ศาลอาญาสั่งปล่อยตัวชั่วคราว 2 นักกิจกรรม “แบม-ตะวัน” หวั่น อันตรายถึงชีวิต

ศาลอาญาเห็นสมควรให้ปล่อยตัวจำเลย “ตะวัน” ชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน หลังผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์ ยื่นคำร้อง แจงอยู่ในภาวะวิกฤต อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

วันนี้ (7 ก.พ.2566) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอปล่อยชั่วคราวในคดีหมายเลขดำ อ.1237/2565 ที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นจำเลย โดยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ้างถึงสถานะในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐในสถานพยาบาลที่ได้รับมอบตัว ผู้ต้องควบคุมภายใต้อำนาจศาลไว้ดูแลและได้รับมอบหมายจากกรมราชทัณฑ์ ขอปล่อยชั่วคราวจำเลย ซึ่งได้รายงานถึงสุขภาพของจำเลย ที่ได้อดข้าวและน้ำเพื่อเรียกร้องตามข้อเรียกร้อง ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ม.ค.2566

ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 6 ก.พ.2566 ด้วยว่าอาการโดยรวมของผู้ถูกควบคุมตัวมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโรงพยาบาลเห็นว่าจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณา และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนหมายขังและให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเรื่องการสันนิษฐานจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา และหลักการการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนีซึ่งจะทำให้การรักษาตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายของจำเลยทำได้สะดวกและลดเงื่อนไขที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต

ศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยอยู่ในความดูแลรักษาของโรงพยาบาลที่ผู้ร้องเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายแพทย์รายงานมาว่า จำเลยอยู่ในภาวะวิกฤตอาจเสียชีวิตได้ ประกอบกับการเข้าเยี่ยมจำเลยจากบุคคลใกล้ชิดในกรณีที่จำเลยยังอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องเป็นไปตามระเบียบซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในการเยียวยาจิตใจของจำเลยขณะอยู่ในภาวะวิกฤต กรณีมีเหตุสมควรให้ออกหมายปล่อยจำเลยชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 3 เมื่อครบเวลาปล่อยชั่วคราวแล้วให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาล โดยให้ออกหมายปล่อยจำเลยวันนี้ และแจ้งผู้ร้องทราบด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ยื่นคำร้อง ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอปล่อยชั่วคราว แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ จำเลยที่ 7 ในคดีหมายเลขดำ อ.765/2565

โดยศาลอาญากรุงเทพใต้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ทําการรักษาจำเลยที่ 7 ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 แต่เมื่อความปรากฏตามคำร้องทำนองว่า จำเลยยืนยันปฏิเสธการรักษาและแจ้งความประสงค์ที่จะรับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอก โดยยังคงไม่รับประทานอาหาร อาการโดยรวมของจําเลยที่ 7 เลวร้ายลงมากจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก จำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีและสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง หากยังคงควบคุมตัวจำเลยเอาไว้มีโอกาสที่จำเลยอาจเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวได้สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และหนังสือของทัณฑสถานหญิงกลาง ที่อ้างถึงแถลงการณ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงน่าเชื่อว่า อาการเจ็บป่วยของจำเลยที่ 7 อยู่ในขั้นวิกฤต หากจำขังจำเลยที่ 7 ต่อไป จำเลยที่ 7 อาจจะถึงอันตรายแก่ชีวิต 

เช่นนี้ การกำหนดเงื่อนในการปล่อยชั่วคราวใด ๆ ในช่วงเวลานี้ จึงมิใช่สาระอันสำคัญและจำเป็นยิ่งไปกว่าการคุ้มครองดูแลชีวิตของจำเลยที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 7 เจ็บป่วยถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิต โอกาสที่จำเลยที่ 7 จะก่อภัยอันตรายหรือสร้างความเสียหายหลังจากการปล่อยชั่วคราวจึงเป็นไปได้ยาก อีกทั้ง จำเลยที่ 7 เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาแล้วช่วงเวลาหนึ่งและไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี เมื่อความปรากฏต่อศาลเช่นนี้ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคสาม และมาตรา 108 วรรคสอง จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 7 ชั่วคราวโดยไม่มีประกัน ออกหมายปล่อยจําเลยที่ 7 และหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 7  และผู้ร้องทราบกำชับให้จำเลยที่ 7 มาศาลตามที่นัดไว้แล้วด้วย

ย้อนไทม์ไลน์การตัดสินใจ ตะวัน – แบม 

นับตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค 66 

ประกาศยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเองในคดีมาตรา 112 พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง

  • 18 ม.ค. 66 

มีการยกระดับการเรียกร้องโดยทั้งสองประกาศ “อดอาหาร และอดน้ำ” เข้าขั้นวิกฤต

• 20 ม.ค. 66

อาการทรุดลง ถูกส่งไปยัง รพ.ราชทัณฑ์ และปฏิเสธการรักษา

• 24 ม.ค. 66

ถูกส่งไปยัง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ  ยังไม่รับอาหาร และน้ำ

• 31 ม.ค. 66

ตะวัน และแบม รับการจิบน้ำ และการปฐมพยาบาล

• 2 ก.พ. 66

ยังคงไม่รับอาหาร แต่จิบน้ำถามทนายว่า จะยื่นประกันตัวเพื่อนเมื่อไหร่

• 5 ก.พ. 66

แพทย์โทรหาครอบครัวของทั้งคู่ว่าอาการทรุดจนน่าวิตก

• 6 ก.พ. 66

ตะวันและแบมปฏิเสธการรับอาหาร แต่ยินยอมรับเฉพาะ สารน้ำ และแร่ธาตุ อาการเข้าขั้นวิกฤต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active