ศาลรับคำฟ้อง คดีเหมืองแร่โปแตช อุดรฯ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 200 คน ยื่นฟ้องขอเพิกถอนการออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช เหตุกระบวนการขอประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฏหมาย ชาวบ้าน ย้ำ ไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองโปแตช

วันนี้ (29 มี.ค. 2566) มีรายงานจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีว่า ศาลปกครองอุดรธานีรับหนังสือฟ้องขอเพิกถอนการออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และรับเป็นคดีสิ่งแวดล้อมเลขที่ 1/2566  แล้ว โดยช่วงสายของวันนี้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน เดินทางไปศาลปกครองอุดรธานี (ถนนอุดร-หนองคาย) ต.บ้านขาว อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนการออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี รวมถึงกระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับการออกประทานบัตรดังกล่าว โดยกรณีนี้สืบเนื่องเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ปี 2565 รัฐบาล “ประยุทธ์  จันทร์โอชา” ได้ทิ้งทวนก่อนยุบสภา ด้วยการอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่บริษัทเอกชน

ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ระบุว่า ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่ใช้ในการประกอบขอประทานบัตร ได้ใช้ข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว และไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 

จึงขอให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 4 แปลง   ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ โดยประทานบัตรมีอายุยาวนานถึง 25 ปี คือปี 2565-2590 แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พบว่ากระบวนการในการขออนุญาตประทานบัตร มีความไม่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีปกครอง

ซึ่งคดีนี้ มณี  บุญรอด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 116 คน ได้มอบอำนาจให้ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ดำเนินการฟ้องหน่วยงานรัฐ จำนวน 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ที่ 1, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 2 , คณะรัฐมนตรี ที่ 3, คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่ 4, ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ 5, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ที่ 6, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่ฯ ที่ 7 และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 8 

ในส่วนผู้ฟ้องคดีทั้ง 116 ราย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่ง คือ

1. พิพากษาให้ ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ทั้ง 4 แปลง ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นประทานบัตรที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนประทานบัตรดังกล่าวเสีย

2. พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการเพื่อพิจารณาประกอบการออกประทานบัตร ทั้งหมด โดยให้มีผลนับแต่วันที่จัดทำเอกสาร

3. พิพากษาให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้ง 4 แปลง ที่ได้ให้ความเห็นชอบโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 และรับรองโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 เนื่องจากได้ใช้ข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว และไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

4. พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการออกประทานบัตรของหน่วยงานราชการ

โดยก่อนหน้านี้มีความพยายามจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดร เคยฟ้องศาลปกครองอุดรธานี มาแล้ว 1 ครั้ง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน ทั้ง 4 คำขอ ตามประทานบัตร และเพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการต่อเนื่องตามรายงานในใบไต่สวน ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษา ให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้องและที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พิจารณาคำขอประทานบัตรของบริษัทเอพีพีซี ใหม่ ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด กระทั่งวันนี้ ศาลได้รับคำฟ้องและลงเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เลขที่1/2566 

อย่างไรก็ดีชาวบ้านประกาศจุดยืน ย้ำ ไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองแร่โปแตช โดยหวังแอบอ้างอำนาจของประชาชนเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร 

“เราเชื่อว่าอำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน ซึ่งพิสูจน์ได้จากการยืนหยัดต่อสู้ยับยั้งด้วยสองมือสองเท้าของเรามายาวนานกว่า 22 ปี ถึงแม้โครงการฯ จะได้รับประทานบัตร ยิ่งทำให้เราต้องยืนหยัดเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด อนึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจึงขอประกาศว่า “เราไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองแร่โปแตช” ที่จะแอบอ้างอำนาจของประชาชนเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพื่อกลับมากดหัวเราอีกต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active