ฤดูฝุ่น มาตามนัด วันนี้ PM2.5 กทม.ปริมณฑลเกินค่ามาตรฐานหลายจุด

คพ.ตั้งจุดตรวจวัดควันดำ  7 จุด ทุกวันในจุดที่มีฝุ่นหนาแน่น ด้านมูลนิธิบูรณนิเวศ ชี้ไม่ควรมองข้ามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แนะผู้ว่าฯเร่งตรวจสอบทำฐานข้อมูลระบุสถานะ พร้อมควบคุมตรวจสอบ

วันนี้ (17 ธ.ค.2566 ) เว็บไซต์ air4thai  รายงานคุณภาพอากาศช่วงเช้า พบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีค่าฝุ่นละออง PM2.5เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดย ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีแดงค่าฝุ่น 89.9ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  ขณะที่ค่าฝุ่นที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพมีหลายพื้นที่ ได้แก่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย, กรุงเทพฯ,ริมถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ, กรุงเทพฯ,ริมถนนเอกชัย เขตบางบอน, กรุงเทพฯ,ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม, กรุงเทพฯ,ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ, กรุงเทพฯ,ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา, กรุงเทพฯ,ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน, กรุงเทพฯ,ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย, กรุงเทพฯ,ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่, กรุงเทพฯ,ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน, กรุงเทพฯ,ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี, กรุงเทพฯ,ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ, กรุงเทพฯ,ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง, กรุงเทพฯ,ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา, ฯลฯ 

ขณะที่แนวทางของการจัดการฝุ่นตั้งแต่ต้นทางของกรุงเทพมหานครในช่วงที่ฝุ่นเริ่มสะสมหนาแน่น ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ จะตั้งจุดตรวจบริเวณถนนที่มีค่าฝุ่นละอองPM2.5 สูง ดำเนินการทุกวัน 7 จุดต่อวัน วันละ 14 ชุด และตรวจอู่รถเมล์ 2 วัน/สัปดาห์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ดูแลรักษาเครื่องยนต์ และเมื่อฝุ่นละออง 37.5 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ให้เพิ่มการตรวจใน 4 จุด ได้แก่ท่าเรือคลองเตย และนิคมอุตสาหกรรม (บางชัน ลาดกระบัง และอัญธานี) โดยจะตรวจ 3 วัน/สัปดาห์ พร้อมเพิ่มชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังพื้นที่ที่มี PM2.5 สูง รวมทั้งห้ามจอดรถสายหลักและสายรอง ห้ามเผาในที่โล่ง งดจุดธูป/เทียน ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หยุดการก่อสร้าง พร้อมงดค่าโดยสารบีทีเอส(BTS)ส่วนต่อขยาย

ในส่วนของการตรวจจับรถยนต์ควันดำริมเส้นทางจราจรในจังหวัดปริมณฑล จะดำเนินการตรวจเข้มบนถนนสายหลัก และเส้นทางขาเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบกมี 16 ชุดต่อวัน 

“หากการตรวจสอบมีการระบายมลพิษมีค่าฝุ่นละอองที่กำหนดจะถูกปรับ และจะต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามเจ้าของรถยนต์ที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้และไม่ได้แก้ไขเรื่องควันดำมาดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายแล้ว โดยโทษสูงสุดปรับไม่เกินห้าพันบาท”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังประสานกรมการขนส่งทางบกเพื่อจดแจ้งในระบบการต่อทะเบียน ซึ่งเจ้าของรถยนต์จะต้องปรับปรุงแก้ไขเครื่องยนต์มิให้มีการปล่อยควันดำเกินมาตรฐานและนำรถเข้าตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบกเสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการทางทะเบียนได้ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของยานพาหนะ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลเก่า หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 และสุขภาพอนามัยของทุกคน พร้อมระบุถึงแหล่งกำเนิดฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มเติมว่า มาจากยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ การเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ก่อสร้างเตาเผาศพ และสถานประกอบการอื่นๆ

ที่มา:มูลนิธิบูรณนิเวศ

ด้านเว็บไซต์ของมูลนิธิบูรณนิเวศ แสดงถึงความกังวลต่อสถานการณ์พร้อมระบุว่า  เมื่อกล่าวถึงแหล่งกำเนิดPM2.5 หรือมลพิษอากาศจากภาคอุตสาหกรรม ผู้คนทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป อาจค่อนข้างรู้สึกมองข้ามด้วยความวางใจ ว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งมลพิษที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับควบคุมแล้ว ในขณะที่การเผาทั่วไปในที่โล่งและร้านปิ้งย่าง ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล  และหน่วยงานภาครัฐออกมาขานรับที่จะควบคุม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่มีแง่มุมความรู้และความจริงที่น่าจะต้องเสริมเข้าไปในเจตนาที่ดีและการทำหน้าที่ตามกฎหมาย นั่นคือ ส่วนของจำนวนโรงงานอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่หลุดออกจากการควบคุมกำกับตามกฎหมายโรงงานนั้น แท้จริงย่อมไหลเข้าสู่ขอบเขตอำนาจตามกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข ดังนั้น อดีตโรงงานที่เคยอยู่ในความควบคุมของกฎหมายโรงงาน 3,571 โรงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ กทม. ดูแล และ 945 แห่งที่ตั้งอยู่ใน 5 จังหวัดปริมณฑล ซึ่งแบ่งเป็นสมุทรปราการ 352 โรง, นนทบุรี 256 โรง, ปทุมธานี 163 โรง, นครปฐม 101 โรง, และสมุทรสาคร 73 โรง  ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลายควรที่จะต้องเหลียวแลและให้ความใส่ใจ อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยการมีมาตรการลงสำรวจตรวจสอบ อย่างน้อยต้องสำรวจสถานะว่า แม้ไม่ใช่โรงงานตามกฎหมายแล้ว แต่ยังเป็นโรงงานในทางกายภาพไหม ประกอบกิจการประเภทใด เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจน จัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดีและครอบคลุม พร้อมสำหรับที่จะนำมาใช้ประกอบการแก้ปัญหาทันที และเพื่อใช้ในการวางแผนกำกับดูแลต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ต้องตระหนักด้วยว่า ฝุ่นและมลพิษอากาศจากแหล่งอุตสาหกรรม นอกจากมีอันตรายในแง่มุมความเป็นฝุ่นแล้ว มลพิษที่แฝงมากับฝุ่นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะก่อพิษร้ายแรงต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมหลากหลายลักษณะและนานัปการและอาจจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายได้สูงกว่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active