ไทยต้องมีกฎหมายเปิดเผย “การปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม”

ภาคประชาชน เผย ศึกษางานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ นาน 10 ปี ร่างกฎหมาย PRTR ยื่นประธานรัฐสภา หวังเดินหน้าตามกลไกนิติบัญญัติ ยืนยัน ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์หากกฎหมายผ่าน

วันนี้ (4 ก.ค. 2565) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมกันยื่นร่างกฎหมาย “การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR)” ต่อประธานรัฐสภา หลังร่วมกันศึกษาทั้งงานวิจัยและการติดตามปัญหามลพิษในประเทศนานกว่า 10 ปี พบว่า หลายประเทศที่มีการออกกฎหมายดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมได้ และนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตที่ยั่งยืน อีกทั้งปัญหามลพิษภายในประเทศนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง

มลพิษ สิ่งแวดล้อม

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า  กฎหมาย PRTR เป็นกฎหมายพื้นฐานที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดได้ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งจะช่วยหน่วยงานรัฐในการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบ เพราะจะต้องมีการรายงานว่ามีการปล่อยสารเคมีชนิดใดบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เคลื่อนย้ายไปไหน ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เอกชนจะได้ประโยชน์และบริหารจัดการได้ดีขึ้น

“กฎหมาย PRTR ไม่ใช่กฎหมายห้ามการปล่อยมลพิษ แต่เป็นการช่วยให้ทุกภาคส่วนมีฐานข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ขณะที่กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดให้รายงานการปลดปล่อยมลพิษเป็นเพียงการควบคุม ดูแลเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ขณะที่มลพิษนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและมีปัญหาต่อเนื่อง”

ด้าน อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่าหากมีกฎหมาย PRTR จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีน้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง ทุกหน่วยงานจะทราบปริมาณการปนเปื้อนของน้ำมันที่รั่วไหลออกสู่ภายนอกได้ทันทีโดยไม่ต้องร้องขอข้อมูลจากบริษัท ขณะที่เวลานี้ตัวเลขที่รั่วไหลก็ยังไม่ตรงกัน  เช่นเดียวกับกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ทุกหน่วยงานจะทราบทันทีว่ามีสารเคมีชนิดไหนรั่วไหลออกมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติอยู่หน้างานในการป้องกัน ระวังตัวเอง และการควบคุมอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้น

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุถึงสาระสำคัญในกฎหมายเพิ่มเติมว่า ร่างฯ ดังกล่าวจะมีคณะกรรมการการปล่อยมลพิษกำกับดูแล โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดูแล ติดตามตรวจสอบจากผู้ประกอบการทำข้อมูลที่เข้าใจง่ายให้ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งจะมีการรายงาน 1 ปี ต่อครั้ง และหากไม่มีการรายงาน ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายมีการปรับและรับโทษทางอาญา  

“การยื่นร่างกฎหมายภาคประชาชนครั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิทางตรงของภาคประชาชนในการเสนอกฎหมาย ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากนี้จะใช้เวลาในการพิจารณา 15 วัน หากเป็นร่างที่สมบูรณ์ถูกต้องตามหลักแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการเข้าชื่อกฎหมายต่อไป โดยจะมีหลายช่องทางให้ประชาชนที่ต้องการสนับสนุนสามารถเข้าชื่อได้”

มลพิษ สิ่งแวดล้อม

สำหรับกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิด และปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด มีกว่า 50 ประเทศทั่วโลกออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ อุตสาหกรรมและภาคประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส