ป.ป.ส. เปิด “ศูนย์รักษ์ใจ” ดูแลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด

ใช้พื้นที่ค่ายทหาร ใน 4 จังหวัดนำร่อง ปราจีนบุรี, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ, กาญจนบุรี แก้ปัญหาขาดแคลนเตียงจิตเวช

วันนี้ (8 ม.ค. 67) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิด “โครงการอบรมทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ รุ่นที่ 2” ให้กับทหารจากค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เพื่อรองรับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) 

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส.

เพื่อให้ทหาร ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ ได้รับการเสริมสร้างความรู้ และทักษะการดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดตามมาตรฐานสาธารณสุข ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และ สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา คาดหวังให้ทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจมีความรู้ ความสามารถด้านการพยาบาล เช่น การพยาบาลขั้นพื้นฐานตามหลักวิชาการ, การตรวจร่างกาย, การทำกิจกรรมกลุ่ม, การพยาบาลผู้ป่วยที่ก้าวร้าว, การรายงานอาการผู้ป่วยต่อพยาบาลหัวหน้าเวร โดยเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก

เลขาธิการ ป.ป.ส.บอกด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหายาเสพติด จากปัญหาผู้ใช้ยาเสพติดเป็นเวลานาน จนเกิดอาการทางจิต และก่อความรุนแรงในชุมชน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงกำหนดปฏิบัติการเร่งด่วน Quick Win นำผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย 30 จังหวัด 85 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดกลุ่มเร่งด่วน (เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสูงสุด) เข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อคืนความปลอดภัยให้ชุมชน 

ทั้งนี้ มีพื้นที่เร่งด่วน 4 จังหวัดที่ขาดแคลนเตียงจิตเวช ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ และกาญจนบุรี โดยกองทัพบกได้สนับสนุนพื้นที่ในค่ายทหารฯ จัดตั้งเป็น “ศูนย์รักษ์ใจ” เพื่อดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดชั่วคราว (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลค่ายฯ) ได้แก่ 

  1. ค่ายจักรพงษ์ (อ.เมืองปราจีนบุรี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.ปราจีนบุรี

  2. ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.ศรีสะเกษ

  3. ค่ายสุรนารี (อ.เมืองนครราชสีมา) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.ชัยภูมิ

  4. ค่ายสุรสีห์ (อ.เมืองกาญจนบุรี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดจาก จ.กาญจนบุรี

”การจัดตั้งศูนย์รักษ์ใจเป็นความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงการมีเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งการรองรับผู้ป่วยจิตเวชในเวลาเร่งด่วนจำเป็นต้องใช้ ปัจจัยในด้านสถานที่ อุปกรณ์และบุคลากรรองรับ ต้องขอบคุณกองทัพในการสนับสนุน”

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ บอกด้วยว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาที่ต้องร่วมดำเนินการแก้ไขในหลายมิติ และรัฐบาลได้กำหนด 5 เสาหลักเพื่อการแก้ปัญหา คือ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ประชาชน โดยปฏิบัติการ Quick win นำผู้ป่วยจิตเวชเข้ารักษาที่เริ่มในวันที่ 1 ธ.ค.66  เป็นสัญญาณที่ดี ที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนำผู้ป่วยจำนวน 4,414 ราย เข้ารักษา และหากพบผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่จะดำเนินการนำเข้ารักษาด้วย 

ขณะที่ผู้เสพยาเสพติด ที่ยังไม่มีอาการทางจิต จะนำชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลผู้เสพยาเสพติด (CBTx) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเป็นเป้าหมายซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้น และหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ต้องลงไปสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน ให้เห็นถึงความตั้งใจ ประชาชนจึงจะเกิดความเชื่อมั่น และมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active