ชาวบ้านหนองพะวาชนะคดี โรงงานรีไซเคิลทำสารเคมีรั่วไหล

ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้โรงงาน รับผิดชอบความเสียหาย กรณีสารเคมีรั่วไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ พร้อมชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านที่เดือดร้อน 20 ล้านบาท และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เหมือนเดิม

วันนี้ 13 ธ.ค. 2565    ศาลจังหวัดระยองได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาคดีแพ่งด้านสิ่งแวดล้อมหมายเลขดำที่ สวพ 1/2564  โดยศาลได้พิจารณาว่า จำเลยทั้ง 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุอันตรายมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามคำฟ้องโจทก์ พิพากษาให้ จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้ โจทก์ 15 คน รวมเป็นเงิน 20,823,718 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้ง 3 จะได้ร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้ง 15 คนเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ยังพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ควบคุมมิให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งเข้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของโจทก์ทั้ง 15 คนและหนองพะวา แหล่งน้ำสาธารณะให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนที่ได้รับยกเว้นต่อศาล กำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 20,000 บาท

สำหรับดคีนี้ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งได้รับความเสียหายจากการประกอบกิจการของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด โดยพื้นที่ทางการเกษตร สัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ได้รับความเสียหายล้มตายจากการรั่วไหลของสารเคมี ที่มีผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมานับ 10 ปี  ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจำนวน 15 คน จึงยื่นฟ้อง บริษัท วินโพรเสส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1  วิชชุดา ไกรพงษ์ กรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 2 และ  โอภาส บุญจันทร์ อดีตกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 3 รวมทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง47,949,505 บาท 

ภาพจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า ปัจจุบันยังไม่ได้มีการแก้ไขทั้งจากผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน แต่คำตัดสินของศาลก็เป็นผลที่น่าพอใจ และเป็นพัฒนาการอีกขั้นของคดีด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคำตัดสินมีการเอาผิดเจ้าของโรงงาน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่จะเอาผิดเพียงกรรมการบริษัทซึ่งเป็นแค่ตัวแทนเท่านั้น และการฟื้นฟูก็ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่พื้นที่ภายในโรงงานเท่านั้น 

“เราฟ้องเรียกไป 40 กว่าล้านบาท แต่ได้มา20 ล้านบาท  ไม่คุ้มกับความเสียหาย แต่คำตัดสินชี้ชัดว่าบริษัทเป็นคนทำก่อให้เกิดมลพิษ ตัดสินเอาผิดได้ทั้งกรรมการบริษัทคนเก่าและคนปัจจุบัน เจ้าของโรงงาน  นี่ถือเป็นความคืบหน้าของการตัดสินคดีสิ่งแวดล้อม คำสั่งให้ควบคุมการแพร่กระจายของเสีย ส่วนราชการกรมโรงงานต้องเข้ามาทำหน้าที่ มันเห็นมิติใหม่ของคำพิพากษา”

ดาวัลย์ ยังบอกเพิ่มเติมว่าโรงงานวินโพรเสสแม้จะหยุดประกอบกิจการไปแล้ว และพยายามที่จะขอยกเลิกประกอบกิจการ แต่เห็นว่านี่คือการปัดความรับผิดชอบให้พ้นจากความผิดตามพ.ร.บ.โรงงาน หากจะยกเลิกจำเป็นต้องฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมทั้งในและนอกโรงงานกลับคืนสู่สภาพดีก่อน และที่ผ่านมาโรงงานกระทำผิดต่อเนื่องเป็นคดีหลายครั้งเช่น ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต การรั่วไหลของสารเคมี ชาวบ้านต้องแบกรับความเสียหายและต่อสู้มานานนับสิบปีจนกระทั่งมีคำพิพากษาในที่สุด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active