ทีมวิจัย ม.ธรรมศาสตร์ พัฒนาการใช้บล็อกเชนกับระบบเลือกตั้งออนไลน์ THAIVOTE.io นำร่องทดลองใช้แล้วกับสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่ง นักวิจัย ชี้ โปร่งใส ปลอดภัยสูง ป้องกันการแทรกแซงผลเลือกตั้งได้จริง
8 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดย ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ ได้คิดค้น พัฒนา และออกแบบการใช้บล็อกเชนในการเลือกตั้ง ในชื่อโครงการ “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” ซึ่งมีการนำร่องทดลองใช้แล้วในการเลือกประธานและกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด ตั้งแต่ปี 2562
ศ.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ หนึ่งในทีมผู้วิจัย ระบุว่า ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นจังหวัดใหญ่ มีหน่วยเลือกตั้งกระจายเกือบ 30 หน่วย บางแห่งอยู่บนพื้นที่เกาะ ทำให้การจัดการค่อนข้างลำบาก ใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งแต่ละปีค่อนข้างสูง และสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ บางส่วนไม่สามารถมาลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งได้ทันเวลา ผู้บริหารสหกรณ์ฯ จึงร่วมมือกับธรรมศาสตร์ในการสร้างระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนที่สมาชิกสหกรณ์ฯ สามารถลงคะแนนได้สะดวก การนับคะแนนมีความถูกต้อง รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ
โดยระบบเลือกตั้ง THAIVOTE.io เป็นนวัตกรรมที่แตกต่างจากระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ซึ่งระบบเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นระบบแบบรวมศูนย์ ทำให้อาจมีข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส โดยระบบอาจถูกโจมตีจากภายนอก ผู้ดูแลระบบหรือส่วนกลางอาจเข้าถึงฐานข้อมูลการลงคะแนน ทำให้ผลคะแนนบิดเบือนได้ แต่การใช้ระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชน ข้อมูลจะถูกเข้ารหัสและจัดเก็บแบบกระจายศูนย์บนบล็อกเชนสาธารณะ ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในแต่ละ Node เมื่อถูกยอมรับจากเครือข่ายแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยสูง น่าเชื่อถือ การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายบนบล็อกเชนไม่ต้องอาศัยตัวกลาง
“การเลือกตั้งบนบล็อกเชนจะช่วยลดปัญหาการโจมตีระบบเลือกตั้ง ป้องกันการแทรกแซงผลเลือกตั้ง ข้อมูลการออกเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นความลับไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน และช่วยขจัดปัญหาความล่าช้าและความผิดพลาดในการนับคะแนน เพิ่มความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งหน่วยงานที่จัดเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเสียง”
นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การขยายผลไปยังการเลือกตั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา ม.ธรรมศาสตร์ ได้จัดการเลือกตั้งออนไลน์ผ่าน THAIVOTE.io ให้กับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงยุติธรรม จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด
สำหรับกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งหมดจะถูกควบคุมผ่านโปรแกรมบนบล็อกเชน ซึ่งมีการกำหนดข้อมูลผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ผู้สมัคร วันเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุดการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงวันลงคะแนนระบบจะทำงานอัตโนมัติ ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คลงคะแนนผ่านเว็บไซต์ โดยยืนยันตัวตนก่อนลงคะแนนได้หลายวิธี เช่น ใช้รหัสผ่าน ยืนยันด้วย OTP จากเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนและใบหน้า เมื่อสิ้นสุดเวลาเลือกตั้ง ระบบปิดอัตโนมัติ เมื่อข้อมูลจัดเก็บบนบล็อกเชนครบถ้วนแล้วสามารถประกาศผลได้ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที
โดยผลงาน “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมของประเทศไทย และล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลชมเชยจากการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ปี 2566 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. บอกว่า การพัฒนา “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” นับเป็นรูปธรรมภายใต้ภารกิจการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ เพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากการประยุกต์ในวงการการเงินแล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีศักยภาพที่จะนำไปใช้สร้างนวัตกรรมทางสังคม หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างสังคมที่มีความทันสมัยและเป็นธรรมด้วย
บล็อกเชน ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีด้านการเงิน หลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนประชาธิปไตย
‘บล็อกเชน’ (Blockchain Technology) เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลชั้นสูง ได้รับการหยิบยกมาต่อยอดเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนประชาธิปไตยทางตรง การใช้ ‘บล็อกเชน’ เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง ถือเป็นแนวโน้มหรือเป็นเทรนด์ของยุคสมัย ปัจจุบันมีหลากหลายประเทศที่นำมาใช้
ตัวอย่างเช่น ‘สหรัฐอเมริกา’ มีการศึกษาทดลองเทคโนโลยีบล็อกเชนกับระบบเลือกตั้ง โดยใช้กับการเลือกตั้งกลางเทอมของรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย เมื่อปี 2561 และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของยูทาห์เคาน์ตี้ ในปี 2563 โดยเปิดให้ Absentee Voter หรือผู้ไม่สามารถไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งลงคะแนนผ่านมือถือบนบล็อกเชนได้
ในปี 2561 ‘เซียร์ราลีโอน’ ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้นำบล็อกเชนมาใช้ในการบันทึกผลคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีเฉพาะในเขตตะวันตก และในปี 2563 ณ เมือง Tsukuba ‘ญี่ปุ่น’ ได้นำบล็อกเชนมาใช้ในการลงคะแนนเสียงในท้องถิ่น ภายใต้ระบบ My Number ที่จะมุ่งสู่การเป็น Smart City
‘รัสเซีย’ มีโครงการศึกษาทดลองระบบเลือกตั้งบล็อกเชนหลายระดับ โดยปี 2563 ได้เปิดให้เลือกตั้งผ่านบล็อกเชนใน 2 มณฑล คือ Kursk and Yaroslavl ขณะที่ ‘อินเดีย’ คณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมกับ IIT Madras ศึกษาระบบเลือกตั้งออนไลน์เพื่อความสะดวกในการเลือกตั้ง โดยเน้นเทคโนโลยีบล็อกเชน
ล่าสุด เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ‘เกาหลีใต้’ ทุ่มงบประมาณถึง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชน ร่วมกับ IBM เช่นเดียวกับ ‘กรีนแลนด์’ ที่วางแผนพัฒนาระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงคะแนนที่อยู่ในที่ห่างไกล
แม้ว่ารูปแบบการนำบล็อกเชนมาใช้จะแตกต่างกันออกไปตามบริบทของประเทศนั้น ๆ หากแต่ทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสการลงคะแนนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทลายข้อจำกัดเรื่องความล่าช้าและความผิดพลาดในการนับคะแนน ที่สำคัญคือช่วยลดปัญหาการโจมตีระบบเลือกตั้ง ป้องกันการแทรกแซงผลเลือกตั้ง