‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านด่าน สว. วาระหนึ่ง!

สว. โหวตเห็นชอบ 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง พร้อมให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่างฯ 27 คน ภาคประชาชนร่วมเป็นตัวแทน 9 คน ขณะที่ สว. ยืนยัน บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ควรได้รับการรับรองคุ้มครองสิทธิการสมรส สร้างครอบครัว

วันนี้ (2 เม.ย.67) ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่หนึ่ง หลังผ่านการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมวุฒิสภา โหวตสมรสเท่าเทียม ผ่านวาระ 1 ด้วยคะแนน 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 27 คน เพื่อพิจารณาร่างฯ ในวาระที่สอง

อรรณว์ ชุมาพร

อรรณว์ ชุมาพร ตัวแทนประชาชนผู้เสนอร่างสมรสเท่าเทียม ชี้แจงก่อนการพิจารณา ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) เป็นอย่างมาก จะเปลี่ยนให้เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียม และเป็นธรรม ยืนยันว่า ไม่ได้เสนอกฎหมายฉบับนี้ เพราะอยากจะได้อะไรมากไปกว่าคู่สมรสทั่วไป แต่เสนอกฎหมายฉบับนี้ เพราะเจ็บปวดที่หลายคู่ชีวิตที่เป็นคู่ LGBTQIAN+ ได้เผชิญหน้ากับการสูญเสีย โดยไม่สามารถที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ และทำให้สามารถที่จะตั้งครอบครัวได้

สำหรับการจัดตั้งครอบครัวมีความสำคัญในเรื่องการทำธุรกรรมทุกรูปแบบ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ การดูแลการรักษาพยาบาล เกี่ยวข้องกับการดูแลบุตร ซึ่งแน่นอนว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน อาจจะสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ แต่ภาคประชาชนยังคาดหวังว่าการแก้ไขร่างฯ จะยังส่งผลเพื่อจะให้การรับรองเรื่อง บุพการีลำดับแรก ส่งผลให้สามารถทำได้ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ที่ภาคประชาชนเสนอ

“ขอเชิญ สว. ทุกท่านที่จะสนับสนุนการเดินทาง และการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวการทำงานสำหรับการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นกฎหมายฉบับแรกของเซาท์อีสต์เอเชีย เพื่อให้เราได้มั่นใจว่าประเทศนี้อยู่ในสังคมนานาอารยประเทศอย่างภาคภูมิใจ”

อรรณว์ ชุมาพร
ภาคภูมิ พันธวงศ์

ขณะที่ ภาคภูมิ พันธวงศ์ ตัวแทนภาคประชาชนอีกคน ระบุว่า วันนี้รู้สึกดีใจ ถึงแม้หลายคนมองว่าประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในระบบรัฐสภา แต่สิ่งที่ภาคประชาชนมาในวันนี้เพื่อมาแสดงว่าสิทธิในเรื่องของ LGBTQIAN+ รวมถึงสิทธิในเรื่องการเป็นคู่สมรสโดยชอบธรรมตามกฎหมายนั้นคือสิทธิมนุษยชน ที่จะส่งผลต่อ LGBTQIAN+ ที่มีมากกว่า 10% ของประเทศ ทั้งยังยุติการละเมิดในเรื่องการบังคับแต่งงานในเด็ก มีสิทธิสถานะตามคู่สมรสทางกฎหมาย มีการจัดการทรัพย์สินร่วมกันในยามที่คู่รักกำลังลำบาก หรือล้มหายตายจากกันไป เขาสมควรที่ได้สิทธิ์นั้นมา

แม้ว่าในชั้น สส. ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีการรับรองข้อเสนอของภาคประชาชนในการบัญญัติคำว่า บุพการีลำดับแรก เพื่อที่จะเคารพครอบครัวเพศหลากหลายทุก ๆ อัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อ-พ่อ, แม่-แม่, พ่อ-บุพการี, แม่-บุพการี, หรือ บุพการี-บุพการี สิ่งนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้นำมาเข้ามาในการเสนอของวุฒิสภา แต่ภาคประชาชนก็จะสัญญากับประชาชนคู่รักเพศหลากหลายทุกคน ว่าเราจะทำเรื่องนี้ทำแล้วทำอยู่ ทำต่อไปอย่างไม่ยอมแพ้

“ขอฝากเวทีนี้และฝากอนาคตของพวกเราไว้ให้กับท่าน สว.ทุก ๆ ท่าน และการอนุมัติของท่านในวันนี้มันสำคัญกับชีวิตของพวกเราอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่ในสังคมไทยที่จะก้าวหน้าในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ แต่ประชาคมโลกกำลังจะอ้าแขน โอบรับต้อนรับประเทศไทยในฐานะประเทศที่ให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นธรรมทางเพศ ว่าด้วยการมีสมรสท่าเทียมในฐานะของประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชีย”

ภาคภูมิ พันธวงศ์

ขณะที่ตัวแทนของ สว. ได้รับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ศึกษาไว้ล่วงหน้า เช่น กรรมาธิการการกฎหมาย, กรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน โดย ปัญญา งานเลิศ สว. ในฐานะประธานกรรมการศึกษาเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งได้ศึกษาไว้ล่วงหน้า แถลงรายละเอียดว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมการปกครอง รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียด ซึ่งกำหนดกรอบระยะไว้ ทั้งนี้ในรายละเอียดจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ครอบครัว ที่ต้องใช้เวลา และเสนอต่อสภาฯ หากขยายเวลาได้จะมีความรอบคอบมากขึ้น

ปัญญา กล่าวด้วยว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อาจกระทบต่อผู้ที่นับถือ ศาสนาคริสต์ และ อิสลาม ที่ยึดปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ดังนั้นควรกำหนดหลักเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรับหน้าที่จดทะเบียนสมรสบุคคลเพศเดียวกัน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนาและชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่รับจดทะเบียนเพศเดียวกันถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม

ขณะที่ ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม สว. ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ กล่าวว่า ในรายละเอียดพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับ กฎหมายอื่นๆ อีก 47 ฉบับ ดังนั้นหากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กำหนดให้แก้ไขโดยอัตโนมัติ อาจทำให้ไม่ครบคลุม ไม่สอดคล้องกับเจตนารมของกฎหมายอื่น ๆ เช่น ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 102 กำหนดให้ผู้มีตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงของคู่สมรส ที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. หมายถึง ผู้อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา สถานะครอบครัว ขณะเดียวกันการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีระยะเวลาใช้บังคับกฎหมายไว้ 180 วัน กรรมาธิการมองว่า หากทอดเวลาอีกระยะจะทำการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ละเอียดรอบคอบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อนุพร อรุณรัตน์

อนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส แถลงรายงานการพิจารณาร่างฯ ระบุว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ควรได้รับการรับรองคุ้มครองสิทธิการสมรส ได้แก่ สิทธิตามหน้าที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัว, การอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน, สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม, สิทธิในการประกันสังคม, สิทธิในทางทรัพย์สิน, สิทธิในการให้และการรับมรดก, สิทธิหักค่าลดหย่อนภาษี, สิทธิการลงนามยินยอมรักษาพยาบาล และ สิทธิตามกฎหมายลักษณะละเมิดที่ต้องดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เพื่อให้ครอบคลุมคู่สมรสทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ 2 เรื่องอายุขั้นต่ำในการหมั้นหรือการสมรสควรที่จะเพิ่มกฎเกณฑ์เป็นอายุ 18 ปี เพื่อเพิ่มความสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเยาวชนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาตรฐานสากล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาการบังคับเด็กหรือเยาวชนหมั้นหรือแต่งงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งหากเป็นการตั้งครรภ์ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และอาจทำให้เด็กออกจากการศึกษากลางคัน

ประเด็นที่ 3 การยอมรับความหลากหลายทางเพศในการก่อตั้งครอบครัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองให้ได้รับการเคารพในสิทธิและสามารถแสดงบทบาทของตนได้เองในสังคมตามความเหมาะสม ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิบุคคลอื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายให้แก่ประชาชนให้ได้รับทราบอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ส่งเสริมไม่ให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากอัตลักษณ์ทางเพศ และวิถีทางเพศของบุคคล เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ตลอดจนการลดความเกลียดชัง และลดทอนคุณค่าของมนุษย์

ประเด็นที่ 4 การสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในบ้าน การสร้างการยอมรับจากครอบครัวการสร้างสังคมที่ยอมรับทุกความแตกต่าง ย่อมมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่กำลังเจริญเติบโตที่ต้องเผชิญกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยปัญหาความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจจากครอบครัวและสังคม ปัญหาความเกลียดชัง ปัญหาการถูกกีดกันจากการทำให้รู้สึกแปลกแยกแตกต่างจากคนอื่นในสังคม ปัญหาการด้อยค่าจากการเป็นมนุษย์ การถูกนำไปล้อเลียนหรือเล่นมุกตลกที่เต็มไปด้วยคุณค่าความเหยียดหยามการทำร้ายสร้างสังคมที่เคารพการเจริญเติบโตทุกช่วงวัย

ประเด็นที่ 5 การศึกษางานวิจัยเรื่องดังกล่าว พบว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเด็นประเทศไทยนั้นต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ อันเป็นผลมาจากข้อกฎหมายระเบียบและกฎเกณฑ์ของสถาบันต่าง ๆ ดังนั้นการออกกฎหมายรับรองสมรสจะเป็นการแก้ปัญหาความเสียเปรียบในการใช้ชีวิตคู่ การสร้างความเสมอภาคให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายตามเพศตามหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ หลักสิทธิมนุษยชน หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหลักความเสมอภาคของบุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างด้านเพศของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสิทธิใหม่ให้แก่บุคคลควรจะกระทำด้วยความระมัดระวัง โดยจะต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดกระทบต่อสิทธิที่มีต่อเจ้าของเดิมอยู่ หรือสิทธิเดิมการออกกฎหมายเพื่อสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยจะไม่ก่อให้เกิดสิทธิพิเศษแก่ผู้ที่เข้ามาใหม่  

“การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนับเป็นวิธีการบูรณาการกฎหมายที่ดี เนื่องจากช่วยในการปรับปรุงต่อยอดข้อดี ข้อต้องห้ามจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับบริบท และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง รวมถึงการกำหนดมาตรการเยียวยาและคุ้มครองผู้เสียสิทธิ์ที่อาจจะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยให้กฎหมายใหม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

อนุพร อรุณรัตน์

เสรี สุวรรณภานนท์ สว. มองว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญที่หลายคนรอคอย และให้ความสนใจ ยืนยันว่า ตนเองสนับสนุน กฎหมายฉบับนี้ แต่ สว. จะพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ใช่ตามกระแสสังคม พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ในสังคมเดียวกัน อย่างยั่งยืน และมีความสุข หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ต้องมีการรวบรวมปัญหา และ อุปสรรค มาปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และ ป้องกันปัญหาที่อย่างจะเกิดขึ้นตามมา เช่น ให้มีการอยู่ด้วยกันก่อน อย่างน้อย 6 เดือนก่อน มีการจดทะเบียนสมรส

พล.ต.ท.สานิตย์ มหถาวร สว. อยากให้กรรมาธิการปรับแก้ ช่วงอายุในการสมรส เป็น 20 ปีจากเดิม 18 ปี เพื่อป้องกันปัญหาสังคมที่จะตามมา เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ และ อยากให้กฎหมายฉบับนี้ มีผลทันทีไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อย ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้อยู่ ได้ใช้กฎหมายนี้โดยเร็วที่สุด ส่วนกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องแก้ไขตาม คิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เช่น การเปลี่ยนแบบฟอร์ม ในระบบราชการเป็นต้น

รวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สว. มีความห่วงกังวล ในประเด็นการรับบุตรบุญธรรม ว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีสิทธิเท่าเทียมกับเด็กทั่วไปหรือไม่ เช่น สิทธิการเบิกค่าเล่าเรียน, ค่ารักษาพยาบาล, มรดก, เพราะจากที่ตรวจสอบในกฎหมายยังเขียนไว้ไม่ชัดเจน

ขณะที่ เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรัฐบาล ย้ำว่า การนำเสนอกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ให้มีการจดทะเบียนของ คน 2 คน ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้น ส่วนบุตรบุญธรรม เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.รับบุตรบุญธรรมที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบส่วนสิทธิของเด็ก เป็นกฎหมายสิทธิของบุตร และบุตรบุญธรรม ที่ต้องไปดำเนินการต่อ โดย กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงสิทธิของบุตรบุญธรรม

ในการอภิปรายของ สว. ยังแสดงความกังวลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใน 180 วัน ในร่างมาตรา 68 ที่กำหนดให้หน่วยงานทบทวนร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภายใน 180 วัน ซึ่งกังวลว่า อาจจะเป็นระเบิดเวลาและทำให้มีปัญหาเพราะไม่ใช่เกี่ยวกับชายและหญิงเท่านั้น แต่หมายถึงการสมรส นอกจากนั้นในสิทธิรับบุตรบุญธรรม ที่ต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะ ไม่ใช่บุคคลเพศเดียวกันที่สมรสกันในอายุ 18 ปีแล้วมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมได้ รวมถึงการอุ้มบุญที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ

ภายหลังรับหลักการ ที่ประชุมได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาฯ จำนวน 27 คน ประกอบด้วยสัดส่วนของ สว. ครม. และ ภาคประชาชน โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนทั้งสิ้น 9 คนเป็นตัวแทน ทั้งนี้มีรายงานว่าการพิจารณาวาระสองของวุฒิสภานั้น จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัยหน้า ในเดือน ก.ค.67

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active