ยื่น 2,500 รายชื่อ ค้านออกประทานบัตรเหมืองโปแตช อุดรฯ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ร้องผู้ว่าฯ ชี้ ไม่ควรฉวยโอกาสอ้างปุ๋ยแพงต้องทำเหมืองโปแตช ในขณะที่ปัญหาเก่ายังค้างคา แนะรอศาลปกครองสูงสุดตัดสินก่อนดำเนินการต่อ ย้ำต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน

วันนี้ (20 มิ.ย. 65) เวลา 09.30 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เดินทางเข้ายื่นหนังสือพร้อมด้วย 2,586 รายชื่อ ถึงผู้ว่าราชการ จังหวัดอุดรธานี เพื่อคัดค้านการออกประทานบัตร ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น เนื่องจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีแผนและนโยบายที่จะเร่งผลักดันให้ประทานบัตรแก่บริษัทฯ ทำเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี อีกครั้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปุ๋ยที่มีราคาแพงอยู่ในขณะนี้

ก่อนหหน้านี้ มีการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ตั้งแต่ปี 2547 (คำขอที่ 1/2547-4/2547) ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2545 บนเนื้อที่กว่า 26,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ ต.หนองไผ่, ต.โนนสูง, ต.หนองขอนกว้าง อ.เมืองอุดรธานี, ต.นาม่วง และ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม แต่ถูกกระแสคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่ง มีกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน ทั้ง 4 คำขอ ตามประทานบัตร และเพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการต่อเนื่องตามรายงานในใบไต่สวน โดยศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2561 ให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้องและที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พิจารณาคำขอประทานบัตรของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใหม่

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 (ฉบับปัจจุบัน) และ สภา อบต.ห้วยสามพาด เคยมีมติไม่เห็นชอบกับโครงการฯ ด้วยคะแนน 12 ต่อ 9 เสียง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ซึ่งส่งผลให้การออกประทานบัตรหยุดชะงัก และขณะนี้ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ดังนั้น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ควรรอให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีถึงที่สุดเสียก่อน

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะต้องดำเนินการตามประกาศการขอประทานบัตร จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 56, 82 และ 68 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ใหม่ทั้งหมด หรือเฉพาะส่วนที่แตกต่างจากที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ แต่ บริษัทฯ ยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 แต่อย่างใด

พิกุลทอง  โทธุโย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี กล่าวว่า จากกรณีเหมืองแร่โปแตช อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่กำลังมีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้เห็นว่า เหมืองแร่ไม่ได้สร้างความเจริญแก่ชุมชน แต่ได้สร้างความเดือดร้อนและผลกระทบที่หน่วยงานรัฐและบริษัทก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซ้ำกำลังผลักดันที่ จังหวัดอุดรธานีอีก การกระทำเช่นนี้รัฐบาลและนายทุนไม่ควรฉวยโอกาส และอ้างว่าการกระทำนี้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยมีราคาแพงแล้วจะต้องทำเหมืองแร่โปแตช เพราะปัญหาเก่าที่ค้างคาอยู่ก็ยังแก้ไม่ได้

“ฉันทามติของชาวบ้านในพื้นที่ ผ่านการประชุมสภา อบต.ห้วยสามพาดแล้วว่า ไม่เห็นชอบกับโครงการฯ ดังนั้น หากวันใดมีข่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ครม. นำเรื่องประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เข้าสู่วาระการพิจารณาให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการ วันนั้นพวกท่านจะเจอกับการคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน”

พิกุลทอง  โทธุโย  แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

พิกุลทอง ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการแล้ว จะส่งจดหมายพร้อมรายชื่อคัดค้านของชาวบ้านทางไปรษณีย์ ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ด้วย  

ขณะที่ เพจ เหมืองแร่ ชัยภูมิ ระบุเมื่อ 17 พ.ค. 2565 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอำเภอด่านขุนทด เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ 3 ตำบล ตำบลหนองไทรตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โดยขอให้มีคําสั่งให้ตรวจสอบผลกระทบ พร้อมจ่ายค่าชดเชยเยียวยาผลกระทบจากการทําเหมือง และปรับปรุงแก้ไขโครงการ ไม่ให้สร้างผลกระทบอีกในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ