เด็กไทยเพียง 14% ได้กินนมแม่ครบ 6 เดือน

แพทย์ แนะ เด็กควรกิน “นมแม่” จนถึงอายุ 2 ปี ชี้ ทำให้ทารกได้รับภูมิคุ้มกันโควิด-19 จากแม่ ไม่ป่วยบ่อย เป็นหวัดน้อยกว่าด้าน สธ. ตั้งเป้า ปี 2568 เด็กเกิดใหม่ 50% ได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน

วันนี้ (12 ส.ค. 2565) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ทารกแรกเกิดควรได้รับนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือนจนถึง 2 ปี หรือมากกว่า นมแม่ประกอบไปด้วยสารอาหารและสารชีวภาพหลายชนิด เช่น แอนติบอดีและโปรตีนต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินให้กับทารก นอกจากนี้ยังมีเซลล์ที่มีชีวิตต่าง ๆ รวมทั้งแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของทารกอีกด้วย หากลูกน้อยได้รับนมแม่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสในการเป็นโรคเรื้อรัง เสริมสร้างความรักความอบอุ่น ความผูกพันทางใจ การสัมผัส การมองตา และการโอบกอดลูกน้อย ยังส่งผลต่อด้านพัฒนาการช่วยให้สมองดี  สติปัญญาเฉลียวฉลาด  มีความมั่นคงทางอารมณ์ เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

ด้าน นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังคลอด ควรให้ลูกดูดนมทันทีเพื่อสร้างสายใยความผูกพันและความอบอุ่นระหว่างแม่และลูกน้อย ทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างน้ำนมได้มากและเร็วยิ่งขึ้น เด็กที่กินนมแม่ จะไม่ป่วยบ่อย และพบว่ามีโอกาสท้องเสีย ท้องผูก ระบบทางเดินหายใจอักเสบ เป็นหวัดน้อยกว่า 

“โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในระยะที่ทารกยังไม่สามารถรับวัคซีนโควิดได้นั้น การกินนมแม่ทำให้ทารกได้รับภูมิคุ้มกันโควิดจากแม่ โดยแม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด” 

ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 พบว่า มีทารกไทยเพียง 34% ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียง 14% ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ส่วนทารกที่ได้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยต่อเนื่องถึง 2 ปี มี 15% 

ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุ กระทรวงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2568 ทารก 50% จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลที่มีชื่อเสียงในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS