ดรามา! ‘พระฟิตเนส’ เมื่อเรื่อง ‘สุขภาพ’ ในผ้าเหลือง ถูกตั้งคำถาม

‘ราชบัณฑิต’ ชี้ พระ เณร ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เทียบได้ออกกำลังกาย ย้ำต้องสำรวม ไม่โลดโผน เน้นจุดประสงค์ดูแลสุขภาพ ทำได้ ไม่ขัดธรรมวินัย    

ภาพ : เพจข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

ตามที่ เพจ ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา โพสต์ภาพและข้อความ “สุขภาพพระสงฆ์…!! หลวงพ่อเข้าใจในวิธีชีวิตพระสงฆ์-สามเณร ส่งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นเทรนเนอร์มืออาชีพเพื่อดูแลสุขภาพ และอยู่ในสถานที่มิดชิด…โรคอ้วนและ NCD ไม่มีสักรูปเดียว…by หมอต่าย” เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ทั้งที่มองว่า เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพพระสงฆ์-สามเณร ขณะเดียวกันมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อหลักปฏิบัติของสงฆ์​

วันนี้ (3 ก.ย.65) ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและปรัชญา อธิบายประเด็นนี้กับ The Active ว่า แม้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า และตามหลักพระธรรมวินัย ไม่ได้พูดถึงการห้ามออกกำลังกายอย่างชัดเจน แต่พระพุทธเจ้า ก็อนุญาตให้สงฆ์รักษาสุขภาพ ด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน เช่น สมัยโบราณหากต้องนั่งสมาธินาน ๆ พระสงฆ์เองควรปรับท่าทาง มาใช้วิธีการเดินอย่างมีสติ หรือ เดินจงกรม สับเปลี่ยนกันไป ซึ่งก็อาจมองเป็นการออกกำลังกายได้เช่นกัน

ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

จากนั้นเมื่อพัฒนาการของสังคมเปลี่ยนไป ท่าทางการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในทางพระพุทธศาสนามากขึ้น อย่างที่ผ่านมาพระในประเทศอินเดีย ก็ใช้ท่าทางการฝึกโยคะ มาเป็นตัวช่วยของการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ต้องเป็นท่าโยคะที่ทำได้อย่างสำรวม ไม่โลดโผนเกินไป  

ส่วนในปัจจุบันผู้คนออกกำลังกายกันหลากหลาย ประยุกต์ท่าทางเพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนัก มีอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งการเข้ายิม หรือ ฟิตเนส ถือว่าตอบโจทย์ แต่เมื่อพระสงฆ์ – สามเณร มาเข้าฟิตเนส สังคมจึงเกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มองไปในทางลบ อย่างภาพที่ปรากฏออกมา คือ พระไม่ได้ห่มจีวร มีเฉพาะสบง และอังสะ (เสื้อ) คนก็อาจมองว่าไม่สำรวม ยิ่งไปทำท่าทางออกกำลังกาย ก็อาจดูตรงกันข้ามกับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์​

แต่โลกสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องมองรอบด้านมากขึ้น เพราะถ้าพระไปอยู่ในฟิตเนส ร่วมกันกับคนทั่วไป มีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย ก็อาจไม่เหมาะสม แต่จากภาพที่ปรากฏและข้อความ ก็เน้นย้ำว่าเป็นสถานที่มิดชิด สังเกตว่าไม่มีบุคคลอื่นนอกจากนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ส่วนเรื่องท่าทางการออกกำลังกาย ก็ต้องไม่โลดโผนเกินไป เช่น เดินสายพาน ยกเวท ปั่นจักรยานเบา ๆ ก็ทำได้ ไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัยแต่อย่างใด  

ภาพ : เพจข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

“การกระทำอะไรของพระ แม้การออกกำลังกาย ถ้าเป็นไปเพื่อดูแลสุขภาพ และท่าทางไม่โลดโผน จะไม่มีปัญหาในทางพระธรรมวินัย ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวอิริยาบถ พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้พระ ยืน เดิน นั่ง นอน ไปพร้อม ๆ กับการดูแลสุขภาพ ซึ่งภาพที่ออกมาสังคมก็มีสิทธิคิด วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ควรใช้คำพูดที่เหมาะสม อาจไม่ต้องถึงกับใช้คำเรียกว่าฟิตเนส แต่เรียกว่า สถานที่ดูแลสุขภาพของพระจะดีกว่า ซึ่งยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าออกกำลังกายอย่างสำรวม ไม่ใช้ท่าทางอะไรมากมาย ก็ทำได้ ไม่ใช่ความผิด และไม่ถึงขั้นทำให้ขาดจากความเป็นพระ”  

ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ

งานวิจัยชี้พระสงฆ์ขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพ

ขณะที่ข้อมูลอ้างอิงจาก วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ 9 ฉบับที่ 5 (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2564) ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของพระสงฆ์ในสังคมไทย” (Health Literacy Situation Of Monks in Thai Society)  ระบุว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังไม่รอบรู้ด้านสุขภาพ

จากงานวิจัยพบว่า พระสงฆ์ในกลุ่มตัวอย่าง 65% มีภาวะโภชนาการเกิน โดยพบความรอบรู้ด้านสุขภาพเพียงพอ เพียง 21.2% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

สำหรับ ภาวะโภชนาเกิน อาจส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, หัวใจขาดเลือด และไขมันในเลือดสูง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมอนามัย

ขณะที่ข้อมูลจากรายงานของโรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อปี 2563 พบ 5 อันดับโรคที่ภิกษุ – สามเณร อาพาธ แบ่งเป็น 1. แผนกผู้ป่วยนอก ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเข่าเสื่อม 2. แผนกผู้ป่วยใน ได้แก่ โรคต้อกระจก, โรคต่อมลูกหมาก, โรคเบาหวาน, โรคท้องร่วง, โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active