เวทีสะท้อนภาคการเกษตรทนพิษน้ำท่วมไม่ไหว เผชิญปัญหาย้ายถิ่น ที่ดินเปลี่ยนมือ หวังเห็นภาพอนาคตประเทศอีก 10 ปีข้างหน้า ดีขึ้นด้วยการส่งเสริมภาคการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว สร้างชุมชนเข้มแข็ง
วันนี้ (29 มี.ค.) ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชนภาคกลาง-ตะวันตก กำหนดอนาคตประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 57 กลุ่ม ในนามตัวแทนของเครือข่ายที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ หลากหลายช่วงอายุ อาชีพ เพศ และการศึกษา สำหรับวาระสำคัญในพื้นที่มีการสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ภาคกลางเป็นภาพแทนของการพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็กำลังเชิญกับปัญหาหลายเรื่องซึ่งเป็นจุดอ่อนต่อการพัฒนาเช่น ปัญหาการจราจรแออัด ฝุ่นละอองขนาดเล็ก น้ำเสีย ขยะ น้ำท่วม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินพื้นที่การเกษตรลดลงเปลี่ยนมือสู่ทุนใหญ่ ปัญหาเชื่อมต่อโครงข่าย ขาดแรงงานที่มีความสามารถ ประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้น ขณะที่วัยเด็ก วัยแรงงานลดลง รวมถึงสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงของลุ่มแม่น้ำท่าจีน
นาวิน โสภาภูมิ นักวิจัยโครงการ Area needs ฉายภาพสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ของภาคกลาง ว่ามีความหลากหลายของผู้คนและเศรษฐกิจ พึ่งพาการลงทุนต่างชาติและเทคโนโลยี ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่ามากที่สุด พื้นที่การเกษตร ก็มีความหลากหลายในการผลิตซึ่งรับมือกับภัยธรรมชาติได้ เป็นฐานสำคัญภาคบริการเชิงเศรษฐกิจมีมูลค่ารองลงมา แต่ยังอาศัยความหลากหลายทางวัฒนธรรม
“ภาคการเกษตรหลากหลายก็จริงแต่ยังต่ำในภาพรวม มีแรงงานมากแต่สร้างมูลค่าได้ต่ำ ถ้าจะยกระดับภาคนี้ต้องรวมกันเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในภาคการเกษตร”
ด้าน เด่นศิริ ทองนพคุณ สมัชชาสุขภาพนครปฐม บอกว่าพื้นที่อาหารถูกแย่งชิง พื้นที่การเกษตรลดลงเปลี่ยนเป็นความเจริญ ผังเมืองไม่ชัดเจน แม่น้ำท่าจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ พื้นที่เกษตรอยู่ไม่ไหวต้องปรับตัว สินค้าที่ขึ้นชื่อก็กำลังจะหายไปพืชชนิดอื่นมาแทนที่
“คนลุ่มน้ำก็กำลังย้ายถิ่นฐาน มีบ้านเรือนใหม่ รีสอร์ท บ้านเรือนเก่า ๆ เริ่มหายไป เพราะทนน้ำท่วมไม่ไหวผลผลิตไม่เหลือ ยอมขายที่ให้นายทุนที่มาเสนอซื้อ อากาศก็แย่ แม่น้ำท่าจีนช่วงนครปฐมรองรับปัญหาอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการรุกล้ำท่าน้ำจีน สภาวะน้ำท่วมเกี่ยวข้องกับสภาวะโลกรวน”
พิรัลรัตน์ รุจิวพัฒน์ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จ.นครปฐม องค์กรพัฒนาชุมชนบอกว่า การพัฒนาที่มาจากรัฐที่มาส่งต่อให้ชุมชนไม่ทีทางที่จะยั่งยืน ควรทำให้ชุมชนเข้มแข็งสร้างการมีส่วนร่วมควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
“สวัสดิการทั่วถึงเราหมายถึงสวัสดิการที่อยู่ในระดับฐานราก ที่เข้าถึง อยากให้รัฐจัดสรร อยู่ดีมีสุข แต่ตอนนี้พื้นที่เกษตรเปลี่ยนไปหลุดมือของนายทุนมากขึ้น เราจะเป็นครัวโลก แต่ที่ดินแหล่งสร้างอาหารกลายเป็นของนายทุน“
สำหรับข้อมูลทั้งที่เป็นจุดเด่น และจุดด้อยของพื้นที่ ถูกประมวลให้กับผู้ที่เข้าร่วมเวที เพื่อประเมินอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยผู้ร่วมเวทีส่วนใหญ่ เลือกว่า อนาคตของประเทศ จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และมีข้อเสนออยากให้พรรคการเมือง ส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมกับการพัฒนา ที่พวกเขาสามารถกำหนดเองได้ ที่สำคัญคืออยากเห็นสวัสดิการที่ทั่วถึง
ส่วนการแบ่งกลุ่มย่อย ก็มีข้อเสนอในหลายประเด็น เช่น ประเด็นเศรษฐกิจ รายได้ อยากเห็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ สร้างองค์ความรู้เทคโนโลยี เงินทุน กระจายสู่ระดับครัวเรือน / ประเด็นรัฐราชการความมั่นคง อยากเห็นการกระจายอำนาจ ซึ่งเชื่อว่า หากทำเรื่องเหล่านี้ได้ จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้อีกหลายเรื่อง
ด้านการศึกษา อยากเห็นความเท่าเทียมทางการศึกษา / ด้านสุขภาพสาธารณสุข อยากให้เพิ่มหลักประกันสังคมที่เท่าเทียม / ด้านสังคม อยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ และ ประเด็นสิ่งแวดล้อม อยากให้แก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า สภาพอากาศ และแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5