คพ. ยัน โรงงาน ‘แวกซ์ กาเบ็จฯ’ จ.ราชบุรี ตัวการทำดิน-น้ำ ปนเปื้อนสารพิษ

ศาลอุทธรณ์ ยกคำร้อง โรงงานรีไซเคิล ‘แวกซ์ กาเบ็จฯ’ หลังจำเลยแย้งผลตรวจสอบ ‘กรมควบคุมมลพิษ’ อ้างไม่ใช่ต้นเหตุทำมลพิษปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ชุมชน โดยศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ทุเลาบังคับคดี สั่งโรงงานชดใช้สินไหมทดแทน กำจัดสารพิษ เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม   

วันนี้ (25 ก.พ.66) พิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้นัดอ่านคำอุทธรณ์ของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 1 และ สมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล จำเลยที่ 2 ที่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าจำเลยทั้งสอง ประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมาย โรงงานไม่มีการระบายน้ำออกสู่ภายนอก หลุมฝังกลบเป็นการฝังกลบของเสียไม่อันตราย ก่อสร้างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงผลการตรวจสอบของ คพ. ที่ตรวจพบสารพิษมีค่าสูงเกินมาตรฐาน เป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของยากำจัดศัตรูพืช ที่ใช้ในการเกษตร

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์ของจำเลย โดยไม่ให้ทุเลาการบังคับคดีแก่จำเลย ตามที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไว้เมื่อปี 2563 พร้อมให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน และกำจัดสารพิษ รวมถึงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้แก่โจทย์ทั้ง 3 ราย และสมาชิกกลุ่มในหมู่ 1 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี จ.ราชบุรี นั่นหมายความว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคงมีผลบังคับต่อจำเลยต่อไป

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จากการกล่าวอ้างของจำเลย ว่าผลการตรวจสอบของ คพ.ที่ตรวจพบสารพิษมีค่าสูงเกินมาตรฐานเป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตร นั้น คพ.ยืนยันว่า การตรวจสอบเมื่อปี 2556 – 2561 พบการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งโลหะหนัก และสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบ่อสังเกตการณ์ภายในโรงงาน และบ่อน้ำใช้ของประชาชนบริเวณใกล้เคียง มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน

คพ. ยังตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายในดินภายในโรงงานมีค่าสูง และตรวจพบสารอินทร์ระเหยง่ายในน้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงาน ประกอบกับทิศทางการไหลของชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น บ่งชี้ได้ว่าสาเหตุเกิดจากกิจกรรมของโรงงานจริง

“คพ. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากกรณีโรงงานดังกล่าว ปัจจุบันมีการขนของเสียที่ตกค้างภายในโรงงานทั้งที่ถูกเพลิงไหม้และไม่ถูกเพลิงไหม้ออกไปกำจัด รวมถึงการเสนอของบฯ กลางมาใช้ฟื้นฟูการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน และหน่วยปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จะติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาต่อไป”

พิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active