ร่วมหาทางออก หลังพบเยาวชนถูกไล่ออกจากบ้าน เหตุขัดแย้งการเมือง

แนะดึงสติโดยเปรียบเทียบกับสัญญาณไฟในใจ 3 ระดับ ไฟเขียว ไฟเหลือง และไฟแดง

วันนี้ (24 ต.ค. 2563) เครือข่ายครอบครัว นักกระบวนกรการสื่อสารอย่างสันติ ตัวแทนคุณแม่ สื่อมวลชน และ สสส. ร่วมจัดเสวนา “ทางออก…ครอบครัวไทยในวิกฤตการเมือง

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสองฝ่าย ทั้งมุมพ่อแม่และมุมลูก เกิดการโต้เถียงร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากบ้าน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ หนึ่งในตัวแทนคุณแม่ ระบุว่า เดิมทีตนเองเป็นห่วงในความปลอดภัยของลูกมากกว่า เพราะในครอบครัวคุยเรื่องการเมืองกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีนี้ลูกก็เข้ามาขออนุญาตไปร่วมชุมนุมกับเพื่อนตามปกติ เมื่อเปิดใจรับฟังจึงอนุญาตให้ไป แต่ก็ให้พ่อตามไปเฝ้าดูห่าง ๆ

“ลูกต้องไม่เป็นคำถามปลายปิดกับพ่อแม่ ควรเริ่มบทสนทนาว่า ถ้าหนูจะไปร่วมการชุมนุมจะว่าอย่างไร พ่อแม่เองก็ควรเปิดใจรับฟังด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทุกการตัดสินใจของเขามีเราอยู่เสมอ ท้ายที่สุดคืนนั้นเขากลับมาเล่าให้ฟังว่าเจออะไร รู้สึกอย่างไร ไม่โกหกเรา ทำให้รู้สึกว่าคิดถูกที่ปล่อยให้ลูกได้ไปร่วมการชุมนุมครั้งนั้น มันได้ประสบการณ์ที่ดีทั้งเขาและเรา”

สำหรับกรณีนี้ ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สามารถจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกได้ โดยเฉพาะประเด็นความเห็นต่างทางการเมือง ‘ฐาณิชชา ลิ้มพานิช’ ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติในครอบครัว แต่ไม่ควรใช้วิธีเถียงกันเรื่องของข้อมูล เพราะจะทำให้มีอารมณ์ทั้งสองฝ่าย ต้องทำความเข้าใจว่า ต่างยุคต่างสมัย ต่างมีข้อมูลคนละชุด แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องคำนึงถึงสัมพันธภาพในครอบครัว สุดท้ายแล้วการเมืองจบแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังคงอยู่

หากไม่ไหว อาจต้องหยุดการโต้เถียง และหาตัวกลางที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือหาเพื่อนพูดคุยเพื่อปรับทุกข์ ซึ่งในสื่อสังคมออนไลน์เวลานี้มีค่อนข้างมาก นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรใช้ความรุนแรง ห้ามปราม หรือตัดเงินไปโรงเรียน เพราะเด็กวัยนี้จะเชื่อเพื่อนแล้วจะไม่กลับบ้าน แต่ครอบครัวต้องทำให้เด็กรู้สึกว่ากลับบ้านแล้วปลอดภัย มีใครสักคนที่ไว้ใจ เพราะเด็กยังไม่เข้าใจว่าทำไมไปชุมนุมแล้วไม่ปลอดภัย

ด้าน ‘ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์’ นักกระบวนกรการสื่อสารอย่างสันติ กล่าวว่า การสื่อสารอย่างสันติด้วยหัวใจนั้น ผู้ที่มีวุฒิภาวะมากกว่า ในกรณีนี้อาจจะไม่ใช่พ่อแม่เสมอไป ควรดึงสติโดยเปรียบเทียบกับสัญญาณไฟในใจของเรา 3 ระดับ

ระดับไฟเขียว คือ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ “การยอมรับ” ไม่ได้แปลว่า “เห็นด้วย” บางคนกลัวเสียจุดยืนของตนเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรกลับมาที่พื้นฐานของครอบครัวคือ “ความรัก”

ระดับไฟเหลือง คือ เมื่อเราเริ่มโกรธ ควรหยุดรอ หยุดเพื่อคิดหาทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ซ้ำเติมให้เกิดความรุนแรง

ระดับไฟแดง เป็นระดับอันตราย มีโอกาสเกิดความรุนแรง หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ต้องหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดึงไฟแดงกลับมาที่ไฟเขียว อาจใช้วิธีใช้มือมาจับที่หัวใจ สัมผัสที่หัวใจรู้ตัวว่าโกรธ แล้วกลับมาที่พื้นฐานความรัก จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น

ท่ามกลางความเห็นต่างทางการเมือง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถูกท้าทายว่าจะจับมือผ่านไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ แต่เครือข่ายครอบครัว เห็นตรงกันว่า การที่พ่อแม่และลูกคิดแตกต่างกัน ถือเป็นแบบฝึกหัดที่ดี เพราะอนาคต ก็อาจมีความคิดแตกต่างกันอีก ต้องระมัดระวังการตัดสิน ตีตรา หรือแปะป้าย ว่าอีกฝั่งอยู่ขั้วตรงข้าม ซึ่งอาจทำให้กลไกการเจรจาแบบสันติ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจ และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะท้ายที่สุดการเมืองไม่ใช่เรื่องทั้งหมดของชีวิตที่ต้องแลกมาด้วยสัมพันธภาพภายในครอบครัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน