#ม็อบ19กรกฎา66 หวัง 8 พรรคร่วมฯจับมือกันแน่น

ประชาชนหวังพรรคที่จะขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังคงผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชนและอนาคตของคนรุ่นใหม่ ยึดมั่น MOU ฉบับ 8 พรรคร่วมฯ  โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

วันนี้ (19 ก.ค. 66)  กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับผู้เคลื่อนไหวในนาม Respect My Vote ชวนประชาชนแต่งชุดสีดำ เพื่อร่วมจัดกิจกรรม ”ณาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เวลา 17.00 น. 

ทั้งนี้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวทันที จากกรณีรับคำร้องปมหุ้นไอทีวี ได้ มีประชาชนที่ ชุมนุมที่รัฐสภา เดินทางทยอยไปเสริมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ ระบุว่ายังมีความหวังกับการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นฝั่งเสียงข้างมากเดิม 

แทนฤทัย แท่นรัตน์ ตัวแทนโมกหลวงริมน้ำ กล่าวว่า มีความหวังว่าพรรคการเมืองที่มาจากเสียงของประชาชนและอยู่ข้างประชาชน และช่วยเหลือประชาชน 

“เรายังคงมีความหวังและสิ่งที่เราหวังคือระหว่างความเป็นประชาธิปไตย เราหวังอุดมการณ์ เราหวังนโยบาย เราหวังในสิ่งที่จะตอบโจทย์ กับประชาชนเราหวังถึงปากท้อง เราหวังถึงอนาคตนั่นคือสิ่งที่เราหวัง สำหรับพรรคการเมืองที่จะขึ้นมาใหม่ เราอยากให้พวกคุณตอบโจทย์ความหวังนี้ โอบรับความหวังนี้”

ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ กล่าวถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจากโครงสร้าง กลไก และกติกาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นสิ่งที่ทำให้คาดเดาเหตุการณ์ได้ตั้งแต่แรกก่อนการเลือกตั้งแล้ว และไม่ได้เหนือความคาดหมาย ฉะนั้นความหวังหลังคำตัดสิน ของศาลรัฐธรรมนูญหรือก่อนหน้านั้นจึงไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก และมองว่าโอกาสที่จะได้รัฐบาล จากกติกาการเลือกตั้งปกติ จึงอาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่จะต้องได้มาจากการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันและนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

“โอกาสที่เราจะคืนสู่ บรรยากาศประชาธิปไตยการเมืองที่ปกติยังมีอยู่แน่นอนเพียงแต่ว่ายังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ อาจจะต้องใช้เวลา โดยกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว MOU ที่เคยลงนามร่วมกันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ยิ่งชีพกล่าวว่า

“รัฐบาลอะไรก็ตามที่จะมาหลังจากนี้ ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนอันดับหนึ่ง 14 ล้านเสียงอยู่ในนั้น ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะมาถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายแต่ในเรื่องของความชอบธรรมไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลที่ไม่ได้มาด้วยความชอบธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์จึงมีความจำเป็นที่ จะต้องมีเงื่อนไขอะไรประกอบบางอย่าง เช่น อาจไม่ได้ดำรงตำแหน่งถึง 4 ปีอยู่เพียงแค่ ส.ว. หมดอายุ หรืออาจจะต้องรับนโยบายบางอย่างที่มาจาก MOU ฉบับเดิมบ้าง” 

ยิ่งชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องอยู่ใน 8 พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้  และ MOU จะยังคงเหมือนเดิม แต่หากมีการเสนอแคนดิเดตนายกฯจากพรรคที่ได้คะแนนรองแล้ว ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ และอาจจะเกิดการต่อรอง ให้พรรคก้าวไกล ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล MOU ก็คงต้องเปลี่ยน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนและเชื่อมั่นไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนมานโยบายนี้ก็ยังจะอยู่ เนื่องจากว่าแม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่เป็นรัฐบาลสมัยที่แล้ว ก็เสนอเรื่องนี้ไว้ หรือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ในสภาที่แล้วก็ลงมติเห็นชอบกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว และถ้าพรรคการเมืองที่หาเสียงเกี่ยวกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยังคงยึดมั่นและแน่วแน่ในการ ผลักดันเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่าอย่างไรก็จะเกิดขึ้นได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active