ผอ.รพ.อุ้มผาง ยอมรับปีนี้ขาดทุนหนักสุดในรอบ 32 ปี

สาเหตุจากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา โรคระบาดไข้มาลาเรีย ทำผู้ป่วยต่างด้าวไร้สัญชาติทะลัก เบิกค่ารักษาไม่ได้ปีงบฯ 65 ติดลบกว่า 40 ล้าน ด้านกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ สธ. เล็งโอนเงินช่วย 20 ล้านบาท แก้วิกฤต 

วันนี้ (9 ส.ค. 2566) The Active  ตรวจสอบระบบสาธารณสุขตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก หลังเกิดสถานการณ์สู้รบที่ยืดเยื้อ และโรคไข้มาลาเรียทำให้โรงพยาบาลชายแดนเสี่ยงมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเพราะต้องรักษากลุ่มคนต่างด้าวโดยตามหลักมนุษยธรรม เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินและสิทธิการรักษาที่รัฐไทยจะเบิกจ่ายได้ 

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก

นายแพทย์ วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก บอกว่า นับตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผางมา 32 ปี ปีนี้พบตัวเลขติดลบจากการรักษากลุ่มต่างด้าว และไร้สัญชาติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา กว่า 40 ล้านบาท นับจากต้นปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565) ถึงเดือนมิ.ย.​ 2566 

โดยสัดส่วนผู้ประป่วยนอกกลุ่มต่างด้าว 25% และผู้ป่วยในกลุ่มต่างด้าว 50%  หรือครึ่งหนึ่งที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ และโรงพยายาลต้องแบกรับได้บริหารจัดการเอง สาเหตุมาจาก 1. สถานการณ์สู้รบตามชายแดนซึ่งฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลอุ้มผางคือ จ. ก่อกะเระ ประเทศเมียนมา  2. เมื่อคนเคลื่อนย้ายไปมาจากภาวะสงครามทำให้โรคระบาด และทีมเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งโรงพยาบาลจ้างชาวกะเหรี่ยงฝั่งเมียนมา เป็นหน่วยตรวจคัดกรอง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จากสถานการณ์สู้รบ และ 3. มีชาวเมียนมาข้ามฝั่งมาคลอดบุตร มากขึ้น 

ประกอบกับ รายได้จากกองทุนค่ารักษาพยาบาลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ ท.99 ปีนี้ ได้รับการจัดสรรน้อยลงกว่าปีก่อนถึง 10 ล้านบาท และได้รับงบฯ รายหัวจากกองทุนบัตรทอง ลดลงอีก 9 ล้านบาท ทำให้เงินหายไปเกือบ 20 ล้านบาท อีกทั้งเงินที่ได้รับบริจาคก็น้อยลง

เมื่อว่าหลายโรงพยาบาลสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นหลังโควิด-19 เพราะเบิกค่ารักษาได้มากขึ้น นายแพทย์ วรวิทย์ บอกว่า โรงพยาบาลอุ้มผางข้ามไปทำ Community Isolation ที่ฝั่งเมียนมา เพื่อป้องกันการระบาดเข้ามาฝั่งไทย แต่แนวทางดังกล่าวไม่สามารถเบิกค่ารักษาโควิดได้ จึงทำให้สภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลทรงตัวและในปีนี้ หลังโควิด-19 ก็มีต่างด้าวเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ยิ่งทำให้ติดลบ 

การแก้ไขปัญหาตอนนี้ต้องหมุนยืมเงินจากกองทุนบริจาคอื่นๆ มาจ่ายค่าดำเนินการภายในโรงพยาบาลไปก่อน ขณะเดียวกันจากการทำหนังสือแจ้งขอความช่วยเหลือไปยัง ปลัด สธ. ผ่าน นายแพทย์ สสจ.ตาก ไปเมื่อต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สธ.​ ตอบรับว่าจะโอนเงินมาช่วย 20 ล้านบาท 

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศัก ผอ.รพ.ท่าสองยาง

ด้าน นายแพทย์ ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยางจ.ตาก ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย – เมียนมาเช่นกัน บอกว่าสถานการณ์การเงินตอนนี้ยังไม่ติดลบเนื่องจากจะพอมีเงินที่ได้รับมาช่วงโควิด-19 ใช้ดำเนินการอยู่ได้ แต่คาดว่าปีงบประมาณหน้าจะติดลบ 10-20 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันแม้ฝั่งตรงข้าม อ.ท่าสองยาง คือเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ไม่ได้มีการสู้รบรุนแรงมากนัก 

แต่สัดส่วนกลุ่มคนต่างด้าวและไร้สัญชาติยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหอผู้ป่วยห้องคลอดเป็นกลุ่มต่างด้าวและไร้สัญชาติถึง 50% ขณะเดียวโรคไข้มาเลเรียระบาดยังเป็นปัญหาหลักที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ประกอบกับหน่วยบริการของรัฐฝั่งประเทศเมียนมาไม่เปิดให้บริการเนื่องจากความขัดแย้งจากการสู้ ทำให้ผู้ป่วยเมียนมาไม่มีทางเลือกนอกจากมารักษาที่ฝั่งไทย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active