อธิบดีกรมโรงงานฯ เล็งแก้ กม.-ขยายอายุความ ล้อมคอก ‘โรงงานขยะพิษ’

เตรียมของบฯ 68 กว่า 30 ล้าน แก้ปัญหาวินโพรเสส พร้อมแก้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษ ขยายอายุความ เอาผิดโรงงานผู้ก่อมลพิษ ขณะที่ ภาคประชาชน วอน ตัดไฟต้นลม ฟังเสียงชาวบ้านก่อนอนุญาตโรงงาน

วันนี้ (20 พ.ค. 67) มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดเวทีเสวนา ทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา : ภาพสะท้อนปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายของไทย ซึ่งเป็นการเสวนาที่ครอบคลุมกรณีโรงงานกำจัดขยะรวม 6 พื้นที่ ในประเทศไทย

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงรายละเอียดในการเข้าดำเนินการกรณี บริษัท วิน โพรเสสฯ ว่า มีเรื่องร้องเรียนมีมาตั้งแต่ปี 2554 และกรมโรงงานฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ช่วงปี 2556 ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ขุดดิน เพื่อมาวิเคราะห์ ช่วงนี้มีการท้าทายว่ามีการฝังกลบจริงหรือไม่ ก็พบว่าเจอกากใต้ดินจริง

จุลพงษ์ เปิดเผยว่า ใบอนุญาตของ บริษัท วิน โพรเสส มีทั้งหมด 4 ใบ ที่ อ.บางบุตร 3 ใบ ซึ่งสิ้นสภาพไปแล้ว และอยู่ที่ ถ.โขดหิน ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง 1 ใบ ยังอยู่ ซึ่งใบอนุญาตทั้งหมดกรมโรงงานไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่มีจังหวัดด้วย บริษัทนี้ ได้รับ ใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย ปี 2557 รวม 3  ใบ ปี 2558 2 ใบ ปี 2559 4 ใบ ปี 2560 4 ใบ ทั้งหมดนี้ออกจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง หลายคนอาจจะมีความสงสัยว่าสะสมได้อย่างไร เพราะไม่ใช่โรงงาน แต่เป็นใบอนุญาตครอบครองเฉพาะกลุ่มน้ำมันที่ใช้แล้ว และเมื่อปี 2564 ศาลมีคำพิพากษา จากกการแจ้งความครอบครองวัตถุอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลตัดสินจำคุกจำเลย คือ บริษัทวินโพรเสส และ กรรมการผู้จัดการ ซึ่งขณะนั้นคือ วิชชุดา ไกรพงษ์ ให้รองการลงโทษ 2 ปี  มีเงินวางศาลประมาณ 10 ล้านบาท

“ในรายะเอียดก็ค่อนข้างแปลกใจ คือในคำตัดสิน ให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการกำจัดของเสีย โดยให้กรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดคอยกำกับดูแล เรื่องก็ดำเนินจนกระทั่เวลาผ่านไปเป็นปี 2564 ปี 2565 เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ผมมาเป็นอธิบดี ตกลงยังเลือกผู้กำจัดไม่ได้เลย ก็เชิญเข้ามาที่กรม เพราะบริษัทที่เสนอมากำจัดได้ไม่หมด เรียกมา 4 บริษัทที่คิดว่าทำได้ สุดท้ายก็เป็น บริษัท เอส เค เริ่มดำเนินการเอาของไปกำจัด แต่ช่วงนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะมาก ผมลงพื้นที่เห็นสภาพแล้วว่า ของเสียที่ศาลจังหวัดระยองให้กำจัดอยู่ในอาคารอย่างเดียว แต่มีน้ำเสียที่เป็นกรดอยู่ในบ่อที่ไม่อยู่ในคำสั่งศาล และชาวบ้าน บอกว่า เวลาฝนตกของเสียเหล่านี้จะไหลเข้าพื้นที่ชุมชนหนองพะวา” 

จุลพงษ์ ทวีศรี
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จุลพงษ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่ไปพบจากการลงพื้นที่ ได้แถลงต่อศาลว่า สารเคมีที่เป็นกากของแข็งที่ไม่ได้เคลื่อนที่ได้โดยง่ายให้พักไว้ก่อน และขอขนย้ายของเสียที่เป็นก่อนประมาณ 20,000 คิว ก็ดำเนินการไป แต่ว่าก็ไม่ราบรื่น เพราะว่า ศาลให้จำเลยเข้าไปดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ เขาเข้าออกพื้นที่ตลอดเวลา และไปคัดแยกของเสียเอง กระทั่งสิ้นสุดระยะเวลาตามกำหนดคำสั่งศาล ก็ยังไม่เรียบร้อย จึงติดต่ออัยการ เพื่อขออำนาจศาลให้กรมอุตสาหกรรมฯ แบ่งมาดำเนินการได้หรือไม่ พอเกิดเหตุไฟไหม้ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงติดต่ออัยการอีกครั้ง ศาลจังหวัดระยองได้ให้เข้าชี้แจงเมื่อ 7 พ.ค. 2567 ศาลมีคำสั่งให้กรมโรงงานดำเนินการทำแผนงานต่อศาล และศาลจะโอนเงินจำนวน 4.9 ล้านบาทให้กรมโรงงานดำเนินการโดยวิธีของราชการ 

“ทีนี้พอไฟไหม้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ของที่แย่อยู่แล้ว พอไหม้ ก็หนักกว่าเดิม เป็นเหตุที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านเจอกลิ่นหนัก มีของเสียบางอย่างที่เป็นไอสารเคมีออกมา มีแอมโมเนียส่วนหนึ่ง มีไฮโดรคาร์บอน ก็ได้ยื่นแผนไปเมื่อ 17 พ.ค. หลังจากลงไปสำรวจใหม่ทั้งหมด เขียนส่งอัยการเพื่อส่งศาล โอนเงินมาให้”

จุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานฯ บอกอีกว่า เหตุไฟไหม้ผ่านมาเกือบ 1 เดือน ได้ลงพื้นที่ พบกับชาวบ้านพร้อมกับผู้ว่าฯ ระยอง และเชิญบริษัทที่มีศักยภาพสูงในการกำจัดกาก 4 ราย เมื่อ 17 พ.ค. โดยเน้นการจัดการกับ อลูมิเนียมดรอส เพราะเมื่อโดนน้ำ ปฏิกิริยาทางเคมี จะปล่อยก๊าซแอมโมเนีย กับไฮโดรเจนออกมา ยิ่งฉีดน้ำ ยิ่งไฟลุก จนถึงตอนนี้ยังเกิดไอ ทำให้เกิดกลิ่น เพราะหากได้รับในปริมาณที่สูงจะทำให้แสบตา ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ก็ได้ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่มาช่วยชาวบ้านก่อน โดยมีทั้ง 2 ส่วน คือ 1. กากตะกอน “กรดกัดแก้ว” 400 ตัน (ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบจากเอกสารที่อายัดว่านำมาจากไหน) ถ้าคนมีความรู้จะสามารถเปลี่ยนกรดกัดแก้วเป็น “แคลเซียมฟลูออไรด์” เพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนตัวละลายโรงงานปูนซีเมนต์ได้ ก็ได้ดำเนินการขนไปแล้ว 30 ตัน 2. อลูมิเนียมดรอส ที่ประเมินว่ามีประมาณ 7,000 ตัน ที่จะให้ดำเนินการขนนำออกไปกำจัดและรีไซเคิล ซึ่งขนไปได้ประมาณ 300 ตัน 

“แต่ก็มีปัญหาอีกแล้ว ปลายทางเกิดความเข้าใจผิด จากข่าวลือว่า อลูมิเนียมดรอส จะมีแคดเมียมผสมอยู่ ซึ่งวันนี้มีการประชุมที่ อ.พนัสนิคม เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจว่า มันคืออะไร คือกรมไม่มั่วแน่นอน ผมเลือกของที่ไปยังที่ที่เขามีความชำนาญจัดการเรื่องนั้นได้ อันนี้คือมาเรียนให้ท่านทราบ”

จุลพงษ์ ทวีศรี

รับแผนขนย้ายระยะแรกมีปัญหา หวังพึ่งงบฯ ปี 68 – แก้กฎหมาย

อธิบดีกรมโรงงาน​ฯ ยังบอกถึงเงินที่บริษัทวางไว้ที่ศาล 4.9 ล้านบาท จะดำเนินการตามแผน โดยจะเลือกกำจัดกากสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนแน่นอน แต่งบประมาณที่มี ไม่เพียงพอที่จะกำจัด และมีประเด็นที่ว่าช่วงประกาศเป็นเขตภัยพิบัติระดับจังหวัด ทาง อบจ.ระยอง ได้ขุดคูน้ำดักรอบ ๆ เพราะกลัวว่าน้ำเสียจะไหลเข้าพื้นที่ พบว่า เจอสารที่ซึมจากดิน มีทั้งน้ำมัน และ กรด สันนิษฐานได้ว่าอาจจะมีการลักลอบฝังใต้ดินมาก่อนหน้านี้ คล้าย ๆ กับ กรณี บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาลดาลไปเจาะในพื้นที่ เพราะฉะนั้นงานแก้ไขจะมี 3 ระยะ ประกอบด้วย 

  • CSR ตอนนี้เริ่มมีปัญหา ต้องหยุดการขน เพราะบริษัทไม่อยากดำเนินการต่อ เพราะจะทำให้บริษัทมีปัญหา

  • ใช้งบ 4.9 ล้าน

  • ของบฯ ปี 2568 ไว้ประมาณ 30 กว่าล้าน และคงจะไม่พอ และทางเลือกในการของบฯ กลาง ซึ่งกรณีงบกลาง อาจจะทำได้จำกัด อย่างไรก็ตาม มองว่าควรจะมีงบประมาณเฉพาะ ซึ่งกระบวนการคือ รัฐดำเนินการแล้วฟ้องร้องเอากับผู้ประกอบการภายหลัง

“ซึ่งงบประมาณ ปี 67 ที่กรมมีเพื่อใช้แก้ไขฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้งกาก ขอไป 60 ล้าน ได้มา 6.9 ล้าน 6.9 ล้านนี้ เราไปขอเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะที่ขอไป 60 ล้าน ขอไว้สำหรับแวกซ์ กาเบ็จ และขอเป็น งบฯ กลางด้วย พอดีงบฯ กลาง นายกฯ ให้มา 60 ล้าน ผมก็เลยใช้งบฯ กลาง เพราะ แวกซ์ กาเบ็จ ของบฯ ปกติ 60 ล้าน รัฐบาลให้มา 6.9 ล้าน ผมก็เลยเปลี่ยนเอา 6.9 ล้าน ไปแก้ปัญหาที่ ภาชี ซึ่งเป็นการบริหารจัดการ แต่จะเป็นแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ที่เราคุยกัน แต่อาจจะมีอีกเยอะ มองไปข้างหน้า เราต้องมีเงินสำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อจัดการมลพิษอุตสาหกรรม ในการไปฟื้นฟูพื้นที่

จุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานฯ บอกอีกว่า ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ เพิ่มโทษ ปรับ – จำคุก คือ ในการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ปัจจุบันปรับไม่เกิน 200,000 บาท อายุความ 1 ปี ซึ่งทำให้คดีส่วนใหญ่ขาดอายุความ มีแนวคิดเพิ่มโทษจำคุก คือ ไม่ได้ต้องการให้ใครมาติดคุก แต่อยากให้อายุความยาวขึ้น ถือ โทษจำคุก 1 ปี อายุความจะ 5 ปี ถ้าจำคุก 2 ปี อายุความจะเป็น 10 ปี รวมทั้งการเพิ่มโทษปรับ เชื่อว่าจะช่วยได้ เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ตั้งกองทุน เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากอุตสาหกรรม ที่มาจากการเปรียบเที่ยบปรับโรงงานที่กระทำความผิด เนื่องจากปกติได้ส่งคืนคลัง จะขอนำมาเติมส่วนนี้ แต่ต้องมีการกำหนดว่าโรงงานบางประเภทต้องมีหลักประกันความเสียหาย เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดปัญหา ไม่ต้องรองบประมาณ ต้องกำหนดเพื่อให้โรงงานมีเงินวางเป็นหลักประกัน

เตรียมเชือด ‘เอกอุทัย’ ไม่กำจัดของเสีย

อธิบดีกรมโรงงานฯ ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าหน้า บริษัท เอกอุทัย จำกัด มีโรงงาน 3 แห่ง ประกอบด้วย

สาขาอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ใช้อำนาจตามมาตรา 39 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งปิดโรงงาน เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทันที เมื่อ 19 ธ.ค. 66 และได้มีคำสั่งให้เอาของเสียไปกำจัด แต่ดำเนินการ กรมโรงงานฯ ต้องเข้าดำเนินการ ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ได้เหตุขึ้นตลอดเวลา เช่น การลักลอบปล่อยน้ำกรดมีถังสารเคมีรั่ว

สาขากลางดง จ.นครราชสีมา กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แจ้งความเอาผิดตามมาตรา 23 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นมหากาพย์ เพราะมีการใช้พื้นที่ป่าสงวนการประกอบกิจการไม่เป็นไปตาม EIA ได้มีคำสั่งตามมาตรา 39 ให้ดำเนินการแก้ไข ใกล้ครบกำหนด ถ้าตรวจยังไม่เป็นไปตามที่กำหนด ก็จะมีการตัดสินใจต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรกับโรงงานแห่งนี้ เนื่องจากมีคดีเยอะมาก กับทั้ง กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

สาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งการ ตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง  ตั้งแต่ ส.ค. 2565 ให้ปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การปิดทับคลุมบ่อฝังกลบ การรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำฝนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้ร่วมพิจารณาปรับปรุงแผนการดำเนินการฟื้นฟูแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ซึ่งขอขยายเวลามา 4 รอบ แผนที่เสนอมาก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ

“ผมว่าเริ่มไม่ไหว ก็เลยพยายามจะขอไปแถลงศาล แต่ศาลไม่รับเพราะว่าวันที่ศาลมีคำตัดสิน กรมโรงงานฯ ไปอุทธรณ์ไว้ กลิ่นไฮโดคาร์บอน VOCs ใต้ดิน สั่งให้วางแผนการกำจัดก็ไม่ทำ แผนที่เสนอมาก็ไม่ผ่าน เราใช้วิธีออกคำสั่งโดยกรมโรงงานฯ จะจัดทำแผน และแผนนี้โรงงานจะต้องทำตอนนี้ครบเวลาแล้วเหมือนกัน อีกไม่กี่วันรู้ผลกันว่าคดีนี้จะเป็นอย่างไร”

จุลพงษ์ ทวีศรี

เปิดผัง ‘วิน โพรเสส-เอกอุทัย’ เกี่ยวข้องกัน

จุลพงษ์ เปิดเผยอีกว่า ได้เปิดภาพแผนผังทิ้งท้ายถึงกรณีของบริษัท เอกอุทัย และ วิน โพรแสส พร้อมระบุว่า “ผังข้างต้นนี้ ไม่อยากจะพูดว่ามีความเชื่อมโยงกัน แต่จากผังนี้ต้องบอกว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเหตุให้ไปขอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้รวมคดีในผังนี้ไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นแต่ละคดีจะไปอยู่ที่สถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่ จากที่ไม่เชื่อมโยงกันก็ขอเอาไปรวมกัน ฝากไว้เท่านี้”

ชาวบ้าน 6 พื้นที่ ‘ดินแดนมลพิษ’ สะท้อนปัญหา-ข้อเสนอ

สำหรับเวทีครั้งนี้ ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจาก 6 พื้นที่โรงงานขยะ มาร่วมพูดคุยถึงความเดือดร้อนที่ผ่านมา เส้นทางการต่อสู้ และข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เทียบ สมานมิตร ชาวบ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ผู้เสียหายจากกรณี บริษัท วิน โพรเสส บอกว่า เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบและต่อต้านโรงงานมาตลอด แต่ก็แพ้ในวันที่เขาเริ่มขนของเข้าพื้นที่โรงงาน 

“เราสู้กันไปมา จนเริ่มถดถอย เราก็เริ่มขยับมาร้องเรียนหน่วยงานท้องถิ่น ประชุมหลายครั้งไม่มีอะไรดีขึ้น จนพบว่ามีมูลนิธิบูรณะนิเวศ ช่วยดำเนินการทางกฎหมาย ก็ดำเนินการฟ้อง และชาวบ้านชนะคดี ได้มา 20 ล้าน แต่ยังไม่มีใครได้เงิน เราใช้เวลามาเกือบ 3 ปี จนวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อน ทั้งน้ำ ดิน กลิ่น ไฟไหม้ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เกิดสารพิษครั้งใหญ่ หลายคนยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะเขามีผู้ป่วยติดเตียง ผมขอฝากรัฐที่ดูแล ที่ปล่อยให้โรงงานนี้เข้ามาในพื้นที่ ควรจะระงับตั้งแต่แรก แต่กลับปล่อยให้เขาปรับปรุงฟื้นฟู จนมาถึงวันนี้”

เทียบ สมานมิตร

ธนู งามยิ่งยวด ชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ผู้เสียหายจาก บริษัท แวกซ์ กาเบจฯ จำกัด ยอมรับเช่นกันว่า เจอปัญหามา 23 ปี ผู้คนที่นั่นทำการเกษตรทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยตั้งข้อสังเกตว่าการออกใบอนุญาตให้มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ขอให้ดูความเหมาะสม เพราะที่ตั้งโรงงานเป็นต้นน้ำ อยู่สูงกว่าพื้นที่การเกษตร ขอให้ลงไปสำรวจอย่างแท้จริง เพื่อดูพื้นที่ ก่อนออกใบอนุญาต ส่วนการทำประชาพิจารณ์ คนที่ยินยอมเขาอาจจะได้ประโยชน์จากการรับเงิน ลงชื่อเห็นชอบ แต่จริง ๆ ควรลงไปดูพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ เขาทำอาชีพอะไรอยู่ ถ้าไม่ดูตรองนี้ ถ้าเราไปออกใบอนุญาต

“ตั้งแต่ก่อนเปิดโรงงานผมร้องเรียนไปแล้วตั้งแต่ปี 43 ก็ถูกลอบทำร้าย เอาปืนมายิงที่หน้าบ้าน ตอนกลางคืน ไปแจ้งความไว้ เราก็ร้องเรียนนำชาวบ้านออกมาประท้วง แต่เหมือนพายเรือในอ่าง ทำมาหลายปี มีครั้งหนึ่งที่คณะปฏิวัติยึดอำนาจ ก็มองว่าเขาจะมีอำนาจเต็มที่จะสั่งการก็ได้ นั่นคือความเข้าใจของชาวบ้านธรรมดา ก็ได้ไปของร้อง คือให้หยุดหรือระงับ บอกเขาว่าผมปลูกลำไยเกือบ 100 ไร่ ต้นไม้ไม่มีน้ำรด ขอให้เขามาช่วยเหลือกลายเป็นมายัดเยียดข้อกล่าวหาให้ ว่าปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งให้ชุมชน โดนเรียกไปปรับทัศนคติ”

ธนู งามยิ่งยวด

ธนู บอกอีกว่า เมื่อก่อนทำลำไยส่งออกไปจีน แต่ไม่ได้ทำมา 5 ปีแล้ว ต้องอาศัยน้ำในห้วยน้ำพุ ตอนนี้หมดหนทางไม่มีรายได้มาหลายปี และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีข้อกล่าวหามาที่ตน ตอนที่นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ จ.ราชบุรี มีเอกสารมาถึงตนกับผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นภัยคุกคามกับนายกรัฐมนตรี

“ไม่คิดจะออกมาประท้วงแล้ว เพราะตอนนี้อยู่ที่ฎีกาแล้ว เวลานี้ประชาชนถูกตราหน้าว่าเป็นภัยคุกคามของรัฐ เสียใจมาก ๆ เหมือนทุกอย่างยังไม่มีการแก้ไข ศาลสั่งมาก็ไม่เคยได้รับเงิน น้ำที่จะทำการเกษตรท เราดิ้นรนขอแต่ก็ยังไม่ได้ ไฟไหม้ที่ราชบุรี เหมือนเป็นงานประจำปี ไหม้แทบทุกปี พอไฟไหม้ อธิบดีหางบฯ ไปจัดการ 59 ล้าน ทำไมไฟไหม้ถี่ ? เพราะเหตุนี้ไหม เป็นผม ผมก็คงให้ไหม้ เพราะไม่ต้องจัดการอะไร ไปไล่ฟ้อง ถ้าเขาล้มละลาย จะไปเอาอะไรกับเขา”

ธนู งามยิ่งยวด
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สภาอุตสาหกรรมฯ ชี้ รีบร้อนออกใบอนุญาตมีแต่ข้อเสีย

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ในการออกใบอนุญาตโรงงานที่กระจายอำนาจให้ไปอยู่ในท้องถิ่น การตรวจสอบที่ว่ามาจากความไม่พร้อมของท้องถิ่น หรือมาจากปัจจัยอื่นที่ทำให้การออกใบอนุญาตไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ มองว่า ควรทำงานร่วมกับหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันด้วย และเปิดเผยข้อมูลว่า ใครอนุญาต ผู้เกี่ยวข้องเป็นใคร ต้องเปิดเผยและเป็นธรรม ไม่เช่นนั่นคนทำงานก็แก้ปัญหา แต่ไม่ได้มีการเอาผิดกับผู้ที่อนุญาต

“ก่อนอนุมัติมีคุณภาพหรือไม่ โรงงานที่เป็นโรงงานที่ต้องกำจัดของเสีย ดึงกลับเข้ามาที่กรมโรงงานฯ ได้หรือไม่ รัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง ภาคนโยบาย ความมีส่วนรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ไม่อยากเห็นการมาไล่บี้คนทำงาน แต่ควรจะบริหารจัดการนโยบาย ภาคนโยบาย ต้องรับฟัง มีความจริงใจ ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่ อยากให้คนไม่ดีทั้งระบบราชการเอกชนมีปัญหาและอยู่ไม่ได้”

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active