“หยุดแบ่งแยกเราด้วยกฎหมายพิเศษ” เยาวชน วอนรัฐ “คืนชีวิตปกติ” จุดเริ่มสร้าง “สันติภาพ”

ระบุ “ด่านตรวจ” ละเมิดสิทธิ เด็ก เยาวชนชายแดนใต้ ชี้เป็นอุปสรรคการใช้ชีวิต เสนอเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้แสดงออก มีส่วนร่วมออกแบบอนาคต หวังรัฐบาล – โต๊ะเจรจา หยิบข้อเสนอเยาวชนไปปฏิบัติจริง  

วันนี้ (20 ม.ค. 67) วันที่ 2 ของเวทีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ ที่ จ.ปัตตานี โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) เชิญตัวแทนเด็ก เยาวชนกลุ่มต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนมุมมอง

ฟาอิก กรระสี สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้

“ด่านตรวจ” อุปสรรค ละเมิดสิทธิเยาวชน

ฟาอิก กรระสี จากสมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ เปิดเผยกับ The Active ว่า สิ่งที่เยาวชนในพื้นที่สะท้อนถึงมากที่สุดคือผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวัน เยาวชนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกต่าง ๆ กฎหมายพิเศษทำให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อกฎหมาย แม้เข้าใจว่ารัฐต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ จะช่วยแก้ได้หรือไม่นั้นก็ยังเป็นคำถาม แต่ที่เห็นชัดเจนแล้วก็คือการมาของกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ต้องมอง 2 ด้าน โดยเฉพาะด้านของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของประชาชน 

อย่างการมีด่านตรวจ ด่านความมั่นคงต่าง ๆ พบว่า ที่ผ่านมา เด็กก็ถูกละเมิดสิทธิจากด่านตรวจเหล่านี้ เช่น การเรียกถ่ายบัตรประชาชน ถ่ายรูป ถูกสัมภาษณ์ สอบถามทั้งที่บางครั้งเด็ก เยาวชนไม่สมัครใจที่จะให้ข้อมูล นอกจากนั้นยังมีการจับตรวจเลือด ตรวจ DNA ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเยาวชนอย่างชัดเจน

“แทนที่กฎหมายพิเศษจะหนุนเสริมสันติภาพ กลายเป็นทำให้เยาวชน และประชาชนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ เพราะทีแรกคู่ขัดแย้งคือ รัฐ กับ ขบวนการ แต่ตอนนี้คู่ขัดแย้งกลายมาเป็น ประชาชน กับ รัฐ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือกฎหมายที่ไม่เอื้อให้กับการสร้างสันติภาพ ในหลายชุมชนเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถชนกันที่ด่านตรวจหลายต่อหลายเหตุการณ์ ก็ชัดเจนว่าประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง บางด่านมีทรายโรยด้านหน้า ประชาชนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสร้างความยากลำบากให้การใช้ชีวิตขนาดนี้ เช่นเดียวกับคนภายนอกที่มาในพื้นที่ต่างก็หวาดระแวงเพราะเห็นด่านตรวจเต็มไปหมด”

ฟาอิก กรระสี

ขยับคุณภาพการศึกษาชายแดนใต้ สู่โอกาส “สันติภาพกินได้”

นอกจากผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแล้ว ประเด็นการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ ฟาอิก สะท้อน เขามองว่า ถ้าสันติภาพขยับได้จริง นั่นหมายความว่าการศึกษาในพื้นที่จะต้องขยับตาม แต่เท่าที่เห็นและสัมผัสได้จากผลการวิจัย การศึกษาของหลายหน่วยงาน ก็ทำให้ต้องยอมรับความจริงว่าการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ยังรั้งท้ายทุกการสำรวจ แม้มีงบประมาณทุ่มลงมาในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนมาก แต่ก็ถูกทุ่มลงไปกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่การสร้างโอกาสการศึกษา เพื่อให้เป็นทางออกของสันติภาพกินได้ ก็น่าจะต้องทำควบคู่กันไปด้วย

ซูฟียาน ลือแบซา ตัวแทนจากกลุ่ม Youth IPP

รัฐ – กฎหมายพิเศษ ตัวการ “แบ่งแยก” ชายแดนใต้

ขณะที่ ซูฟียาน ลือแบซา ตัวแทนจากกลุ่ม Youth IPP (Insider Peace building Platform) หรือเครือข่าย “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” สะท้อนมุมมองว่า เวลานี้รัฐกำลังจำกัดทุกอย่างในพื้นที่ แม้สังคมจะมองว่าคนรุ่นใหม่ที่นี่อยากพูดแต่เรื่องแบ่งแยกดินแดนซึ่งแน่นอนว่ารัฐไม่ให้พูดเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่อีกมุมก็ต้องยอมรับว่า จริง ๆ แล้ว รัฐเองต่างหากที่ทำให้คนในชายแดนใต้ถูกแบ่งแยกไปด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ

“รัฐไม่อยากให้คนพูดเรื่องแบ่งแยกดินแดน แต่สิ่งที่รัฐกระทำกับเราคือแบ่งแยกเราไปแล้ว สร้างกฎหมายพิเศษมาแบ่งเรา เอาทหารมาอยู่ในสวนยาง ตั้งฐานทัพอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน ในชุมชน ทำให้พื้นที่ชายแดนใต้ไม่เหมือนที่อื่น ๆ ในประเทศ ตรงนี้มันถูกแบ่งแยกไปแล้ว ประชาชนเขารู้สึกแบบนั้น ทุกอย่างที่รัฐทำไม่มีอะไรดีขึ้นเลยมีแต่กระทบการใช้ขีวิต ชาวบ้านรู้สึกกลัว หวาดระแวง”

ซูฟียาน ลือแบซา

นอกจากนั้นยังเห็นว่า เยาวชน คนรุ่นใหม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยที่ค่อนข้างจำกัด การจะเปิดเวที เปิดพื้นที่สนทนาสาธารณะ ก็กลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย โดนหมายเรียก โดนผู้ใหญ่ห้ามทำ ห้ามนำเสนอ ห้ามพูดคุย ห้ามแสดงความเห็นการเมือง สิ่งเหล่านี้รัฐปิดกั้นทั้งหมด เยาวชนขอเพียงการได้มีส่วนร่วมกับการแสดงความเห็นอย่างปลอดภัย ถูกกฎมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ส่วนมุมมองต่อโอกาส ความหวัง และข้อเสนอต่อกระบวนการสร้างสันติภาพนั้น ฟาอิก ระบุว่า ตนยังมีความหวังมาก ๆ และเชื่อมาตลอดว่า สักวันสันติภาพจะเกิดขึ้น เพราะอนาคตเยาวชนที่นี่ก็ไม่อยากจากบ้านเกิดไปไหน อยากเติบโตขึ้นมาอยู่กันพร้อมหน้ากับครอบครัว แต่พอมองที่โลกแห่งความจริงต้องยอมรับว่า ความหวังริบหรี่ มืดมนมาก ๆ หากถามว่าจะเปลี่ยนความหวังเป็นความจริงอย่างไร สำคัญที่สุดคือขอให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมออกแบบสันติภาพด้วยจะได้หรือไม่ 

“จะเป็นเอกราชไหม ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนที่นี่เป็นคนไทย เพียงแต่มีอัตลักษณ์ของเชื้อชาติมลายู เราต้องการแบบไหน ต้องการอะไร ก็อยากให้ฟังเสียงพวกเราบ้าง ให้เยาวชนได้ร่วมออกแบบ อย่างในกรรมาธิการฯ ก็อยากให้มีเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมบ้างเพราะที่นี่ ก็ต้องสร้างไว้ให้กับเยาวชนได้ใช้ชีวิตในอนาคต”

ซูฟียาน ลือแบซา

หวังข้อเสนอเยาวชน ขึ้นโต๊ะเจรจา

ฟาอิก ยังเชื่อว่า เวทีพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่าง ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพิธีการเท่านั้น เพื่อให้รู้ว่ามี แต่ไม่รู้ว่าข้อเสนอที่เยาวชนพูดคุยกันไม่รู้กี่เวที พูดกันไปเยอะมาก ก็ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีกลไกกำกับติดตามข้อเสนอ จะไปอยู่บนโต๊ะเจรจาด้วยหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ถ้ายังเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งเป็นกลไกลดความหวังประชาชน เพราะสุดท้ายทำไม่ได้ ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นำข้อเสนอต่าง ๆ จากประชาชนไปใช้จริง

เช่นเดียวกับ ซูฟียาน ที่เสนอว่า หากรัฐยังอยากให้ประชาชนคาดหวัง ก็ต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้การแสดงออกอย่างสันติทางการเมือง ทางอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นจริง หากรัฐเปิดพื้นที่หรือรับฟังเสียงของเยาวขนในพื้นที่ว่าต้องการอะไร ตอนนี้ก็ยังพอมีหวัง

“ขอให้กระบวนการต่อสู้ การสร้างสันติภาพเกิดจากคนรุ่นผม เพื่อให้ลูก ๆ หลาน ๆ ของผม คนรุ่นต่อไปได้มีสันติภาพจริง ๆ สักที พวกเขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติ ซึ่งมันควรมีสันติภาพได้แล้ว เพื่อลูกหลานของเรา”

ซูฟียาน ลือแบซา

“เข้าใจว่าโลกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความขัดแย้งไม่ได้แก้ได้ 100% แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทำคู่กันไปคือ ต้องพยายามสร้างสันติภาพในชีวิตประจำวันด้วย คือต้องใช้ชีวิตแบบเข้าใจการอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างหลากหลาย ซึ่งกลไกรัฐตอนนี้ แสดงให้เห็แต่ความขัดแย้ง กลบสันติภาพไปหมด ถ้าอยากสร้างสันติภาพถาวร ก็ต้องสร้างตั้งแต่เด็ก เยาวชน ถ้าทำให้พวกเขาอยู่กับบรรยากาศแห่งสันติภาพไปเรื่อย ๆ พวกเขาก็จะเติบโตมาพร้อมกับสันติภาพ”

ฟาอิก กรระสี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กมธ.สันติภาพ” เล็งเสนอด่วนถึงรัฐบาล ยับยั้งกรณีละเมิดสิทธิ ขวางทาง “สันติภาพ”

“เครือข่ายชาวพุทธ” สะท้อน สันติภาพชายแดนใต้ ยังไร้อนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active