เดือนเมษายนคนเหนือยังไม่มีวันไหนหายใจได้เต็มปอด

นายกฯ สั่ง ก.มหาดไทย สาธารณสุข บริหารสถานการณ์ดูแลประชาชนในพื้นที่ ขณะที่กรมการแพทย์ เผยผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดภาคเหนือรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 คน หรือวันละ 7 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยปีละ 1,800 คน หรือวันละ 5 คน ระบุ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง ลุ้นเมษายนฝนตก

วันนี้ (9 เม.ย.67) ทีมข่าว The Active ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่วันที่16 มีนาคม -9 เมษายน 2567 พบว่าคุณภาพอากาศย้อนหลังและปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง หลายจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐานนาน 20 วัน อยู่ในระดับสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา พบว่า คนภาคเหนือต้องอยู่กับปริมาณฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐานทุกวัน ยกเว้น ต.น้ำรึม อำเภอเมือง จังหวัดตากเท่านั้น ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ปริมาณฝุ่นPm2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงช่วงสัปดาห์ที่แล้ว บางวันสูงไปถึง 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่วันนี้อำเภอเชียงดาว สูงที่สุดอยู่ในระดับ 151.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เมษายน

จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างหนัก โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งปอดในภาคเหนือ พบว่า ภาคเหนือมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น ๆ จากหลายปัจจัยสาเหตุ

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในภาคเหนือ โดยพบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น ๆ กล่าวคือ ภาคเหนือพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 คนต่อปี หรือประมาณวันละ 7 คน และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยปีละ 1,800 คนต่อปี หรือประมาณวันละ 5 คน โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดที่สูงในภาคเหนือมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญหลายประการ

พ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกันทั้งพันธุกรรม หรือ การได้รับสารก่อมะเร็งต่าง ๆ ปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคมะเร็งปอดที่สำคัญ เกิดจากการสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือสอง นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ การสัมผัสก๊าซเรดอน การสัมผัสแร่ใยหิน การสัมผัสรังสี ควันธูป และมลภาวะทางอากาศต่างๆ ซึ่งฝุ่น pm 2.5 จัดอยู่ในส่วนนี้ โดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) ได้กำหนดให้มลภาวะทางอากาศเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 หมายถึงมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง นอกจากนี้มีการศึกษาหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วยกับการสัมผัส PM2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดร้อยละ 40 เทียบกับประชากรทั่วไป

“ที่กล่าวมาสรุปได้ว่า PM 2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งในการเกิดมะเร็งปอดไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียว และในปัจจุบันยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างเจาะจงว่าในผู้ป่วยคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งปอดนั้น เป็นจากสาเหตุใด เนื่องจากกระบวนการเกิดโรคมะเร็งมีหลายกระบวนการเกิดได้จากหลายปัจจัย การรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด โดยที่สำคัญที่สุดยังเป็นเรื่องของการรณรงค์การหยุดสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือสอง การหลีกเลี่ยงการก่อมลภาวะทางอากาศ เช่น ควันธูป และมลภาวะต่าง ๆ หากต้องอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยสูงควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน เช่น หน้ากาก N95 หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดิน หายใจ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว”

พ.วีรวัต อุครานันท์

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ผ่าน X (Twiter) @Thavisin เมื่อวันที่ 8 เมษายน ว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจเรื่องฝุ่น พยายามอย่างเต็มที่ ทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วและยั่งยืนที่สุด โดยชี้ว่า ทราบดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ได้ขอให้ รมว.สาธารณสุข รมช.มหาดไทย ไปช่วยบริหารสถานการณ์และสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ตามที่จังหวัดได้ออกมาตรการทางสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ ในภาวะ PM 2.5 มาตรการด้านสุขภาพ จังหวัดได้เตรียมการเรื่องห้องปลอดฝุ่น การจัดหาหน้ากากอนามัย และได้เน้นย้ำให้ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ รวมทั้งให้วางมาตรการเพื่อตรวจความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด

ส่วนเรื่องไฟป่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้ทุกมาตรการเพื่อป้องกันการเผาป่า และไฟป่า ใช้เครื่องบินฝนหลวงบรรเทาสถานการณ์ ใช้มาตรการด้านอาชีพ และการตั้งรางวัลนำจับผู้เผาป่า แต่ก็ยังพบการเผา ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการในการดับไฟอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ยังมีปัญหาการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้อำเภอชายแดนมีค่า PM 2.5 สูงมาก นี่คือปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลต้องขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ฝากพี่น้องประชาชนทุกท่านช่วยดูแลพื้นที่ของท่านเอง หากพบการเผา หรือพบไฟไหม้ป่า ช่วยแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออำเภอเพื่อเข้าระงับสถานการณ์โดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active