คืบหน้าขนย้ายของเสีย รง.รีไซเคิลแวกซ์กาเบ็จ จ. ราชบุรี

ชาวบ้านวอนหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาจริงจังหลังผลกระทบยังอยู่นานเกือบ 20 ปี คณะทำงานฯ ยืนยันขนย้ายของเสียไฟไหม้หมดแล้ว จะใช้กฎหมายทุกอย่างที่มีขอให้มั่นใจ เดินหน้าตามขั้นตอนกฎหมาย

วันนี้ (25ม.ค.) คณะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการ บ.แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จัดประชุมครั้งที่1/2566 ติดตามการแก้ไขปัญหาและความคืบหน้าในการเคลื่อนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมภายในโรงงานไปกำจัดตามหลักวิชาการ

รณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ได้สั่งระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย พร้อมเข้าสังเกตการณ์ภายในพื้นที่เพื่อกำกับติดตามให้บริษัทฯ ดำเนินการเคลื่อนย้ายของเสียทั้งหมดไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้อง โดยดำเนินการเคลื่อนย้ายของเสียที่ถูกเพลิงไหม้ไปแล้ว 1,074.42 ตัน ประกอบด้วย ของเสียผสมรวมในถัง 200 ลิตร เศษถังโลหะปนเปื้อน ดินปนเปื้อน น้ำเสียปนเปื้อน และยังคงเหลือดินปนเปื้อนบางส่วน ขณะที่ของเสียอันตรายที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ เคลื่อนย้ายไปกำจัดแล้วบางส่วนรวม 10.44 ตัน ประกอบด้วย ภาชนะปนเปื้อน น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว คาดยังเหลืออีกประมาณ10,500 ตันที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

“ของเสียที่ถูกไฟไหม้ เคลื่อนย้ายหมดแล้ว เหลือแต่ของเสียที่ไม่ถูกไฟไหม้ซึ่งอยู่ในแผนดำเนินการต่อไป จะใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายเองและต้องให้หมด 31ม.ค.นี้”

ด้านจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับจังหวัดราชบุรี และกรมควบคุมมลพิษ นำทุกข้อกฎหมายมาใช้แก้ปัญหา โดยดำเนินการจัดทำแผนกำจัดของเสียและวัตถุอันตรายที่ตกค้างในพื้นที่ ควบคู่กับการจัดหางบประมาณสำหรับกำจัดกากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตรายดังกล่าว ทั้งนี้ กรอ. อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อทำโครงการกำจัดบำบัดของเสียบนดินที่ตกค้างในและนอกโรงงาน วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท คาดว่าระยะเวลาที่สำนักงบประมาณพิจารณาและเสนอนายกรัฐมนตรีตามระเบียบประมาณ 3 เดือน 

นอกจากนี้ กรอ.ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแนวทางและให้ กรอ. ดำเนินการต่อไป ซึ่งแนวทางจะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กำจัดของเสียที่ตกค้างบนดินทั้งในและนอกโรงงาน พร้อมค้นหาจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใต้ดินภายในโรงงาน ระยะที่ 2 กำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษใต้ดินที่แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จากนั้นจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากแวกซ์ กาเบ็จทั้งหมด

“ลงพื้นที่วันนี้ได้เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านแล้ว ปัญหาต้องสั่งการหลายส่วนตามขั้นตอนทางกฎหมาย ขอให้ชาวบ้านมั่นใจเราจะทำที่นี่ให้เป็นโมเดลของการแก้ปัญหา”

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน กรณีบริษัท แวกซ์ กาเบ็จรีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด โดยได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการโรงงาน ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เมื่อปี พ.ศ. 2562 จำนวน 36.28 ล้านบาท และจากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2565 คพ. ได้รวบรวมค่าใช้จ่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว เพื่อฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย อีก 2.84 ล้านบาท สำหรับการดำเนินคดีอาญา ได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนภูธรจอมบึงเพื่อดำเนินคดีกับโรงงานตามมาตรา 119 และ 119 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เมื่อปี พ.ศ. 2560 และตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ. 2535 เมื่อปี พ.ศ. 2565 ด้วย

ชาวบ้านหนองแกสู้มา 20ปี กลิ่นเหม็นน้ำเสียยังแก้ไม่หาย

สำหรับการลงพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ มีชาวบ้านหนองแก หมู่ที่ 1 ตำบล น้ำพุ อำเภอเมืองจังหวัดราชบุรี ติดตามเฝ้าสังเกตุการณ์ด้วย ลมัย จ้อยเล็ก ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบอกว่า ต่อสู้ร้องเรียนมานานเกือบ 20 ปี แต่ผลกระทบทั้งเรื่องกลิ่น น้ำเสียยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น หลายครั้งที่หน่วยงานลงพื้นที่แบบนี้แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบทำอะไรโรงงานไม่เคยได้ 

“ชาวบ้านจะตายอยู่แล้ว ถ้าหน่วยงานรัฐหันหลังให้ชาวบ้าน จนเขียนใส่หน้าผากเลย ตอนนี้กู้หนี้ยืมสินเพราะอยู่ไม่ได้ ปลูกผักขายไม่ได้ ถ้าโรงงานยังอยู่ ชนะคดีก็เท่านั้น ยังไม่ได้รับเงินบอกแต่ว่ารอ เดือดร้อนกันมาก”

เช่นเดียวกับ เอียน เขียวผ่อง เขาบอกว่ากลิ่นเหม็นยังคงมีเป็นระยะโดยเฉพาะช่วงเวลาเช้ามืดแม้ว่าเวลานี้จะบอกว่าโรงงานปิดกิจการไปแล้วก็ตาม

“ตีสามจะเหม็นมาก มานอนดูสักคืนสองคืนได้เลย ปิดโรงงานไปแล้วแต่ที่ตกค้างใต้ดิน ในน้ำอีก เห็นใส ๆ ลองโยนอะไรลงไปกลิ่นมาเลย เดือดร้อนมากสู้กันจนตายไปแล้วรุ่นหนึ่งปัญหาก็ยังอยู่ อยากให้หน่วยงานทำอะไรจริง ๆ มาช่วยหน่อย”

จากกรณีปัญหาการแพร่กระจายของของเสียและกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายจากโรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิลเซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตรายรับวัสดุเหลือใช้และเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บนพื้นที่มากกว่า 54 ไร่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เกิดเพลิงไหม้ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้สั่งการตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ และสั่งให้บริษัท หยุดประกอบกิจการโรงงาน พร้อมเร่งรัดให้ปฏิบัติตามแผนการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยกำชับให้ดำเนินการในส่วนพื้นที่ไฟไหม้ก่อน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มกราคม2566  ขณะเดียวกันโรงงานดังกล่าวเคยถูกร้องเรียนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการฟ้องร้องแบบกลุ่มจนชาวบ้านชนะคดีเมื่อปี 2563 แต่จนถึงเวลานี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินเยียวยารวมถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active