นโยบาย UCEP ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ

นักวิจัย เผย ยังพบปัญหาถูกเรียกเก็บเงินและปฏิเสธรับการรักษา โดยเฉพาะ รพ.เอกชน ระดับ Hi-end มองภาวะอาการผู้ป่วยสีแดงเป็นสีเหลือง อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้

วันนี้ (12 ก.ค. 2566) ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้วิจัยโครงการติดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลนโยบาย UCEP สรุปได้ว่าเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทาง ได้ผลดีในระดับหนึ่งและควรเดินหน้าต่อ ซึ่งในการเริ่มต้นนโยบาย UCEP นี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ก่อน ทั้งอัตราจ่ายและวิธีจ่ายเงินชดเชย ซึ่งประเด็นที่ทำให้ รพ.เอกชน รู้สึกพอใจและให้ความร่วมมือ คือการกำหนดหลักเกณฑ์ UCEP จะต้องเป็นอาการระดับสีแดงเท่านั้น รวมถึงการจำกัดช่วงเวลารักษาที่ 72 ชั่วโมง ทำให้ตั้งแต่ปี 2561-2565 การรับรักษาผู้ป่วย UCEP โดย รพ.เอกชน มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งยังส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิสุขภาพ 3 กองทุนลดลง

UCEP
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล 

ทั้งนี้ แม้การดูแลผู้ป่วย UCEP โดย รพ.เอกชน จะดีขึ้น แต่ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเข้ารับบริการ UCEP อยู่ โดยเฉพาะปัญหาถูกเรียกเก็บเงิน และถูกปฏิเสธเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะ รพ.เอกชน ระดับ Hi-end ประกอบกับในภาวะอาการที่ผู้ป่วยเชื่อว่าอยู่ในระดับสีแดง แต่ รพ.แจ้งว่าเป็นสีเหลือง ซึ่งเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่เข้าด้ายเข้าเข็ม ก็ทำให้ญาติตัดสินใจควักเงินจ่ายค่ารักษาเอง 

ศ.นพ.ไพบูลย์  กล่าวต่อว่า ในมุมของนักวิชาการ คนไข้ระดับสีเหลืองมีโอกาสที่อาการจะขยับไปเป็นสีแดงได้ ทั้งจากการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน หรือในจังหวะการประเมินอาการขณะนั้นยังไม่ถึงระดับสีแดง เช่น ตกเลือดในช่องท้องแต่ยังไม่ช็อกก็เป็นสีเหลือง แต่ผ่านไปสักพักมีอาการช็อกก็จะกลายเป็นสีแดง เป็นต้น ดังนั้น เกณฑ์การตัดสินว่าเอาเฉพาะสีแดงก็อาจเป็นช่องโหว่ รวมถึงการจำกัดบริการที่ 72 ชม. ก็อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ 

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า UCEP มีอีกหลายประเด็นที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น ข้อสันนิษฐานที่ว่า การบริการ UCEP ของ รพ.รัฐ ดีแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับแก้ เช่น ค่าตอบแทนของแพทย์และพยาบาลใน รพ.รัฐ ปกติก็อยู่ในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้แรงจูงใจและความทุ่มเทจึงต่ำไปโดยธรรมชาติ และเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องความสมน้ำสมเนื้อในการทำงาน รวมถึงยังมีปัญหาระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของการใช้เงินที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนหรือจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วย UCEP ดังนั้น แม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินให้ รพ.รัฐ ก็ไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้ 

ขณะนี้การนำส่งผู้ป่วยก็ยังเป็นปัญหา พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้ารับการรักษาในแต่ละวัน โดยการนำส่งผ่านระบบสายด่วน 1669 ไม่ถึง 10% ส่วนการส่งรถพยาบาลไปรับคนไข้ที่ควรสอดคล้องกับความรุนแรงของโรค มีสัดส่วนไม่เป็นไปตามที่ควรเป็น เช่น ผู้ป่วยสีแดงถูกนำส่งด้วยรถพยาบาลขั้นสูงประมาณ 80% ซึ่ง 80% นี้อยู่ใน 10% ที่ประสานผ่านระบบของ 1669 ดังนั้นจึงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองได้รับรถที่เหมาะสมกับอาการน้อยลงไปอีก โดยมีตัวเลขแค่ 12%เท่านั้น

“คำถามคือเราจะอุดช่องว่างนี้ได้อย่างไร 10 กว่าปีที่ผ่านมาอาจถูกจำกัดด้วยงบประมาณ ถูกจำกัดในการสร้างแรงจูงใจ หรือหากลไกอื่น เช่น อปท. เข้ามาทำในเรื่องนี้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในระบบ ซึ่งต้องฝากไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” 

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ศ.นพ.ไพบูลย์ บอกอีกว่า ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ต้องมีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ รพ.รัฐ ในการวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาคุณภาพข้อมูล และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล เนื่องจากคนไข้ฉุกเฉินวิกฤตมักไปตั้งต้นที่ รพ.อำเภอ หรือ รพ.ขนาดเล็ก ก่อน แล้วส่งต่อไป รพ.ขนาดใหญ่ หรือถ้ามา รพ.เอกชน เมื่อครบ 72 ชม. ก็ต้องส่งกลับ รพ.ต้นสังกัด ดังนั้น หากเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลได้ ก็จะมีข้อมูลเพียงพอให้กับแพทย์ผู้รักษาในการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active