“ก้าวไกล” อัดงบฯ 67 ไร้ยุทธศาสตร์ “เหล้าเก่าในขวดใหม่”

“ชัยธวัช” ซัด รัฐบาลเศรษฐา จัดงบฯ ขาดตัวชี้วัดชัดเจน ขณะที่ “ศิริกัญญา” ตั้งคำถามงบฯ ฉบับประชาชน ตัวเลข GDP รัฐบาลโชว์เติบโตผิดปกติ ตั้งข้อสังเกตคิดเลขแบบโกงสูตร ไม่รวมเงินเฟ้อ ไร้งบฯ “ดิจิทัลวอลเล็ต”

วันนี้ (3 ม.ค. 67) วันแรกของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ่านรายละเอียดในงบประมาณเสร็จสิ้น พรรคก้าวไกล ในฐานะฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดฉากอภิปรายเป็นคนแรก

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นอภิปรายถึงภาพรวมการจัดทำงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลเศรษฐา โดยมองว่า เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีลำดับความสำคัญ เหมือนรัฐบาลทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน

โดยเล่าย้อนเหตุการณ์ไปในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ สถานการณ์ของประเทศวันนี้ มี 3 วิกฤตสำคัญ คือ 1. วิกฤตรัฐธรรมนูญ 2. วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน 3. วิกฤตความขัดแย้งในสังคม เพื่อแก้ปัญหาสร้างความพร้อมและวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน

รัฐบาลมีกรอบนโยบายการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน คือ กรอบระยะสั้น รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว กรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน

ซัดงบฯ 67 รัฐบาลเศรษฐา “เหล้าเก่าในขวดใหม่”

ชัยธวัช ยังระบุในสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้อภิปรายท้วงติง ว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงไว้ ไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นนายกฯ ได้เลี่ยงตอบ และให้รอดูแผนรายกระทรวงว่าจะมีความชัดเจนอย่างแน่นอน แต่เมื่อดูแผนรายกระทรวง กลับพบปัญหามากมาย ทั้งไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ และหลายโครงการพบว่าเป็นโครงการเดิม ๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้วทุกปี

“เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ บ้างก็แอบยัดโครงการประจำของกระทรวงเข้ามา แล้วสวมรอยเป็นหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลจะทำ สร้างความสะเปะสะปะกันระหว่างสิ่งที่รัฐบาลจะทำ กับ สิ่งที่เป็นงานประจำที่หน่วยงานทำอยู่แล้วทุกปี”

ชัยธวัช ตุลาธน

ติง ครม. สั่งปรับปรุงงบฯ 67 ผ่าน 3 เดือน ไร้การเปลี่ยนแปลง

ชัยธวัช ระบุอีกว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้โทษหน่วยงานราชการ เพราะการบริหารบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์คือเรือธงของรัฐบาล รัฐบาลต้องเป็นผู้นำ เพื่อให้ข้าราชการเป็นผู้ตามในการสนองนโยบายอย่างมีทิศทาง นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้มีมติสั่งทบทวน พ.ร.บ. งบฯ 67 ใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งปรับปรุงแนวทางการจัดทำงบประมาณและปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบฯ 67 ซึ่งใช้เวลากว่า 3 เดือนสำหรับปรับปรุง แต่กลับพบว่าหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ ขณะที่นโยบายเร่งด่วนที่ควรสะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน แต่พบว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ยังไม่ได้ตอบโจทย์

เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน งบประมาณเพื่อชดเชยหนี้ให้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ ไม่ได้ถูกตั้งเอาไว้ หรือนโยบายเร่งด่วนที่บอกว่าจะให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งน่าจะต้องทำประชามติถึง 1-2 ครั้งในปีนี้ ก็ไม่ได้ตั้งงบฯ เอาไว้รอ กกต. ของบฯไป 2,000 ล้านบาท แต่ได้มาแค่ 1,000 ล้านบาท  ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่แถลงว่าจะไม่กู้จะบริหารจากงบประมาณปกตินั้น แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการตั้งงบประมาณไว้ ซึ่งต้องรอว่าจะสามารถเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เข้าสู่สภาฯ ได้หรือไม่

“ถ้าดูภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท จะพบว่า เป็นงบฯ เบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน หลายเรื่องหน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ใน พบว่าไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิม ๆ แต่เอามาเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนปกใหม่แบบมั่ว ๆ โครงการเก่า ๆ เดิม ๆ จับมาโยงกับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ ที่ชอบทำกันมากที่สุด คือ งบฯ ตัดถนน กลายเป็นงบฯ โครงการวิเศษที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุทธศาสตร์แบบงง ๆ ”

ชัยธวัช ตุลาธน

ข้อสังเกตโยกใช้งบฯ กลาง ไม่ต่างรัฐบาลก่อน

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังบอกด้วยว่า ใน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 มีโครงการริเริ่มขึ้นใหม่เพียง 200 โครงการ จากทั้งหมด 2,000 โครงการ และส่วนใหญ่ริเริ่มมาบ้างแล้วก่อนที่จะมีรัฐบาล เป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนวาระใหม่ของรัฐบาล และยังพบปัญหาอื่น เช่น คาดการณ์รายได้เกินจริง เกินไปมากถึงประมาณ 100,000 ล้านบาท ขณะที่รายการที่รัฐบาลต้องจ่ายจริง ๆ กลับตั้งงบประมาณหรือคาดการณ์ไว้อย่างไม่เพียงพอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบฯสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งสุดท้ายอาจต้องตั้งงบฯเพื่อชดเชยใช้หนี้เงินคงคลังในภายหลัง

“หลายนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ หายไปอย่างไร้ร่องในงบฯ ปีนี้ นโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ 10%  ค่าชดเชยภาษีรถไฟฟ้า (EV) ค่าไฟชดเชยหนี้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ งบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ที่โฆษณาไว้ว่าจะตั้งงบกว่า 5,000 ล้านบาท ก็ไม่เห็นในงบฯ ฉบับนี้ รายจ่ายที่ไม่ได้ตั้งงบฯ ไว้พวกนี้ รวม ๆ แล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 100,000 ล้านบาท สุดท้ายก็ต้องปัดไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป สุดท้ายก็จะไปใช้เงินจากงบฯ กลาง ทุกอย่างโยนไปใช้งบฯ กลาง รัฐบาลที่แล้วก็ทำแบบนี้”

ชัยธวัช ตุลาธน

ตั้งคำถาม วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบฯ ไม่เหมือนวิกฤต

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งคำถามว่า “วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบฯ ไม่เหมือนมีวิกฤต” ซึ่งนายกฯ ย้ำเรื่องนี้หลายครั้ง หลายโอกาสว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในวิกฤต ซึ่งหากประเทศเกิดวิกฤตจริง ๆ จะสะท้อนออกมาจากการตั้งงบประมาณ เพื่อรับมือกับการแก้วิกฤตนั้น แต่เมื่อเปิดข้อมูลจากเอกสาร รายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2567 ระบุว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะโต 2.5% ปี 2567 โต 3.2% ส่วนเงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ และจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีนี้และปีหน้า รวมทั้งรายละเอียดงบฯ ที่นายกฯ แถลงก็ไม่พบจุดที่เห็นว่าเป็นวิกฤต

งบฯ ฉบับประชาชน GDP ตัวเลขไม่ตรง

ศิริกัญญา ระบุอีกว่า เมื่ออ่านรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 ฉบับประชาชน ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP โต 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับเอกสารภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2567 แต่ก็ถึงบางอ้อ เพราะเป็นตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ จึงตั้งคำถามว่า รัฐบาลกำลังพยายามบรรลุเป้าหมาย GDP โตเกิน 5% ในการเข้ามาบริหารในปีแรก ด้วยการโกงสูตรที่ไม่นับรวมเงินเฟ้อหรือไม่

“ดิฉันตกใจมากว่า ดิฉันต้องแพ้พนันแล้วต้องไปบวชชีหรือเปล่า เพราะแพ้พนันท่านประธานวิปฝ่ายค้าน ท่านปกรณ์วุฒิ ว่าถ้าเศรษฐกิจประเทศโตเกิน 5% เมื่อไหร่ จะลาไปบวชชี”

ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา ยังชี้ไปที่งบฯ ด้านเศรษฐกิจ เมื่อพบว่า นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เป็นเรือธงสำคัญของรัฐบาลอย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต ที่เพิ่งประกาศไม่นานมานี้ว่าเป็นแพคเกจใหญ่ 600,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท และเติมเงินให้กับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 100,000 ล้านบาท ที่จะนำเงินมาจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และ พ.ร.บ.งบฯ 67 อีก 100,000 ล้านบาท แต่ในงบฯ 67 ไม่ปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายนี้

“งบฯ 67 ล่องหนค่ะ ไม่ปรากฏดิจิทัลวอลเล็ตเลยแม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ก็ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ จากที่โฆษณาไว้ 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง งบฯ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่งใส่มาเมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่มีการปรับปรุงงบฯ ครั้งที่หนึ่ง แต่ก็ชัดเจนว่ายังไม่สามารถที่จะหาเงินมาเติมให้เต็ม 100,000 ล้านบาทได้เลย นี่ขนาดไปตัดงบฯ ที่จะใช้คืน ธ.ก.ส.มาแล้วนะคะ ตกลงเรายังจะเชื่ออะไรได้อีก จากคำพูดของนายกรัฐมนตรี”

ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา ยังระบุด้วยว่า สรุปแล้วต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จะสามารถออกได้หรือไม่ และต้องลุ้นพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้ อย่างเดียวหรือไม่ และสรุปยอดกู้ขณะนี้ต้องเพิ่มเป็น 585,000 ล้านบาทหรือไม่ เพื่อที่จะทำทั้งดิจิทัลวอลเล็ต และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ อย่างที่เคยสัญญาไว้หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active