คนภาคเหนือตอนล่าง หวังอยากเห็นภาคการเกษตรยั่งยืน รายได้มั่นคง

เวที Post Election ระดมความเห็นร่วมมองภาพอนาคต อยากเห็นภาคการเกษตรยั่งยืน ช่วยแก้จน ความเหลื่อมล้ำ รายได้มั่นคง สู่คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต หวังพรรคการเมืองที่อาสามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนประชาชน

วันนี้ (2 เม.ย. 66) ที่โรงแรมท็อปแลนด์ อ.เมือง  จ.พิษณุโลก ในเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยไทยพีบีเอส สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และภาคีเครือข่าย โดยเวทีนี้เป็นเวทีสุดท้าย และถือเป็นเวทีที่2 ของภาคเหนือ โซนภาคเหนือตอนล่าง  โดยมีตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชนภาคประชาสังคม เอกชน นักวิชาการ จากหลายพื้นที่ หลายจังหวัด เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 60 คน เพื่อสะท้อนภาพอนาคตที่อยากเห็น ไปสู่ข้อเสนอเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนภาพอนาคตที่อยากเห็นให้เกิดขึ้นจริง

ในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูลภาพรวมพื้นที่ภาคเหนือกับกระแสการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากนักวิชาการในพื้นที่ เพื่อฉายให้เห็นสถานการณ์ประกอบการเลือกฉากอนาคตที่อยากเห็น โดยมีข้อสรุปประเด็นสำคัญของสถานการณ์ และความท้าทายของภาคเหนือ ตามกรอบพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร, การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับภูมินิเวศ, ระบบการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงและฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน

ด้วยบริบทภาคเหนือตอนล่าง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร และประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นฐานการผลิต ทั้ง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ส่งออก แต่เกษตรกรกลับมีหนี้สินมากขึ้น มีความยากจน ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง และพบอัตราการฆ่าตัวตายของคนในภาคเหนือมีสถิติตัวเลขสูง

หนึ่งในตัวแทนภาคเกษตรกร สะท้อนว่า ข้อมูลดังกล่าวที่รวบรวมมา ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะความจน กับการฆ่าตัวตายของคนในพื้นที่ อันดับ 1 อยู่ที่จังหวัดตาก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเพราะปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

“เขาใช้สารเคมีเกษตรกินเพื่อฆ่าตัวตาย เช่นสารพาราควอต และพบกลุ่มเปราะบางชนเผ่าที่ต้องตายผ่อนส่งป่วยเป็นโรคจากการใช้สารเคมีสะสม บางคนขาบวมเป็นแผล และเวลานี้ ที่โรงพยาบาลแม่ระมาด ต้องคิดสูตรยามาแก้เรื่องนี้เฉพาะเลย สถานการณ์น่ากังวล ดังนั้นการจะแก้ปัญหา คือ การสร้างรายได้ ต้องเริ่มที่ฐานประชาชนระบบที่เป็นธรรม ขณะเดียวกันรายได้ที่เข้าไม่ถึง เพราะมันเกิดจากระบบการเป็นพันธสัญญาที่ไม่เคยเป็นจริงแต่จะทำยังไงให้เป็นนโยบายของประเทศมมองคนต้นน้ำคือระบบเกษตร ดังนั้นสิ่งที่จะตอบโจทย์ยกระดับรายได้คือการพัฒนาให้ความสำคัญส่งเสริมเกษตรอินทรีย์“  

 โสภาพรรณ กาสมสัน  ประธานสภาเกษตรกร จ.ตาก 

ตัวแทนส่วนใหญ่ในเวทีสะท้อนตรงกัน ปัญหาภาคการเกษตร เป็นปัญหาองค์รวมเชื่อมโยงประเด็นอื่น ๆ ทั้ง เศรษฐกิจรายได้เมื่อมีหนี้สินยากจน ส่งผลต่อลูกหลานต้องหลุดจากระบบการศึกษา, เกษตรกรมีปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี, ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง  ด้านสังคมที่มีเกษตรกรผู้สูงอายุมากขึ้น วัยแรงงานไม่กลับมาทำการเกษตร เพราะขาดการหนุนเสริม ทั้งกองทุนและนวัตกรรมที่จะสร้างความมั่นคง หรือมองไม่เห็นภาพของการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีจากการภาค 

พวกเขาจึงอยากให้เกิดการแก้ไขปัญหา เปลี่ยนแปลงสู่ภาพอนาคตเกษตรกรรมยั่งยืน เพราะหากแก้ปัญหานี้ได้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงพัฒนาด้านอื่น ๆ ตามมา  ซึ่งข้อเสนอสำคัญ คือการแก้ไขทั้งนโยบายและกฎหมายที่ยังไม่ตอบโจทย์ 

“ถ้าแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ ๆ อย่างเดียว โดยที่รัฐบาล พรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ได้มองในเชิงประเด็นบริบทพื้นที่ เราคิดว่าปัญหาในการแก้มันอาจจะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะว่า เวลาเรามองเกษตรกรรมที่บอก มันไปเกี่ยวหลายเรื่อง ทั้งที่ดินทำกิน มิติสุขภาพ สารเคมีเกษตรทั้งหลาย เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ต้องมองเป็นองค์รวมแก้ที่กฎหมายที่ดิน หรือลักษณะของการเข้าถึงทรัพยากรด้วย “ 

ศศิธร ศิลป์วุฒยา  อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา  คณะโบราณคดี  ม.ศิลปากร
ศศิธร ศิลป์วุฒยา  อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา  คณะโบราณคดี  ม.ศิลปากร

“หลังการเลือกตั้ง อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่สนับสนุนความเข้มแข็งเกษตรกร ในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร จะลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรยังไง ที่สำคัญต้องมีแหล่งเงินทุนถูกให้เกษตรกรเข้าถึง และเราขาดคนรุ่นใหม่ในภาคการเกษตร ให้เข้ามาพัฒนาเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์อย่างไร  และเชื่อมต่อยังไงให้ผู้ประกอบการ กลและเกษตรกรเข้ามาทำงานร่วมกันได้ ถ้ายทอดความรู้ต่อการให้ความเป็นธรรมต่อราคาผลผลิตให้เกิดขึ้น ไปจนถึงการบริหารแหล่งน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ถ้าเศรษฐกิจเกษตรมันดี เศรษฐกิจอย่างอื่นจะตามมาทั้งค้าปลีกค้าส่ง” 

วิรัช ตั้งประดิษฐ์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาหอการค้าภาคเหนือ 
วิรัช ตั้งประดิษฐ์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาหอการค้าภาคเหนือ 

อีกกระบวนการสำคัญ คือการแบ่งกลุ่มร่วมสะท้อนข้อเสนอภาพอนาคตในทุกมิติ  

โดยด้านการศึกษา  เกิดการศึกษาที่ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน หรือสถาบันการศึกษา และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ประชาชน เป็นความรู้สอดคล้องกับอาชีพบริบทพื้นที่ รวมถึงความรู้ใหม่ๆ ทั้ง เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เท่าทันและนำไปต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ได้จริง เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ตามความถนัด สร้างทรัพยากรบุคคลกลับไปพัฒนาพื้นที่ 

ด้านเศรษฐกิจรายได้  ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองสู่เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็ง ท้องถิ่นมีความรู้ด้านการตลาด มีการคมนาคมเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นเกิดโอกาสทางรายได้ที่มากขึ้น 

ด้านสังคม ลดช่องว่างระหว่างวัย คนรุ่นใหม่วัยแรงงาน มีกำลังพอในการดูแลผู้สูงอายุ  ชุมชนเข้มแข็งมีความปลอดภัย สาธารณูปโภคทั่วถึง ปรับตัวตามยุคสมัย รวมตัวกันให้เกิดการพัฒนา 

ด้านสุขภาพ  มีรัฐสวัสดิการ ส่งเสริมการเข้าถึงการดูสุขภาพคนทุกกลุ่ม มีความมั่นคงทางอาหาร ควบคุมการใช้สารเคมี ดูแลสุขภาพจิตลดอัตราฆ่าตัวตาย 

ด้านรัฐ ราชการ ความมั่นคง  กระจายอำนาจ ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ นโยบายงานวิจัยต่าง ๆ มีไว้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ถูกนำไปใช้เอื้อประโยชน์ส่วนตน  รัฐมีธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ 

ด้านสิ่งแวดล้อม  มีสิทธิในทรัพยากร ถูกควบคุมด้วยโครงสร้างที่เป็นธรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะ pm2.5 และภัยแล้ง มีแนวทางแก้ไขชัดเจน มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

ตัวแทนภาคเหนือยังสะท้อนตรงกันว่า โจทย์ของการวางแผนภาพอนาคตเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากนักการเมือง หรือพรรคการเมืองที่อาสามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนประชาชน  ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือและภาพรวมประเทศคงจะถอยหลังและแย่ลงในทุกด้าน และจะเป็นภาระของรัฐในอนาคตมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องมาวางแผนร่วมกัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active