อาลัย ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ปัญญาชนคนสำคัญของไทย

แวดวงวิชาการ ประวัติศาสตร์ สูญเสียครั้งสำคัญ ผู้บุกเบิก “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ฝ่าวิกฤตการเมือง เสริมพลังความรู้จากฐานราก สร้างประชาธิปไตยทางตรง ควบคุมประชาธิปไตยแบบตัวแทน

วันนี้ (7 ส.ค. 2566) รายงานข่าวจากบุคคลใกล้ชิดครอบครัวระบุว่า ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เสียชีวิตในวัย 83 ปี ท่ามกลางความอาลัยของบรรดาลูกศิษย์และบุคคลทั่วไป นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญในแวดวงวิชาการของไทย

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า “ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนคนสำคัญของไทยคนหนึ่ง ผมอ่านบทความในมติชนของแกประจำตั้งแต่เป็น นร มัธยม และมาอ่านงานของแกจริงจังมากขึ้นตอนเป็น นศ ปี 1 …แม้ชีวิตจะเป็นสิ่งไม่เที่ยง แต่การสูญเสียใครสักคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วย ย่อมทำให้เราใจหายเสมอ”

ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวว่า อ.นิธิ เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นด้วยความจริงใจตรงไปตรงมา และท่านก็เป็นที่เคารพรักนับถือของคนหลายกลุ่มหลายพวกในสังคม

“อ.นิธิ เป็นคนที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยน่าสนใจมากขึ้น ทำให้คนไทยสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิม เป็นนักวิชาการที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งมานานหลายปีและเป็นอาจารย์ของชาติ”

คริส เบเคอร์ นักประวัติศาสตร์

ประวัติ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ที่เชียงใหม่ ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2519 กลับมารับราชการตามเดิม จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษ จนเข้าโครงการลาเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดใน พ.ศ. 2543

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันเครือข่ายวิชาการในชื่อ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2540 โดยเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอการสนทนาแลกเปลี่ยนจากเครือข่ายวิชาการ รวบรวมบทความทางวิชาการหลายสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งมีกระดานข่าวสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และส่วนสารานุกรมฟรีในเรื่องเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ การนำเสนอคำศัพท์ใหม่ ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เนื้อหาในเว็บไซต์ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี ระบุใน เปิดประเด็น : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับประชาธิปไตยทางตรง ระบุว่า อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นหนึ่งในปัญญาชนอาวุโส ที่แลเห็นความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อการอยู่รอดรวมกันของคนในสังคม และเพื่อฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ของคนไทยที่ขาดหายไปในยุคสงครามเย็นและเศรษฐกิจฟองสบู่ อาจารย์นิธิ สลัดหัวโขนของการเป็นศาสตราจารย์และด๊อกเตอร์ด๊อกตีนที่สอนแต่เพียงในมหาวิทยาลัย ออกมาจัดตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้นอย่างเป็นอิสระ อาศัยพื้นที่และอาคารชั่วคราวที่ไม่ต้องโอ่อ่าในรูปแบบราคาแพง และการใช้สื่อทางวิทยุโทรทัศน์ที่สมควรแก่อัตภาพ สร้างกระบวนการเรียนรู้นอกระบบ นอกหลักสูตร ที่ทำให้คนที่สนใจซึ่งไม่จำกัดเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชั้นนั้นชั้นนี้ ได้รับข่าวสารข้อมูลความรู้และความคิด ที่ทำให้ตั้งคำถามเป็น คิดเป็น และจินตนาการเป็น

“สิ่งที่อาจารย์นิธิมีความโดดเด่นเป็นที่สุดก็คือ การให้เกียรติแก่ผู้รู้ที่เป็นชาวบ้านทั่วไป จนพบความจริงว่าสิ่งที่เป็นความรู้และภูมิปัญญาที่ทำให้สังคมอยู่รอดมาแบบฝ่าดงตีนของพวกขุนนางข้าราชการมาหลายศตวรรษนั้น อยู่ที่ปราชญ์ท้องถิ่น และคนธรรมดาที่เรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตนั่นเอง โดยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งทางสังคม ในยุควิกฤตทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ที่จะนำเอาความรู้ของคนจากข้างล่าง มาให้คนส่วนรวมในสังคมได้รับทราบรับรู้ และได้คิดที่จะฟื้นฟูตัวเองจากอิทธิพลครอบงำของมารร้ายทางเศรษฐกิจการเมืองจากภายนอก”

ความมั่นใจที่เกิดจากความเชื่อมั่นในความรู้นั่นแหละ คือพลังที่ขับเคลื่อนการแสดงออกของความคิดเห็น และการกระทำที่มีสติปัญญา ทุกวันนี้ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเคลื่อนไหว ประท้วง และเรียกร้องสิทธิ ในเรื่องสภาพแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งความเป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรมกันอย่างมากมาย ก็เพราะพวกเขามีความรู้ที่จะอธิบายโต้ตอบอย่างมีเหตุมีผลและมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ต่อคนทั้งโลกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อาจารย์นิธิและมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าเป็นการแสดงออกในทางประชาธิปไตยแบบทางตรง  ที่เป็นการโต้ตอบเพื่อการควบคุมประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เป็นทางอ้อม

นอกจากนี้ ศ.นิธิ ยังเคยได้เข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active