ชาวบ้านชนะคดีมลพิษแบบกลุ่ม ครั้งแรกในประเทศไทย

ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ให้ชาวบ้าน ต.น้ำพุ เมืองราชบุรี ชนะคดี หลังแบกรับผลกระทบเกือบ 20 ปี ให้โรงงานรีไซเคิลชดเชย-ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (24 ธ.ค. 2563) ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ สว.4 / 2560 ระหว่าง ธนู งามยิ่งยวด กับพวกรวม 3 คน ฝ่ายโจทก์ กับ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 2 คน สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของบริษัทจำเลยที่ 1

ว่าที่ ร.ต. สมชาย อามีน ทนายความ สมาคมกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลภายหลังจากฟังคำพิพากษาจากศาล ว่า ศาลพิพากษาจากพยานหลักฐานของโจทก์ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษและการปนเปื้อนของสารเคมีในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ จริง โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็น กำกับดูแล และ ได้รับประโยชน์จากกิจการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่ โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 666,425 บาท, โจทก์ที่2 เป็นจำนวน 508,500 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นจำนวน 135,000 บาท พร้อมดอากเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

นอกจากนี้ในส่วนของสมาชิกกลุ่ม ศาลได้กำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะร่วมรับผิดต่อสมาชิกกลุ่ม คือ ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ประมาณ 1,000 คน ดังนี้ค่ารักษาพยาบาลต่อสมาชิกกลุ่ม

ศาลได้กำหนดจากเกณฑ์โดยแบ่งสมาชิกกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

  • สมาชิกกลุ่มที่ไม่ตรวจไม่พบสารโลหะหนัก ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,000 บาทในปี 2559 และ 2560 จำนวน 2 ปี รวมเป็นเงิน 10,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลนับจากปี 2561 จนถึงปี 2565 อีกปีละ 5,000 บาท
  • สมาชิกกลุ่มที่ตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกาย ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลในปี 2559 และ 2560 ปีละ 10,000 บาทรวม 20,000 บาทและค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องในปี 2561 ถึง 2565 อีกปีละ 10,000 บาท
  • และ สมาชิกกลุ่มที่พบสารโลหะหนักในร่างกายเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท ในปี 2559 และปี 2560 รวม 30,000 บาทและให้ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลอีกปีละ 15,000 บาทของปีหนึ่ง 2561 ถึง 2565

ส่วนค่าเสียหายต่อสุขภาพและอนามัยนั้นศาลกำหนดให้เฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการมีสารโลหะหนักในร่างกายเกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดโดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่มีอายุเกินกว่า 15 ปี ให้ได้รับค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาท
  • และกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีให้ได้รับ 100,000 บาทโดยจะต้องมีผลการตรวจรับรองแพทย์มาแสดง

สำหรับค่าเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรนั้นศาลได้กำหนดค่าเสียหายให้กับสมาชิกกลุ่มต่อครัวเรือนในจำนวนเนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ สำหรับพืชสวนให้ไร่ละ 1,690 บาท และพืชไร่ให้ไร่ละ 1,148 บาท เป็นระยะเวลาสองปีก่อนถึงวันฟ้อง นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ชำระค่าเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรตามความจริงแต่ไม่เกิน 30 ไร่ต่อครัวเรือน โดยพืชจำพวกลำไยให้ไร่ละ 19,945 บาทต่อไร่ต่อปี มะม่วงได้ละ 11,966 บาทต่อไร่ มะนาวไร่ละ 7,274 บาทต่อไร่ มะละกอ 12,175 บาทต่อไร่ มันสัปปะหลัง 4,610 บาทต่อไร่ พืชผักต่าง ๆ 7,760 บาทต่อไร่ เห็ดให้ได้รับโรงเรือนละ 44,510 บาทต่อโรงเรือน โดยจะต้องมีผลตรวจมายืนยันในการขอรับชำระหนี้

ศาลยังได้พิจารณาถึงคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยมีการชำระเงินเข้ากองทุนเพื่อฟื้นฟูให้กับกลุ่มชาวบ้านหมู่ที่ 1 ว่าชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงไม่อาจกำหนดให้ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิหากจะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและมาฟ้องเรียกร้องในภายหลัง

ในส่วนของค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสามขอให้มีการฟื้นฟูความเสียหายนั้นเนื่องจากโจทก์เป็นประชาชนในพื้นที่และใช้สิทธิเพื่อพื้นที่ อันเป็นส่วนการเยียวยาพื้นที่เกษตร ใช้เกณฑ์ตาม รัฐบาล จ่ายเท่ากับเยียยาภัยแล้ง และโรงงานต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ใช้ได้ตามปกติโดยชาวบ้านสามารถว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาฟื้นฟูและเรียกค่าใช้จ่ายจากโรงงาน รวมถึงข้อเรียกร้องที่ให้โรงงานจ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 50 ล้านบาท หากชาวบ้านจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็สามารถดำเนินการหลังจากนี้ได้

“คดีนี้ เป็นคดีฟ้องกลุ่มครั้งแรกของประเทศ ชาวบ้านเสียหายเป็นกลุ่มใหญ่ ความเสียหายมากน้อยต่างกันไป หากฟ้องเพียงคนเดียวอาจนำขึ้นศาลยาก อยากให้ทนายเข้ามาทำคดีลักษณะนี้ให้มาก เพื่อช่วยชาวบ้านและปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม”

ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า คดีนี้เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นความปล่อยปะละเลยของกรมโรงงาน ที่กำกับดูแล อนุญาต ให้โรงงานสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม จนต้องลุกขึ้นมาฟ้องศาล แม้วันนี้จะชนะคดี แต่ 19 ปี ที่ผ่านมา ความเสียหายมากกว่าเงินเยียวยาและการฟื้นฟูต้องใช้งบมากกว่า 50 ล้านบาท จึงเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายและกฎหมายที่จะรัดกุมมากกว่านี้

“โรงงานเหล่านี้ไม่ต้องทำอีไอเอ อุตสาหกรรมต้องพิจารณานโยบายแล้วว่ายังจะอนุญาตให้โรงงานเหล่านี้ตั้งได้ง่าย ๆ ขยายทั่วประเทศอีกหรือไม่ ชาวบ้านเดือดร้อนฟ้องศาลรวบรวมหลักฐานยาก ต่อสู้นานมากกว่าจะชนะคดี กฎหมายไม่รัดกุมผลกระทบที่เกิดขึ้นมากกว่า”

สำหรับคดีนี้ตัวแทนชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี รวม 3 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ในข้อหาความผิดละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 หลังได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2544 จนนำมาสู่การฟ้องศาลเมื่อปี 2560 ก่อนศาลจะมีคำตัดสินในวันนี้
 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส