ศาลฯ ชี้ ผู้ถูกฟ้องต้องฟื้นฟูพื้นที่ภายใน 120 วัน แต่ไม่ลงโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกฟ้องเยียวยาความเสียหาย ชาว ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ยอมรับสภาพ เหตุโรงงานปิดนานแล้ว แต่ฟื้นฟูยังไม่คืบ ชี้ ปัญหายากเกินแก้ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือชดเชยค่าเสียหาย
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลฯ นัดฟังการตัดสินคดี กรณี สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับประชาชน ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี และ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ. ราชบุรี ยื่นฟ้องให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับบริษัทฯ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งเป็นดคีที่ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
โดยก่อนหน้านี้ ตัวแทนชาวบ้าน 3 ชุมชนใน ต.น้ำพุ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการประกอบกิจการประเภทการคัดแยกและฝังกลบของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกของประเทศไทย
แม้ว่าในคดีแบบกลุ่มดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2563 ให้ตัวแทนชุมชนเป็นฝ่ายชนะคดี โดยทางจำเลย คือบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ และผู้เป็นเจ้าของ ต้องร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้ง 3 ราย รวมถึงสมาชิกชุมชนที่ประสบปัญหาผลกระทบลักษณะเดียวกัน ตลอดจนให้จำเลยร่วมกันแก้ไขดูแลฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ของสมาชิกกลุ่ม รวมถึงคลองสาธารณะโดยรอบ แต่สำหรับผลของคำพิพากษายังอยู่ระหว่างดำเนินการในบางส่วน และส่วนใหญ่ยังไม่เกิดผล ทำให้ประชาชนยังต้องเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการฟ้องคดีต่อศาลปกครองดังกล่าว
สำหรับการวินิจฉัยใน 4 ประเด็นของศาลปกครอง คือ (1) ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ (2) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 – 5 อันประกอบด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5) ต่างละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือต้องปฏิบัติตาม (3) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 – 5 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือต้องปฏิบัติตาม ในการฟื้นฟูสภาพความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโรงงานของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ (4) ให้ยกฟ้องเรื่องค่าเสียหาย โดยให้ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายทางบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ เอง
ส่วนของคำพิพากษาของศาลปกครองมีดังนี้
- ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 3 และ 5 ได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ใช้อำนาจตามมาตรา 37 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ (ผู้ร้องสอด) ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมภายในเวลาที่กำหนด ในการประกอบกิจการโรงงาน ตามทะเบียนโรงงานเลขที่ จ3-64(11)-1/45 รบ และทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-106-1/46 รบ และหากบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) หรือผู้ที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมาย สั่งให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ หยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวหรือสั่งปิดโรงงานตามมาตรา 39 วรรค 1 หรือวรรค 3 ตามแต่กรณี
- ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผู้ที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมาย ใช้อำนาจตามมาตรา 39 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งปิดโรงงาน ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-106-2/46 และ 3-106-4/46 รบ
- ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ใช้อำนาจตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ
- ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4-6 ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ใช้อำนาจตามมาตรา 42 พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ในการฟื้นฟูสภาพความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโรงงานของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ
ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาข้อที่ 1-3 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สิ้นสุด และตามคำพิพากษาข้อที่ 4 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่คดีถึงที่สิ้นสุด และศาลสั่งยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7-9 ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว จังหวัดราชบุรี และกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง ทั้งนี้คู่กรณีทั้งสองสามารถยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน
เหยื่อมลพิษแวกซ์ กาเบ็จฯ ผิดหวัง กล่าวยอมรับสภาพ
ขณะที่ ประชาชนในพื้นที่ ต.น้ำพุ และ ต.รางบัว ที่ต้องเผชิญกับมลพิษอุตสาหกรรมจากการประกอบกิจการคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้กับ “ห้วยน้ำพุ” แหล่งน้ำสาธารณะที่สำคัญของชุมชน ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีอย่างรุนแรง ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้ พืชผลทางการเกษตรยังเกิดความเสียหายและล้มตายเป็นพื้นที่วงกว้าง คนในชุมชนสูญเสียรายได้หลักไปอย่างมากมาย
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่ และจะดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมต่อไปโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณของรัฐ
หลังฟังคำพิพากษาศาล ตัวแทนผู้ฟ้องคดีจากพื้นที่ได้แสดงความเห็นว่า การตัดสินคดีปกครองครั้งนี้มีความล่าช้ามาก โดยใช้เวลายาวนานกว่า 6 ปี แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นกลับเพิ่มขึ้นทุกวัน และผลการตัดสินครั้งนี้ทำให้เห็นว่าข้อบทกฎหมายนั้นอ่อนมาก เพียงชี้ว่ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการกำกับดูแลและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีการลงโทษใด ๆ เลย ส่วนที่ให้สั่งบริษัทฯ หยุดทำผิดหรือเพิกถอนใบอนุญาต ทุกสิ่งก็ผ่านไปหมดแล้ว
ธนู งามยิ่งยวด ประธานกลุ่มรักษ์ต้นน้ำ ชาวบ้าน ต.น้ำพุ บอกว่า ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นประเมินได้ยาก แม้จะไม่ค่อยพอใจกับผลที่เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับสภาพ เนื่องจากมีการนำระเบียบภัยแล้งมาชดเชยค่าเสียให้ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ใช่เกิดจากภัยธรรมชาติ และย้ำว่ายังไม่มีกองทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด
“ใจจริง อยากประกอบอาชีพเดิมที่ชาวบ้านเคยทำกัน แต่ตอนนี้มันทำไม่ได้แล้ว ถ้าถามว่าสิ่งที่ชาวบ้านอยากให้ทำมากที่สุดก็คือมาเยียวยาให้เร็วที่สุด”
ธนู งามยิ่งยวด
นอกจากนี้ยังพูดถึงการย้ายกากอุตสาหกรรมว่า มีการขนย้ายไป 12,000 ตัน แต่ยังคงค้างอยุู 15,000 ตัน ยังรวมถึงที่ฝังอยู่ใต้ดินจำนวนมาก และมีบ่อฝังกลบอีก ซึ่งเคยมีการพิสูจน์แล้วว่ามีการรั่วไหล แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอะไรเลย กระบวนการทั้งหมดทำในเวลา 210 วัน ซึ่งเยอะกว่าที่คำพิพากษาที่ศาลกำหนดว่าต้องให้ผู้ถูกฟ้องฟื้นฟูภายใน 120 วัน
ส่วนภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ได้รับผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านต้องพยายามแก้ปัญหาช่วยเหลือตัวเองไปก่อน โดยการหาแหล่งน้ำเองในพื้นที่ ปรากฏว่าน้ำบาดาลที่เจาะลงไป 3 – 4 บ่อก็เสียหายทั้งหมด มีสารปนเปื้อนอยู่หลายตัวเหมือนบริเวณลำห้วยที่นำไหลผ่าน แต่ถ้าหวังรอให้เจ้าหน้าที่มาแก้ไขใช้เวลานานมาก
ด้าน ไพฑูรย์ ปัตนา อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ บอกว่า สิ่งที่ชาวบ้านกังวล คือ กากอุตสาหกรรมที่มีการคำนวณและเคลื่อนย้ายออกไป 12,000 ตัน ซึ่งได้รับงบประมาณมา 59 ล้านบาท มีการคาดเคลื่อนค่อนข้างสูง เพราะยังมีตกค้างอีก 15,000 ตัน ควรนำงบประมาณของรัฐมาดำเนินการก่อน ชาวบ้านจึงตั้งคำถามว่าเหตุใดการคำนวณจึงผิดพลาดขนาดนี้
ด้านนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ศรีสุวรรณ จรรยา เห็นว่าคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ตัดสินไปที่ตัวบุคคล แต่กลับยกฟ้องหน่วยงานฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ขั้นต่อไปจึงเตรียมยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.