เสนอตั้ง ‘อาสาสมัครตำรวจพระ’ สอดส่อง ‘ภิกษุ’ ปฏิบัติไม่เหมาะสม

‘สมเกียรติ ศรลัมพ์’ แนะ ใช้โครงสร้างปกครองสงฆ์ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชี้ เจ้าคณะจังหวัด เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย อาญา มอบอำนาจให้ผู้ช่วยซึ่งเป็นฆราวาสเป็นหูเป็นตา 

วันนี้ (6 มี.ค.66)  สมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยมีบทบาทดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยกับ The Active ถึงปรากฏการณ์ข่าวพฤติกรรมพระสงฆ์หย่อนยานในพระธรรมวินัยตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยระบุ ไม่อยากให้เหมารวมใช้คำว่าพระสงฆ์ เพราะบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่แสวงหาธรรมะเรียกว่า ‘อลัชชี’ 

ปัจจุบันไทยมีพระสงฆ์อยู่ราว 200,000 รูป เชื่อว่า ที่มีปัญหามีไม่ถึง 5,000 รูป และสถาบันพระพุทธศาสนา จะอยู่ได้ด้วยองค์ประกอบพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภิกษุ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบพุทธบริษัท 4 เท่านั้น โดยไม่มองว่า พฤติกรรมของพระที่ไม่เหมาะสมจะบั่นทอนศาสนา แต่ก็ยอมรับ ว่า เป็นข้อบกพร่องของศาสนา จะแก้ปัญหานี้คงต้องย้อนกลับไปดูการเข้ามาบวชของบุคคล ซึ่งสมัยก่อนการจะบวชเป็นพระ จะต้องขานนาคได้ จะต้องมาอยู่ที่วัดถือศีลแปด 15 วัน หรือ หนึ่งเดือน ก็จะได้คนที่ตั้งใจจริง ๆ มาบวช แล้วจะช่วยคัดกรองคนมาบวชได้ส่วนหนึ่ง 

สมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์

“อีกสิ่งที่อาจจะละเลยไปคือบทบาทของพระอุปัชฌาย์ ซึ่งมหาเถรสมาคม กำหนดว่าบุคคลใดจะบวชต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน แต่ปัญหาก็คือใช้เวลาตรวจสอบนาน จึงเคยเสนอให้ตรวจสอบผ่านสถานีตำรวจทุกแห่ง ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ขณะเดียวกัน พระที่บวชไม่เกิน 5 ปี จะเรียกว่าพระนวกะ ซึ่งยังต้องอยู่ภายใต้พระอุปัชณาย์(พระพี่เลี้ยง) คอยแนะนำพร่ำเตือน สัทธิวิหาริก (พระที่อยู่ภายใต้การดูแล)” 

อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้ใช้โครงสร้างปกครองของสงฆ์ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวคือเจ้าคณะจังหวัด ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมายอาญา สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่การจะเป็นหูเป็นตาให้นั้นต้องให้ฆราวาสหรือประชาชนเป็น ‘อาสาสมัครพระวินยาธิการ’ (ตำรวจพระ) หรือ เรียกง่าย ๆ ว่า อาสาสมัครตำรวจพระ คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของพระสงฆ์ ในที่สาธารณะ ที่เข้าขายผิดพระธรรมวินัย โดยประชาชนที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครดังกล่าว จะต้องอบรม และได้ใบประกาศนียบัตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ได้ 

สำหรับบทบาทของอาสาสมัครตำรวจพระนั้น สมเกียรติ อธิบายถึงช่วงหนึ่งตอนที่เป็นผู้ช่วยพระสุเมธาธิบดี หรือ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ได้ยกตัวอย่าง เช่น หากพบพระสงฆ์บิณฑบาตในช่วงเวลาสายเกินไป ก็สามารถให้ใบเหลืองว่าการบิณฑบาตในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเป็นโลกะวัชชะ หรือโลกติเตียนได้ และมีลายเซ็นของเจ้าคณะ กทม.กำกับอยู่ หรืออย่างกรณี พบพระเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาสาสมัครตำรวจพระ ก็สามารถจะเข้าไปตักเตือนได้เช่นกัน

“เชื่อว่าหากทำเช่นนี้จะลดปัญหา พระสงฆ์ประพฤติตนไม่เหมาะสมได้ ระดับหนึ่ง” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active