“แม่ทัพภาคที่ 4” คุย กมธ.สันติภาพ พร้อมปรับบทบาท เปิดทางพูดคุยสันติสุข

“จาตุรนต์” ชี้ฝ่ายความมั่นคง ใช้กฎหมายเข้ม แค่เส้นบาง ๆ ระหว่างลดความรุนแรง กับ ยิ่งสุมไฟขัดแย้ง ยันต้องหาจุดสมดุล

วันนี้ (20 ม.ค. 67) วันสุดท้ายของเวทีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ ที่ จ.ปัตตานี คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ได้เชิญกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง มาแลกเปลี่ยนมุมมอง

มูฮัมหมัด มะเซ็ง นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

มูฮัมหมัด มะเซ็ง นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งคำถามว่า ในเวลานี้คำว่าสันติภาพยังเป็นหนึ่งในความหวัง เป็นภาพฝัน ให้กับพื้นที่ชายแดนใต้ได้มากแค่ไหน เพราะยังไม่เห็นเลยว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในนามของนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ สัมผัสได้เลยว่า การเปิดพื้นที่ให้เกิดสันติภาพถูกแทรกแซงจากหน่วยงานความมั่นคงมาตลอด อย่างกรณี การทำแบบสอบถามประชามติ ซึ่งใช้ ม.อ.ปัตตานี เป็นพื้นที่กลาง แต่ผลกระทบก็ยังเดินทางมาจนถึงวันนี้ ยังเกิดกระบวนการแทรกแซงของหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่มหาวิทยาลัย ทุกครั้งที่มีกิจกรรมมีทหารถือปืนมายืนล้อมนักศึกษา จนถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม จึงไม่ต้องพูดถึงสันติภาพ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่กลางอย่างมหาวิทยาลัย โดยฝ่ายความมั่นคงบีบ ไม่ให้เกิดการขับเคลื่อน

“คนในพื้นที่ไม่ใช้ถูกบูลลี่เรื่องสีผิว แต่เป็นการบูลลี่เชิงอาชญากรรม อย่างพอเราไปนอกพื้นที่ ก็โดนถามว่า มาจากชายแดนใต้เป็นคนส่งระเบิดไหม สิ่งนี้กลายเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งในภัยคุกคามเชิงพื้นที่ ที่นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพื้นที่” 

มูฮัมหมัด มะเซ็ง

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ตั้งคำถามด้วยว่า การพูดคุยหารือของกรรมาธิการฯ เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสันติภาพได้มากน้อยแค่ไหน ผลกระทบของนักศึกษา นักวิชาการ เมื่อไม่มีพื้นที่ปลอดภัย แล้วตรงไหนถึงจะคุยกันได้ อะไรบ้างที่กรรมาธิการฯ จะทำให้เกิดความหวังอีกครั้ง

พร้อมกันนี้นักกิจกรรม สะท้อนด้วยว่า หลักคิดของฝ่ายความมั่นคงมักจะเพ่งเล็งกลุ่มนักกิจกรรมเป็นผู้ร้ายตลอดเวลา การแสดงออกผ่านพื้นที่สาธารณะต้องทำภายใต้กฎหมายที่มองว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรมของนักกิจกรรมในพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น กรณี “เพจพ่อบ้านใจกล้า” โดย ซาฮารี เจ๊ะหลง ถูกดำเนินคดีโดยดีเอสไอ ภายหลังระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่ถูวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีมากถึง 91 คน

ขณะที่การทำงานของสื่อในพื้นที่ ตัวแทนสำนักสื่อวาตานี ซึ่งถูกดำเนินคดีความมั่นคง ก็สะท้อนว่า ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของขบวนการฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจ และสร้างความสมดุล ในลักษณะที่สามารถสื่อสารปัญหาเชิงพื้นที่ได้จริง

พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เข้าพบ พูดคุยกับ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

ฝ่ายความมั่นคง รับปรับบทบาทเดินหน้าพูดคุย “สันติสุข”

ภายหลังกรรมาธิการฯ รับฟังเสียงสะท้อนจากนักกิจกรรมทางการเมือง วันนี้กลุ่มสุดท้ายที่ถูกเชิญเข้าร่วมพูดคุยรับฟังความเห็น คือ หน่วยงานความมั่นคง นำโดย พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.ต.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และคณะ

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เปิดเผยหลังการหารือนานกว่า 2 ชั่วโมงว่า เป็นโอกาสดีที่ได้คุยกับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุย หลังจากนี้ต้องหารือให้สอดคล้องแผนการพูดคุย โดยเฉพาะการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อกับการพุดคุย การเปิดพื้นที่การเมือง เพราะมีข้อห่วงใยมามากกับการดำเนินคดีนักกิจกรรม ทุกฝ่ายอยากให้เปิดพื้นที่การเมืองมากกว่านี้ เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมากลับพบการบังคับใช้กฎหมายที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งไม่สอดคลองกับแนวทางการพูดคุยสันติภาพ

“ฝ่ายความมั่นคง พยายามบอกว่า เป็นการทำหน้าที่ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเส้นบาง ๆ ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดความรุนแรง หรือ เพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดความไม่สงบมากขึ้น ดังนั้นการพูดคุยจะต้องหาจุดที่พอดี ก็คล้าย ๆ กับคลื่นความถี่ที่อาจไม่ตรงกัน จึงต้องจูนเข้าหากัน การพูดคุยต้องเปิดพื้นที่เรื่องนี้ให้คิดเห็นตรงกัน”

จาตุรนต์ ฉายแสง

ขณะที่ แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า จริง ๆ แล้ว การได้พูดคุยทำให้เห็นเป้าหมายว่ากองทัพเห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุย สำหรับสิ่งที่กรรมาธิการฯ เสนอ ก็ต้องนำไปปรับแก้ไขสำหรับการปฏิบัติงานเช่นเดียวกัน

ส่วนการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมนั้น พล.ท.ศานติ ยืนยันกับกรรมาธิการฯ ว่า สิ่งที่กองทัพทำเป็นไปตามพยานหลักฐาน และทำตามกฎหมาย หากนักกิจกรรมบริสุทธิ์ใจ สามารถต่อสู้ได้ตามกระบวนการต่อไปได้ เมื่อถามว่าจะนำไปสู่การถอนคดีความได้หรือไม่ แม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า ทำตามกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“หยุดแบ่งแยกเราด้วยกฎหมายพิเศษ” เยาวชน วอนรัฐ “คืนชีวิตปกติ” จุดเริ่มสร้าง “สันติภาพ”

“กมธ.สันติภาพ” เล็งเสนอด่วนถึงรัฐบาล ยับยั้งกรณีละเมิดสิทธิ ขวางทาง “สันติภาพ”

“เครือข่ายชาวพุทธ” สะท้อน สันติภาพชายแดนใต้ ยังไร้อนาคต


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active