องมีแพทย์รับรองอาการป่วย ว่าจำเป็นต้องลาจริง ๆ เหมือนเวลาลาป่วยเมื่อไม่สบายต่าง ๆ

“กฎหมายนี้ถือเป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาโดยตลอด ผู้หญิงที่ปวดท้องมาก ๆ เวลามีรอบเดือนจะไม่ต้องฝืนไปทำงาน คอยกินยาแก้ปวด หรือต้องหลบซ่อนปิดบังอาการปวดที่จริง ๆ แล้ว สำหรับบางคนรุนแรงจนทำงานไม่ไหว”

รัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียม สเปน

ปวดท้องประจำเดือน อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คุณคิด

อ้างอิงจากบทความสุขภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในกรุงเทพ ระบุว่า ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อยและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น

โดยสาเหตุของการปวดประจำเดือน จะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active