คณะทำงานฯ ไม่หวั่น ‘แบบสอบถามประชามติแยกดินแดน’ ฉุดตั้งรัฐบาล

ประชุมครั้งที่ 2 ‘คณะทำงานย่อยว่าด้วยสันติภาพปาตานี’ ยืนยัน เดินหน้าทบทวนมาตรการ กฎหมายพิเศษ ถอดบทเรียนแก้ปัญหาความไม่สงบ เดินต่อกระบวนการสันติภาพ ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน ย้ำความเปลี่ยนแปลงยึดกรอบรัฐธรรมนูญไทย

ภาพจาก Facebook : กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang

วันนี้ (19 มิ.ย. 66) ที่พรรคประชาชาติ ตัวแทน 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมประชุมคณะทำงานย่อยว่าด้วยสันติภาพปาตานี ซึ่งถือเป็นการประชุมกันครั้งที่ 2

รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุภายหลังการประชุม ว่า วันนี้คณะทำงานย่อยฯ นัดพูดคุยถึงนโยบาย จุดยืนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของแต่ละพรรค โดยภาพใหญ่ ยังคงเน้นที่การวางแนวทาง นโยบายเพื่อสร้างสันติภาพชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นขึ้นได้ ตามกรอบระยะเวลา 100 วันแรกของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล จะทำอะไร 1 ปี และ  4 ปี จะทำอะไร 

โดยบอกว่าสถานการณ์ความไม่สงบจนถึงเวลานี้ใกล้ครบ 20 ปี แล้ว จึงจำเป็นที่คณะทำงานต้องร่วมกันทบทวนแนวทางที่ใช้คลี่คลายปัญหา ความขัดแย้งตลอดช่วงที่ผ่านมา ว่ามีบทเรียน มีประสบการณ์ร่วมกันอย่างไร และจากนี้ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มาจากพลเรือน จะมีทิศทาง มีวิธีคิด มุมมองใหม่ ๆ เพื่อการคลี่คลายปัญหาได้อย่างไร

ภาพจาก Facebook : กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang

คณะทำงานย่อยฯ ยังร่วมกันทบทวน มาตรการด้านความมั่นคง กฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ จะสามารถลดความพิเศษลงได้หรือไม่ เพื่อเน้นการสร้างพื้นที่ความปลอดภัยให้ประชาชน ทบทวนสถานภาพ กอ.รมน.พร้อมทั้งร่วมกันทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งในอีกภายในระเวลาไม่กี่เดือนจากนี้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะต้องพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็ต้องดูว่าจำเป็นแค่ไหน และต้องทบทวนหรือไม่ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องพูดคุยกับพี่น้องชาวพุทธ ที่ยังกังวลกับสถานการณ์ในพื้นที่ 

ส่วนอีกเรื่องที่ชัดเจนในแง่ทิศทางวันนี้ คือ การพูดคุยสันติภาพ ซึ่งคณะทำงานย่อยฯ เห็นตรงกันว่า ต้องสานต่อ แต่จะเปลี่ยนชื่อเรียกขานจาก “การพูดคุยสันติสุข” ที่ใช้มาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนเป็น “การพูดคุยสันติภาพ” ที่สะท้อนความหมาย มุ่งสู่ความจริงจัง แสวงหาข้อตกลงกับคู่สนทนาฝ่ายที่เห็นต่าง และสื่อสารกับคนในพื้นที่ ว่าภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไป เพื่อกำหนดทิศทาง โดยเก็บรับบทเรียนที่เคยดำเนินการมาในรอบ 10 กว่าปี ส่วนรายละเอียดยังไม่ได้พูดคุยกัน

“จังหวะก้าวอะไรก่อนหลัง ยังต้องประชุมกัน ไม่ใช่แค่นโยบายพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ต้องมาจัดเรียงกัน ยืนยัน ว่า ผลประโยชน์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังทำร่วมกัน จะคืนสู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ต้องทำให้มีหลักประกัน และต้องสถาปนาความเป็นปกติใหม่ โดยไม่ต้องมีมาตรการพิเศษ ทั้งความปลอดภัยทางกายภาพ และ ความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย”

ภาพจาก Facebook : กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นแบบสอบถามประชามติแบ่งแยกดินแดน ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ รอมฎอน ระบุว่า ยังไม่ได้คุยกัน ยืนยันว่า คณะทำงานย่อยฯ ไม่กังวลว่าจะกระทบต่อการตั้งรัฐบาล เพราะในเวลานี้มีโฟกัสแน่นอน จดจ่อไปที่ความพยายามคลี่คลายปัญหาที่อ่อนไหว เปราะบาง และต้องมั่นใจว่ามาตรการที่เตรียมไว้ ต้องวางจังหวะก้าวที่ดีเพื่อให้เดินหน้าการแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างมั่นคงที่สุด 

ส่วนความพยายามเชื่อมโยงแนวคิดแบ่งแยกดินแดนกับพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลนั้น รอมฎอน บอกว่า เรื่องนี้ถูกตีตกไปแล้ว เป็นประเด็นที่ไม่สอดล้องกับความจริง เพราะการทำงานจนได้มาซึ่งอำนาจ มีความชอบธรรมโดยยึดหลักการตามกรอบรัฐธรรมนูญของไทย

“เรื่องนี้ตกไปแล้วเพราะได้ข้อสรุปว่าเป็นประเด็นที่พยายามทำให้กลายเป็นข้อกังขา ยืนยัน เป็นพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มาอย่างชอบธรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงใด ๆ  คณะทำงานย่อยฯ มุ่งมั่น มีสติ เตือนกันตลอดเวลาให้ระมัดระวัง ฟังทุกฝ่าย และมีสมาธิมากพอ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นรัฐบาลใหม่อย่างเต็มที่”

สำหรับบทบาทหน้าที่คณะทำงานย่อยฯ จะสรุปผลการศึกษาต่าง ๆ เสนอต่อคณะทำงานเปลี่ยนผ่านชุดใหญ่ต่อไป โดยตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ นอกจาก รอมฎอน ปันจอร์ ยังมีทั้ง มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ, พล.ท.พงศกร  รอดชมภู จากพรรคก้าวไกล / มุข สุไลมาน, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, รอมือละห์ แซเยะ, รักชาติ สุวรรณ์, มูหามัดเปาซี อาลีฮา จากพรรคประชาชาติ / ชวลิต วิชยสุทธิ์, ตัสนีม เจ๊ะตู, ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ จากพรรคไทยสร้างไทย / ก่อแก้ว พิกุลทอง จากพรรคเพื่อไทย / ฮัมซะฮ์ หะสาเมาะ พรรคเพื่อไทรวมพลัง / กัณวีร์ สืบแสง, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, ซาฮารี เจ๊ะหลง, ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ จากพรรคเป็นธรรม และ พ.ต.อ.เสวก อรุณรุมแสง จากพรรคเสรีรวมไทย รวมถึงผู้ร่วมสังเกตการณ์อย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร, อับดุลเราะมาน มอลอ และ สุฮัยมิน ลือแบซา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active