3 ปีการต่อสู้ ชัยชนะและบทเรียนสำคัญของชาวอมก๋อย

เยาวชนกะเบอะดิน ย้ำ การเคลื่อนไหวเมื่อ 3 ปีก่อน สะท้อนพลังแนวร่วมหลากหลายพื้นที่ และพลังชุมชนเข้มแข็งในจุดยืน “ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน” เสนอรัฐบาลควรหยุดส่งเสริมการใช้พลังฟอสซิลที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

28 ก.ย 2565 ถือเป็นวันครบรอบ 3 ปี การต่อสู้ของของชุมชนบ้านกะเบอะดิน และชาวอมก๋อยที่มีจุดยืนหนึ่งเดียวคือ “ไม่ต้องการเหมืองแร่ถ่านหิน”

พรชิตา ฟ้าประทานไพร เแกนนำเยาวชนบ้านกะเบอะดิน  กล่าวว่า ถ้าเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว ไม่ล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ทางบริษัทเอกชน อาจจะได้ใบประทานบัตรทำเหมืองแร่แล้ว การรวมตัวกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำให้บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพลังของคนอมก๋อยที่มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการปกป้องบ้านเกิด การรวมตัวของคนกว่า 2,000 คน มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ดังนั้น การที่เราสู้มาได้จนถึงทุกวันนี้ทำให้เราได้บทเรียนสำคัญ เห็นพลังคนอมก๋อย เห็นแนวร่วมจากหลากหลายที่ เห็นความเข้มแข็งของชุมชนตัวเอง เห็นความเข้มแข็งของเยาวชนที่มีจุดยืนหนึ่งเดียว คือไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน 

อย่างไรก็ตาม เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก มีแหล่งทุนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ครอบครอง รัฐบาลควรหยุดใช้พลังฟอสซิลที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและหยุดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่ป่า หากยังใช้พลังงานถ่านหินที่สร้างผลกระทบ ตนคิดว่ารัฐกำลังทำสิ่งที่มันย้อนแย้งกับคำพูด

กะเบอะดิน คือชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ อาศัยอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ของอำเภออมก๋อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านกะเบอะดินเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ลำห้วยที่ยังคงสมบูรณ์และล่อเลี้ยงคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประชากรทั้งหมด 483 คน (รวมหย่อมบ้านผาแดง) พื้นที่หมู่บ้านถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าอมก๋อย) เมื่อปีพ.ศ. 2518 หากนับจากปัจจุบันถูกประกาศไปแล้ว 47 ปี

พื้นที่ 284 ไร่ 30 ตาราวา ที่ถูกบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งขอจดทะเบียนประทานบัตรทำเหมืองแร่ตามคำประทานบัตรที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2553 บริษัทแห่งหนึ่งฯ ได้ให้บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ เป็นผู้ศึกษาจัดทำรายงานและนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทางบริษัทจัดทำขึ้น ชุมชน นักกฎหมาย นักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่านได้ศึกษาดู ค้นพบข้อพิรุธที่สามารถชี้ได้ในรายงานหรือเป็นข้อมูลเท็จหลายจุด เช่น พบลายมือชื่อของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พบรายชื่อซ้ำ พบรายชื่อของตัวเองที่ไม่ตรงตามบ้านเลขที่ บุคคลที่ไม่สามารถเขียนชื่อได้แต่ในรายงานกลับชื่อที่เขียนด้วยตัวเอง เป็นต้น นอกจากนั้นนักวิชาการได้เห็นว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวไม่คลอบคลุมในหลายเรื่อง เช่น การไม่ระบุถึงค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบระหว่างที่ดำเนินการขุดเหมือง

จำนวนพื้นที่ที่ถูกประกาศขอประทานบัตร เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ เช่น พื้นที่ทำนาขั้นบันได พื้นที่ปลูกพืชผลทางการเกษต มะเขือเทศ ฟักทอง ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของชาวบ้านที่ส่งออกตามตลาดต่าง ๆ การประกอบอาชีพเกษตรกรถือเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว และสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้ในแต่ละปี และยังสามารถส่งลูกหลานเรียนต่อในระดับสูงได้ ดังนั้นหากมีการขุดเหมืองขึ้นชุมชนต้องสูญเสียอาชีพหลักไปและที่สำคัญลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตต้องหยุดเรียนเพียงเพราะผู้ปกครองไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนต่อได้

หากย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำ ชาวบ้านกะเบอะดินได้ทราบข่าวสารจากเพจ : ส่องกล้องมองอมก๋อย ที่ เผยแพร่คำปิดประกาศจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งสุดท้ายตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ชาวบ้านกะเบอะดิน และชาวอมก๋อยจากหลากหลายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จึงลุกขึ้นมากปกป้องบ้านเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562 ชาวอมก๋อยและภาคีเครือข่ายต่างๆ จำนวน 2,000 กว่าคน รวมตัวกันแสดงพลังไม่เอาโครงการเหมืองแร่ถ่านหินและไม่ต้องการให้เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๆ ไม่สามารถดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อได้ เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายหลังจากนั้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต้องยื่นคำขอประทานบัตรให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการด้านแร่ได้พิจารณาต่อไป

หลังจากนั้นชาวบ้านกะเบอะดินและเยาวชนไม่นิ่งดูดายต่อโครงการนี้ จึงมีการแสวงหาและจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะยุติโครงการดังกล่าว เช่น การพัฒนาศักยภาพของเยาวชน การยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การอบรมกฎหมายสิทธิชุมชน การไปศึกษาดูงานจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และได้สำรวจจัดทำข้อมูลชุมชนที่เรียกว่า เครื่องมือการประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA) โดยมีการเปิดตัวหนังสือเครื่องมือการประเมินผลกระทบโดยชุมชน ขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 ณ ลานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อวันที่ 4 เมษยายน 2565 ชาวบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านทางผ่านรวมทั้งภาคีเครือข่าย จำนวน 200 กว่าคน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องคดีศาลปกครอง เรื่องขอเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คดีหมายเลขดำที่ ส.๑/๒๕๖๕ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ร่วมพูดคุยเสนอประเด็นฟ้องศาลเพื่อสร้างความเป็นธรรมและคืนสิทธิให้กับชุมชนบ้านกะเบอะดินและชุมชนใกล้เคียงที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

โดยการฟ้องศาลปกครองอาจจะไม่ใช่แนวทางการต่อสู้สุดท้ายของพวกเขา พวกเขายังคงเเสวงหาและแสดงจุดยืนอันแน่วแน่ต่อไปจนกว่าโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active