“กมธ.สันติภาพ” เล็งเสนอด่วนถึงรัฐบาล ยับยั้งกรณีละเมิดสิทธิ ขวางทาง “สันติภาพ”

ประชาชนสะท้อน ช่องว่างกฎหมายพิเศษ กระทบสิทธิเสรีภาพ สกัดกั้นพื้นที่แสดงออกด้วยสันติวิธี พบกรณีตรวจค้น จับกุม ปัญหาผู้ต้องขังพ้นโทษคดีความมั่นคง ผู้ได้รับผลกระทบความไม่สงบไร้เยียวยาครอบครัว สวนทางเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ

วันนี้ (19 ม.ค. 67) เวทีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ ที่ จ.ปัตตานี โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ในช่วงบ่ายวันนี้ ได้เชิญตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้ และตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมพูดคุย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เครือข่ายชาวพุทธ” สะท้อน สันติภาพชายแดนใต้ ยังไร้อนาคต

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เปิดเผยข้อสรุปเบื้องต้นจากการรับฟังความเห็นตลอดทั้งวันนี้ พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ทำให้รู้สึกเป็นห่วง วิตกกังวล เพราะว่าหลายอย่างมีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะการพูดถึงประเด็นการเยียวยาที่ไม่เท่าเทียม ไม่เพียงพอ สำหรับคนบางกลุ่มหลุดออกจากระบบไปเลย ทำให้เข้าไม่ถึง อีกทั้งประเด็นผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน ที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ หลายคนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก โดยเฉพาะช่องว่างของกฎหมายพิเศษ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ที่แสดงออกโดยสันติวิธี ซึ่งถือว่าสวนทาง และไม่เป็นผลดีกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ ซึ่งตลอดทั้งวันมีหลายองค์กรที่รวบรวมข้อมูลส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมาไม่มีช่องทางนำเสนอต่อรัฐบาล ถูกปิดกั้น โอกาสการชี้แจงของประชาชน ซึ่งกรรมาธิการฯ จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไปศึกษา และทำข้อเสนอส่งต่อไปยังสภาฯ และรัฐบาล เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว

จาตุรนต์ ย้ำว่า ในเร็ว ๆ นี้ หรือ ช่วงสัปดาห์หน้า จะรวบรวมประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนได้รับผลกระทบ เสนอต่อรัฐบาล ให้ช่วยยับยั้ง ลดความเดือดร้อนของประชาชน ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง และเพื่อส่งเสริม เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้น

“ไม่ใช้แค่เรื่องคดีชุมนุมชุดมลายู แต่หมายถึงการละเมิดสิทธิระหว่างตรวจค้นจับกุม ปัญหาผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่พ้นโทษ การขาดการเยียวยา การวิสามัญฆาตกรรมที่มีสถิติน่าเป็นห่วงมากขึ้น เรื่องที่เกิดกับสตรี ต้องการให้เกิดการเยียวยา รวมถึงการดำเนินการของกลุ่มที่ต้องการทำกิจกรรมในเชิงสันติวิธี แต่ถูกระงับ ขัดขวาง ห้ามไม่ให้ทำ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด เท่ากับบอกว่าเคลื่อนไหวอย่างสันติไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร ในช่วงเวลาที่รัฐบาลจะไปคุยกับผู้เห็นต่างในต่างประเทศ ก็ยังไปเจรจาได้ แต่กับคนในประเทศที่ต้องการพื้นที่เคลื่อนไหวปกติ กลับถูกผลักออกจากระบบ ก็ต้องจัดทำข้อเสนอเร่งด่วนไปถึงรัฐบาลให้ช่วยยับยั้งเรื่องเหล่านี้”

จาตุรนต์ ฉายแสง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active