ร่วมสร้างนิยาม “แม่” ในโลกของลูกยุคใหม่ “แม่ที่มีอยู่จริง” ที่ไม่ใช่แค่ผู้ให้กำเนิด

หลังพบข้อมูล เด็กไทยติดอันดับ 3 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กฯ ชื่นชม รร.งดจัดกิจกรรมวันแม่ ชวนทบทวนเงื่อนไขสภาพสังคมบีบให้แม่ยุคใหม่ต้องปรับตัว

12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ของทุกปี ภาพคุ้นตา คือ การจัดกิจกรรมให้คุณแม่และลูกน้อยมานั่งอยู่ด้วยกัน แม้จะเป็นกิจกรรมที่สื่อสารถึงความรักระหว่างแม่ลูก แต่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย เด็กหลายคนอาจไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ การจัดกิจกรรมลักษณะนี้ จึงอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป

The Active คุยกับ “ครูก้า” กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก พบข้อมูลว่า ประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ราวอันดับ 3 ของโลก ที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ การปรับกิจกรรมให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพจิตใจและคุณค่าของเด็กทุกคนจึงมีความสำคัญ เพราะ ปฐมวัย เป็นวัยที่กำลังตกผลึกมุมมองต่าง ๆ ต่อโลกใบนี้ การสร้างความรู้สึก เคารพในตัวเอง เคารพในผู้อื่น ในเชิงคุณค่า ก็เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กเช่นกัน

คุณแม่ อาจจะต้องถามตัวเองว่า ตัวเราเองอยากมีแม่แบบไหน เราก็จะเข้าใจลูกว่า แม่ในฝันของลูกคืออะไร ท้ายที่สุดแล้ว แม่ คือ คนที่มองและเห็นคุณค่าในตัวเขา แต่ทุกวันนี้สังคมพาให้แม่ผลักให้ลูกดีเท่าลูกคนอื่น “หนูยังไม่ดีพอ” โดยไม่ฟังความฝันของลูก

กรองทอง บุญประคอง

“งดกิจกรรมวันแม่” ชวนฉุกคิด! พิธีกรรมทำเพื่อใคร ?

ครูก้า เห็นด้วยกับกระแสชื่นชมในโลกออนไลน์จากปรากฏการณ์ รร.อนุบาลศรีธาตุ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี โพสต์เฟซบุ๊กแจ้ง งดจัดกิจกรรมวันแม่ในปีนี้ เนื่องจากการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้ทางโรงเรียนมีข้อมูลว่า นักเรียนอยู่กับแม่ประมาณ 30 % ทางโรงเรียนคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละครอบครัว ห่วงใยความรู้สึก จึงงดจัดกิจกรรมวันแม่ ปี 2566 และปรับรูปแบบเป็นการทำการ์ดอวยพร เขียนเรียงความและแต่งกลอนวันแม่แทนนั้น แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกของการทบทวนกิจกรรมลักษณะนี้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมในสังคมยุคปัจจุบัน

โดยมองว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและพยายามส่งต่อด้วยความคุ้นชิน ควรมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องคิดทบทวนว่า ในมุมเจตนาดี มีผลข้างเคียงอะไร ทำอะไร เพื่อใคร การงดจัดกิจกรรมครั้งนี้ ผ่านการสำรวจก็ถือว่าเป็นการทำงานที่น่ารักของโรงเรียน ถ้าสำรวจพบเด็กเพียง 1 คน ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ก็ควรหยุดจัดกิจกรรมได้แล้ว ครั้งนี้ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียกระตุกความคิดเรื่องผลข้างเคียง แต่ยังคงรักษาคุณค่าของวันแม่เอาไว้ได้ ขณะที่คุณแม่ก็ไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าไม่ว่างมากิจกรรมวันแม่ การปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

ในความหมายของผู้ใหญ่ กิจกรรมลักษณะนี้ อาจคือการแสดงความรู้จักกตัญญู เลี้ยงลูกมาเหนื่อยให้มีเวลาได้ชื่นใจ แต่ ณ สภาพสังคมครอบครัวปัจจุบันใช่หรือไม่ ผลข้างเคียงได้ไม่คุ้มเสีย ถ้ามีผลข้างเคียงก็ต้องตั้งหลักกันใหม่…หากมีผลข้างเคียงกับเด็กแม้เพียง 1 คน ก็ต้องหยุดทำ โซเชียลมีเดียได้กระตุกความคิดอีกครั้ง ให้เรายังคงรักษาคุณค่าของวันนี้ แต่ไม่ส่งผลกระทบสู่เด็ก”

กรองทอง บุญประคอง

นิยาม “แม่” ในโลกยุคเปลี่ยนผ่าน

ข้อมูลจาก  เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว และ สสส. สำรวจและรีวิวชีวิตแม่ยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ประกอบด้วย

  • แม่ไทย เรียนสูง แต่รายได้ต่ำ จำนวนผู้หญิงไทย ที่เรียนจบระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมีตำแหน่งการงานสูงกว่า รายได้ก็มากกว่าผู้หญิง 11 – 32% สำหรับคนที่เป็นแม่ ซึ่งต้องแบ่งเวลาไปดูแลลูก ช่องว่างรายได้ยิ่งเพิ่มขึ้น
  • แม่ไทย นายจ้างไม่ปลื้ม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ แต่มีรายงานว่า ผู้หญิงยังถูกกดดันให้ออกจากงานทางอ้อม หรือไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์
  • แม่ไทย แท้จริงคือ Super mum  ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน แล้วยังต้องดูแลบ้านและคนในบ้าน ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทน เฉลี่ย 3 ชม./วัน ขณะที่ผู้ชายทำงานบ้านเฉลี่ย 1.5 ชม./วัน 
  • แม่ไทย ไร้ตัวช่วย ศูนย์เด็กเล็กของรัฐ รับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป ก่อนหน้านั้นแม่ต้องหาคนดูแลเพื่อจะกลับไปทำงานได้ ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน มีน้อยกว่า 100 แห่ง
  • แม่ไทย ไกลลูก เมื่อดูแลไม่ได้ ทางออกคือ ส่งลูกกลับบ้านเกิด เด็กไทยอายุต่ำกว่า 17 ปี 25% หรือราว 3 ล้านคน อาศัยกับปู่ย่าตายาย ผลศึกษาพบว่า เด็กใน “ครอบครัวข้ามรุ่น” มีความเครียดสูงกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่
  • แม่ไทย สู่ย่า ยายไทย 90% ของเด็กที่ถูกส่งกลับบ้านเกิด คนดูแลคือ ย่า/ยาย ที่ยังทำงานในภาคเกษตร สุขภาพย่ำแย่ รายได้ไม่เพียงพอ 
  • แม่ไทย ลูกไม่ได้กินนม เด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน แค่ 29% ที่ได้กินนมแม่ล้วน ๆ พอครบกำหนดลาคลอด แม่กลับไปทำงาน การกินนมแม่ก็ยิ่งลดลงอีก
  • แม่ไทย ไม่ได้เลี้ยงแค่ลูก สังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ  60% ของคนดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ก็คือลูก และลูกที่ถูกคาดหวังว่าต้องดูแลผู้สูงอายุ คือ ลูกสาว

จึงมีคำแนะนำจาก ครูก้า ในการรับมือให้แม่ลองถามตัวเองว่า ตัวเราเองอยากมีแม่แบบไหน เราก็จะเข้าใจลูกว่า แม่ในฝันที่ลูกอยากได้ คืออะไร ท้ายที่สุดแล้ว แม่ คือ คนที่มองและเห็นคุณในตัวเขา แต่ทุกวันนี้สังคมพาให้ แม่ผลักให้ลูกดีเท่าลูกคนอื่น ผลักดันตามความฝันของตัวเอง โดยไม่ฟังความฝันของลูก

“แม่มีอยู่จริง” คุณค่าของ “สายใยครอบครัว”

ครูก้า ยังได้หยิบยกความหมาของคำว่า “แม่ที่มีอยู่จริง” คำนิยามจาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ยังคงใช้ในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะ สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยครอบครัวที่หลากหลาย หากดูสัดส่วนของไทยเวลานี้ต้องถือว่าติดอันดับเด็กไทยที่ต้น ๆ ของโลก ดังนั้น การมีแม่ที่ไม่ใช่ในความหมาย “แม่ผู้ให้กำเนิด” จึงค่อนข้างสำคัญ

แม่ที่มีอยู่จริง คือ แม่ที่เข้าใจความรู้สึกของลูกตอบสนองได้อย่างเหมาะสม เข้าใจและรู้สึกอบอุ่นมั่นคงปลอดภัย เป็นใครก็ได้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน เด็กไม่รู้สึกว่า “แม่มีอยู่จริง” ทำไมสถิติเด็กเป็นโรคซึมเศร้ามาก เพราะความผูกพันระหว่างมนุษย์ กับ มนุษย์หายไป ครอบครัวอยู่กันครบ แต่ความสัมพันธ์ไม่สมบูรณ์

กรองทอง บุญประคอง

ครูก้าบอกอีกว่า ต้องไม่ลืมว่า ช่วงปฐมวัย เด็กจะสรุปทุกอย่างตามมุมมองของตัวเอง คนรอบข้าง มุมมองต่อโลกใบนี้ วัยนี้สำคัญในมุมของโรงเรียน จะทำอะไรต้องเข้าใจว่าทำอะไรไปเพื่ออะไร เราอยากให้เด็กรู้สึกว่าเคารพหรือกตัญญู เห็นคุณค่า ได้เป็นผู้รับสิ่งเหล่านี้จากคนเหล่านี้ นำไปสู่การเอาสายตาไปมองคนอื่นในเชิงคุณค่า และจะเจอคุณค่าแท้ของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน 

ยังมีคนอีกมากมายที่ขยายไปถึงการเห็นคุณค่าในตัวเอง เริ่มจับคุณค่าของผู้คนรอบข้างได้ทั้งหมด และอาจจะไปสู่การมองคุณค่า คนเห็นต่างในสังคม เด็กจะมีมุมมมองในเชิงจับคุณค่า แต่หากมีแต่พิธิกรรมอย่างเดียว แต่ไม่ส่งต่อว่าเบื้องหลังความคิดคืออะไร มันก็คือพิธีกรรม ส่งต่อมีทั้งข้อดี และผลข้างเคียง ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active