เวทีเสวนา “นิธิ ในสายตาสามัญชน” ย้ำผลงาน อ.นิธิ จะยังคงทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม การต่อสู้ประชาชนต่อไป ‘ศิลปินราษฎร’ สะท้อนความชัดเจนในงานเขียน จุดประเด็นความเป็นธรรม ประชาธิปไตย เสรีภาพ ใช้ข้อมูลจุดประเด็นให้คนคิดต่อ
วันนี้ (13 ส.ค. 66) ในเวทีเสวนา “นิธิ ในสายตาสามัญชน“ ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เริ่มต้นเสวนาโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินราษฎร กล่าวถึง นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมุมมองนักคิดนักเขียน ว่า รู้จักกับ นิธิ หลังเรียนจบประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์รุ่นแรก ซึ่งได้เขียนจดหมายไปสมัครเป็นอาจารย์คณะมนุษศาสตร์ แต่ในตอนนั้นรับอาจารย์ นิธิ พอพลาดก็เลยไปเป็นครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่สอนได้แค่ครึ่งเทอม มีจดหมายให้มารายงานตัวเป็นอาจารย์ ก็คิดว่าอาจารย์นิธิคือคนแนะนำ และจากที่ได้ทำงานร่วมกัน เห็นความชัดเจนในงานเขียนตั้งแต่การจุดประเด็นปัญหาเรื่องระบบโซตัส มาจนถึงเรื่องประชาธิปไตยเรื่องเสรีภาพ และประเด็นเสรีภาพประชาธิปไตยก็มาพร้อมกับเรื่องความเป็นธรรม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ทั้ง 4 เสา เชื่อมโยงกัน เกี่ยวข้องกัน โดยมีหัวใจของของเสรีภาพ และเชื่อมโยงมายังประชาธิปไตย วิถีประชาธิปไตย และทั้งหมดนั้น คือ หัวใจนิธิ และชัดเจนหากมีรัฐประหาร นิธิ อยู่คนละขั้วแน่นอน
ส่วนตัวมองว่า นิธิเป็นนักเขียนในร่างนักวิชาการ คือมีลักษณะนักเขียนแต่ในอยู่ในร่างนักวิชาการ มองกลับกันเมื่อเป็นนักวิชาการ ก็อยู่ในร่างนักเขียน ดูบทความ งานเขียนทางด้านความเรียง มีความพิถีพิถัน มีประเด็นชัดเจน และในส่วนคอลัมน์มีวาระของมันชัดในความเป็นนักเขียน
“นิธิเคยเขียนเรื่องสั้น ชื่อแด่มนุษยชาติ เคยเอามารวมในชุดเรื่องสั้นสันติภาพ นิธิเขียนผลร้ายของสงคราม เขาเขียนเองภาษาของนิธิเป็นภาษาคนวรรณกรรม แต่พอมาทำหน้าที่นักวิชาการ นิธิมีความเป็นครูในสถานะวิชาชีพ และทำงานทางความคิด ระหว่างความเป็นนักเขียน นักวิชาการ ผลงานที่บอกว่าเขามีความเป็นครู เห็นเลยว่างานที่นิธิเขียนออกมา มีการจุดประเด็นให้คนคิด คือสอนแบบไม่สอน จะใช้ข้อมูลจุดประเด็นให้คนคิดต่อ คือปลายเปิดเสมอ ให้คนคิดใหม่ได้เสมอ จุดประเด็นคิดใหม่ ๆ“
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินราษฎร
ด้าน จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ เล่าถึงความเป็นมาย้อนไปถึงการต่อสู้ของชาวชุมชนบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ในปี 2542 ที่อาจารย์นิธิเดินทางกลับจากภาคใต้ ผ่านมาที่บางสะพาน อาจารย์ เห็นป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้า และเข้ามาหาชาวบ้าน ถามชาวบ้านว่า ชาวบ้านเขียนเอง ต่อสู้เอง แบบนี้อาจารย์ชอบในหลักคิดของการต่อสู้ และติดตามการต่อสู้ของชาวบ้าน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมที่บ่อนอก มีตำรวจบาดเจ็บ ชาวบ้านก็บาดเจ็บ สังคมมองชาวบ้านเป็นผู้กระทำความรุนแรง อาจารย์นิธิเขียนคอลัมน์เรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้ตำหนิรัฐ ตำหนิชาวบ้าน แต่ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงสิ่งที่เกิดขึ้นความเป็นไปเป็นมาทำให้สังคมเข้าใจชาวบ้าน และมองว่าเรื่องปัญหาที่นี่ต้องเป็นปัญหาสาธารณะ
“อาจารย์ได้ร่วมดำน้ำดูปะการัง สะท้อนความจริงให้เห็นว่าถ้าโรงไฟฟ้ามา แนวประการังจะถูกทำลาย ทำให้ชาวบ้านสามารถประจันหน้าต่อสู้โรงไฟฟ้าได้“
จิตนาเล่าต่อถึงการต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านของอาจารย์นิธิ ที่เธอบอกว่า เป็นเหตุการณ์ ที่สร้างความพลิกผัน เมื่อมีการนำนักวิชาการอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มใหญ่ที่มาพร้อมกับสารเคมีต่าง ๆ ที่ชาวประมงแจ้งว่า จะนำไปทำลายปะการัง ชาวบ้านจึงล้อมต่อว่านักวิชาการ เหตุการณ์ขัดแย้งบานปลาย กระทั่งวันนั้นมีข่าวว่า บ้านกรูดโหดร้ายป่าเถื่อน มาคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์นิธิบอกเราต้องต่อสู้ด้วยวิชาการชาวบ้าน
“อาจารย์นิธิมามอบปริญญาให้กับจินตนา เป็นคนที่จบมหาลัยเที่ยงคืน ไม่ใช่บอกจินตนาเรียนเก่ง แต่บอกว่าคุณต้องมีพื้นที่ เขาอ้างวิชาการ คุณต้องอ้างความวิชาการชาวบ้าน ต้องสู้ อาจารย์พร้อมอยู่เคียงข้าง ถ้ามีอะไรอาจารย์จะคอยช่วยชาวบ้านทันที“
ด้าน ปวริศ แทนนคร พรรคโดมปฏิวัติ กล่าวถึง สิ่งที่ทำให้รู้จักอาจารย์นิธิ เมื่อตอนปี 2563 ที่อยู่ปี 2 ตอนนั้นกระแสการเมืองปะทุขึ้นมา งานประวัติศาสตร์สายอาจารย์นิธิ อาจไม่ใช่กระแสหลัก แต่ถูกหยิบขึ้นมา โดยรู้จักอาจารย์นิธิจากงานเขียนในมติชน การที่ท่านพูดเรื่องคนไทยมาจากไหน สิ่งนั้นทำให้ตนรู้สึกว้าวมากว่า เราต้องคิดเรื่องนี้ด้วยหรอ กระแสที่อาจารย์เขียนพูด ทำให้คนรุ่นตนเองเข้าใจง่าย และทำให้ติดตามผลงานอาจารย์มาต่อเนื่อง
ด้าน ธนพัฒน์ กาเพ็ง กลุ่มทะลุฟ้า กล่าวว่า ไม่ได้รู้จักอาจารย์นิธิเป็นการส่วนตัว แต่ได้อ่านหนังสือ ติดตามบทวิเคราะห์ มองว่าวิเคราะห์ของอาจารย์นิธิเฉียบขาด เข้ากับยุคปัจจุบัน ทั้งเรื่องทหาร ราชการ ก็ได้นำการศึกษาจากอดีตที่อาจารย์นำเสนอ ทำให้กำหนดทิศทางเข็มมุ่งของการเคลื่อนไหวได้ สิ่งที่อาจารย์นำเสนอประวัติศาสตร์ที่คิดต่อได้ ซึ่งการเขียนของอาจารย์ไม่ได้บังคับให้ผู้อ่านต้องเชื่อ แต่ให้คิดต่อได้ รวมถึงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับชนชั้นนายทุน เป็นสิ่งที่นักเรียนไม่ได้เรียนมา แต่ศึกษาประวัติศาสตร์จากชุมชน อาจารย์เสนอว่าประเทศไม่เคยเกิดการปฏิวัติได้ ไม่เคยเปลี่ยนผ่านการผลิต อย่างการยกเลิกทาส ในมุมมองอาจารย์ มองคือการรักษาอำนาจ
“สิ่งอาจารย์วิเคราะห์ คือคุณูปการให้เราได้เดินต่อ อาจารย์คือคนรุ่นเก่าที่ไม่เคยเก่า เป็นการร่วมกันต่อสู้ของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ร่วมกัน ถือว่าเราได้สูญเสียนักคิดนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ “
ธรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ได้นำเสนอเรื่องต่างๆในเชิงโครงสร้าง และประเด็นที่อาจารย์นิธินำเสนอเป็นเรื่องโครงสร้าง กลุ่มนักเคลื่อนไหวเยาวชนก็ตีแผ่เรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นการนำเอาเนื้อหามาตั้งวงศึกษา