ภาคประชาชน มองระบบเลือก สว. ชุดใหม่ ซับซ้อน กีดกันคนบางกลุ่ม

เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ วิเคราะห์ที่มา สว. แบบ “ให้เลือกกันเอง” ซับซ้อน ไม่ตอบโจทย์ความเชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มอาชีพ เชิญชวนให้ผู้มีคุณสมบัติร่วมสมัคร สว. เพื่อเข้าไปเป็นโหวตเตอร์ เอื้อให้เป็นการเลือกตั้ง สว. อย่างแท้จริง

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน ชุดแรกจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมีที่มาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. 2567

มีการคาดการณ์จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การเลือก สว. ชุดใหม่ จะมีผู้สมัครมากกว่า 1 แสนคน นอกจากนี้ ยังมีความซับซ้อนของกระบวนการคัดเลือก โดยการยอมรับจาก แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เองว่า “น่าจะเป็นอะไรที่ซับซ้อนที่สุดในโลกในการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญ”

ณัชปกร นามเมือง ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance) หรือ CALL ให้สัมภาษณ์รายการ อนาคตประเทศไทย Thai PBS เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 ถึงรูปแบบและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากระบบการเลือกตั้ง สว. แบบใหม่

ณัชปกร นามเมือง ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ

เมื่อพูดถึงระบบเลือกตั้ง สว. แบบใหม่นี้ ณัชปกร บอกว่า เป็นระบบที่ซับซ้อนและแทบเป็นระบบเลือกตั้งเดียวบนโลกนี้ที่ยังใช้กันอยู่ ระบบนี้ไม่นับเป็นระบบเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่เป็นระบบที่เรียกว่า “ให้เลือกกันเอง” คือใครอยากจะมีสิทธิ์เลือก สว. ต้องสมัครเข้าไปก่อน โดยมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มให้เลือก

ปัญหาของระบบนี้คือ 1) มีค่าสมัคร 2,500 บาท ทำให้เกิดการกีดกันผู้ที่มีรายได้น้อย 2) มีการจำกัดอายุ คือตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สิ่งนี้ทำให้คนที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ ณัชปกร ตั้งคำถามว่า คนที่อายุไม่ถึง 40 ปี พวกเขาไม่มีความคาดหวังต่อการทำงานในฐานะ สว. หรืออย่างไร ยกตัวอย่างจากตัวเขาเองที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี แต่ก็มีคาดหวังต่อบทบาทของ สว. ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ การโหวตเห็นชอบกฎหมายอื่น ๆ และที่สำคัญคือการคัดกรองบรรดาองค์กรอิสระ ซึ่ง ณัชปกร เห็นถึงความสำคัญตรงนี้แต่ไม่มีสิทธิ์เลือก จึงมองว่า ระบบควรทำขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม

“ยิ่งในยุคนี้เราพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหันมาสนใจการเมือง แต่ระบบกลับไม่ออกแบบมาให้ตอบสนองกับเสียงของคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ”

ณัชปกร นามเมือง

เมื่อพูดถึงวิธีการเลือกที่ให้เลือกแบบไขว้ คือให้เลือกคนจากกลุ่มอาชีพที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพตัวเอง ณัชปกร ตั้งสมมติฐานว่า หากตนเป็นคนที่ทำนามา 30 ปี เมื่อเข้ามาสู่ระบบการเลือก ระบบกลับให้ตนต้องไปเลือกคนที่ทำงานด้านกฎหมายมาไม่น้อยกว่า 10 ปี คำถามคือความเชี่ยวชาญของตนจะไปคัดกรองความเชี่ยวชาญของกลุ่มอาชีพอื่นได้อย่างไร ระบบนี้ถือเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ไม่ใช้ความเชี่ยวชาญของผู้สมัครให้เป็นประโยชน์ และยังกีดกันคนบางกลุ่มออกจากรับสมัคร ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือกมากเท่าไหร่นัก ระบบนี้จึงอาจจะยังเป็นระบบที่ไม่ตอบโจทย์

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาที่ไม่สมเหตุสมผลอันเป็นเหตุมาจากระบบเลือกตั้งนี้ มีข้อเสนอจากภาคประชาชน ให้ร่วมกันเชิญชวนให้ทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าไปสมัคร สว. กันเยอะ ๆ เพราะหากมีคนสมัครเข้าไปน้อย ระบบเลือกกันเองแบบนี้ จะเป็นระบบที่เอื้อให้ฝ่ายที่สามารถเกณฑ์คนเข้าไปได้มากเป็นฝ่ายชนะ เพราะฉะนั้น ทางออกคือการทำให้สนามการเลือกกันเองนี้ กลายเป็นสนามเลือกตั้งให้ได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนช่วยสมัครกันเข้าไปกันเยอะ ๆ 

จากการที่สังคมมีคาดหวังถึง สว. ชุดใหม่ ให้เข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างบรรยากาศถ่วงดุลระหว่างสภาบนกับสภาล่าง ณัชปกร บอกว่าถ้าอยากให้เกิดบรรยากาศนั้น ก่อนอื่นสังคมต้องสร้างวาระที่ว่า สว. ชุดใหม่ต้องมีหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เชิญชวนให้คนเข้าไปสมัคร สว. เยอะ ๆ หลังจากนั้นคัดกรองเอา สว. ที่มีจุดยืนในการผลักดันให้เกิดการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้ามาในสภา แล้วค่อยให้ สส. กับ สว. รวมถึงองค์กรอิสระและฝ่ายบริหาร มาออกแบบระบบถ่วงดุลร่วมกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active