‘โฆษกศาลยุติธรรม’ แจง ศาลเน้นหลักสิทธิ เสรีภาพประชาชน ย้ำ เงื่อนไขปล่อยชั่วคราว เป็นไปตามข้อตกลง หากปฏิบัติตามก็ไร้ปัญหา ขณะที่ ภาคประชาชน แห่ให้กำลังใจ ตะวัน-แบม หวั่นความสูญเสีย ทำสถานการณ์ยากควบคุม
วันนี้ (28 ม.ค.66) ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมเครือข่ายภาคประชาชนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ปล่อยนกพิราบ หน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งตะวัน-แบม ย้ายมารักษาตัว หลังอดข้าว อดน้ำมาแล้ว 10 วัน ซึ่งตามที่มีรายงานพบว่า สภาพร่างกายเข้าขั้นวิกฤต และยังปฏิเสธการรักษา พร้อมทั้งเรียกร้องให้แก้ ม.112
ทิชา บอกว่า คณะแพทย์คงกำลังตั้งวงคุยกันถึงกรณีนี้ เมื่อเจ้าตัวยืนยันเลือกปฏิเสธการรักษา ขณะที่หมอเห็นความตายอยู่ข้างหน้า หมอจะทำอย่างไร ก็คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่การถกเถียงกันในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องวงใน อาจจะเป็นคำตอบที่ชี้ขาด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ยิ่งบอกสังคมว่า ชุดความคิดความรู้ในสังคมเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา
“เรื่องนี้ไม่มีคำตอบ และเป็นเรื่องที่น่ากลัวด้วย วันนี้ที่เรามาที่นี่ เพื่อทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ทำให้เกิดการขบคิดเรื่องนี้ จริง ๆ ต้องไม่มีใครตายจากการต่อสู้ เรื่องการมีชีวิตที่ปลอดภัยในสังคม เราต้องอย่าปล่อยให้เขาตาย เพราะฉะนั้นการตอบสนองต่อเจตนาของเขาในลักษณะที่เข้าอกเข้าใจในระดับหนึ่งน่าจะทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตร่วมกับเราได้ และการต่อสู้ของเขาก็เป็นไปตามวิถีปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินสิทธิ ไม่ใช้เสรีภาพเกินเสรีภาพ ดิฉันยืนยัน”
ทิชา ณ นคร
ทิชา ยังตั้งข้อสังเกตต่อกรณีข้อเรียกร้องให้แก้ไข ม.112 มองว่าคือการล่าแม่มดโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ดังนั้น ต้องมีใจที่เปิดกว้าง เวลานี้ตนอายุ 71 ปี เติบโตมาพร้อมกับความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องยอมรับว่าประเทศนี้ยังมีเด็ก ๆ ที่เกิดตามหลังมาภายใต้ข้อมูลข่าวสารมากมาย ภายใต้ความฝันเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่าเป็นการแก้ไขเพื่อไปสู่การอยู่ร่วมกัน ไม่ควรมีใครเอาข้อกล่าวหาที่รุนแรงไปจัดการกับเขา
ประเทศอื่นเขาทำอย่างไรกัน ทำไมเขาอยู่ร่วมกันได้ วันนี้จึงขอให้ฟังเสียงของเด็กเยาวชนด้วยใจที่เปิดกว้าง แล้วเอา ม.112 มาเป็นตัวตั้ง หาทางอยู่ร่วมกันให้ได้ ทั้งสถาบันฯ ทั้งคนหนุ่มสาว ถ้าอยากให้สถาบันฯ เป็นแหล่งรวมของความศรัทธา เป็นแสงสว่างก็ต้องปรับแก้ เพื่อให้สถาบันฯ อยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้
ทิชา ย้ำว่า ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียในกรณีของตะวัน-แบม เพราะความสูญเสียจะยกระดับไปสู่สถานการณ์ที่ยากจะควบคุมได้ มันคือประวัติศาสตร์บาดแผลของประเทศนี้ จนถึงตอนนี้ก็ยังมีความหวัง แม้ว่าจะไม่เห็นการตอบสนองของผู้มีอำนาจ ถ้าเข้าสู่การเลือกตั้งก็อย่าเลือกเขา เพราะเขาไม่ได้แคร์เสียงของลูกหลานเลย
“พวกเรากำลังจะตายในไม่กี่วัน แต่เด็ก ๆ กำลังจะเติบโตขึ้นมาทุก ๆ วัน ถ้าไม่ได้ยินเสียงของเด็ก ๆ คนเหล่านี้ก็ไม่ควรจะใช้อำนาจขึ้นมาตัดสินใจใดใดในประเทศนี้ เราจึงมีความหวัง ซึ่งไม่ใช่ความหวังที่ตายตัว แต่ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ แน่นอน”
ทิชา ณ นคร
ยันข้อเรียกร้องเรื่องพื้นฐานสังคมประชาธิปไตย
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยได้แสดงออกเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้คือวิกฤตที่ต้องออกมาพูดแล้ว และคิดว่าหลาย ๆ คน อาจมีความเชื่อที่ต่างไปก็เริ่มรับฟังมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ไหวแล้วกับสถานการณ์นี้
“เราไม่ได้เข้าข้างเด็กสุดขั้ว แต่ในฐานะที่เด็กเรียกร้องเป็นเรื่องพื้นฐานมาก และถ้าเกิดเรานิ่งเฉยไม่สนใจ ผมว่ามันใช่แล้ว สังคมวิปริตแล้วที่เราจะปล่อยให้เด็กเสียชีวิตไป คุณจะอยู่ได้หรอในสังคมแบบนี้”
จะเด็จ เชาวน์วิไล
ขณะที่ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพื้นฐาน ในสังคมประชาธิปไตย เรียกร้องให้ศาลคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน หยุดดำเนินคดีการแสดงความเห็นทางการเมือง และแม้ว่าจะเรียกร้องให้แก้ ม.112 และ ม.116 ก็เป็นการเรียกร้องต่อพรรคการเมืองให้มีนโยบาย และแสดงจุดยืนออกมา นั่นหมายความว่า พวกเขาเรียกร้อนผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย
“แต่ละนาทีที่ผ่านไปหมายถึงชีวิตของเด็ก และคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ล้วนมีความฝัน มีจุดมุ่งหมาย และค่านิยมร่วมสมัย การอดอาหาร ไม่ปลุกแค่พวกเราที่อยู่ที่นี่ แต่มันจะปลุกทุกคนให้ลุกขึ้นมา ไม่วันนี้ก็วันหน้า”
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
กสม.ออกแถลงการณ์ห่วงการอดอาหาร #ตะวันแบม
วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอดอาหารของเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง
โดย กสม. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ในขณะนี้ และไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย จึงขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติการตามสิทธิ หน้าที่ และอำนาจ โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน เคารพในสิทธิและเสรีภาพทั้งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้การรับรอง
กสม. ขอเสนอให้มีการเปิดพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ โดยวิถีทางประชาธิปไตย สันติวิธี และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย เร่งช่วยกันหาทางออก ก่อนที่จะเกิดความสูญเสียซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักว่าการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดย กสม. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
‘โฆษกศาลยุติธรรม’ แจงศาลให้ความสำคัญสิทธิ เสรีภาพประชาชน
ด้าน สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกับ The Active ถึงข้อสังเกตในกระบวนการยุติธรรมต่อเงื่อนไข และข้อจำกัดการปล่อยชั่วคราวกรณีตะวัน-แบม โดยยืนยันว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ใช้เหมือนกันกับคดีอื่น ๆ อย่างกรณีของตะวัน ภายหลังศาลพิจารณา อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้กำหนดเงื่อนไข ให้จำเลยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องติดตามตัว หรือ กำไล EM พร้อมทั้งมีเงื่อนไขห้ามจำเลยออกนอกเคหสถาน ตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วย หรือได้รับอนุญาตจากศาล หากเป็นกรณีเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ต่อศาลภายใน 3 วัน ห้ามจำเลยกระทำการ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ในบ้านเมือง และห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากศาล
โดยในเวลานั้นได้ตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว ให้เป็นผู้กำกับดูแล ความประพฤติของจำเลย มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน และควบคุมมิให้จำเลยกระทำผิดเงื่อนไข ของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน
“ก่อนหน้านี้ศาลเคยให้ประกันไปแล้วแต่ผิดเงื่อนไข ดังนั้นจึงมีมาตรการเพิ่มเติมก่อนให้ประกันครั้งหลังสุด ซึ่งได้คุยกับตัวจำเลย และผู้กำกับดูแล ไม่ให้ผิดเงื่อนไข ตกลงทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เกิดจากความตกลงกันกับทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งเงื่อนไขที่ยอมรับร่วมกันอาจมีข้อจำกัดด้านการใช้ชีวิตอยู่บ้าง แต่หากเทียบกับการถูกคุมขังในเรือนจำ การจำกัดบริเวณในบ้านถือว่ามีอิสระ และสะดวกสบายมากกว่า หากมีเหตุจำเป็นต้องออกไปภายนอก ไปทำธุระก็สามารถแจ้งศาลขออนุญาตได้ เท่าที่ทราบก่อนหน้านี้ศาลก็อนุญาตให้ไปสอบ หรือถ้ามีภารกิจ มีเหตุจำเป็นศาลก็พิจารณาอนุญาตมาตลอด ส่วนการแสดงออกต่าง ๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน กับผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ทั้งนี้ยืนยันว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีนี้ แต่ให้ความสำคัญเท่ากันทุกคดี”
สรวิศ ลิมปรังษี
โฆษกศาลยุติธรรม บอกด้วยว่า จริง ๆ แล้วในแง่ของศาลให้ความสำคัญการปล่อยชั่วคราว ทั้งคดีทั่วไป คดีการเมือง ก็ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขที่เป็นปัญหามากกว่า คดีอื่น ๆ ก็มีความผิดคล้าย ๆ กัน เมื่อไม่มีปัญหาด้านความประพฤติ ปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ผ่านมาศาลก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข บางกรณีถอด EM ไปก็มี เพราะหากอยู่ในเงื่อนไขที่ทำความเข้าใจร่วมกัน และปฏิบัติตาม ก็ไม่มีปัญหาอะไร
“กรณีที่เกิดขึ้นคราวนี้ จำเลยไม่ร้องขอให้ศาลทำอะไร ถ้าไม่มีฝ่ายไหนร้องขอ ศาลก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ยืนยันว่าไม่สามารถเรียกร้องให้ยุติทุกคดีได้ เพราะบางกรณีมีพฤติกรรมรุนแรงมากกว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องเอาไปใช้กับทุกคดีเหมือน ๆ กัน พฤติกรรมจึงต้องดูที่แต่ละคดี จริง ๆ แล้วศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่แล้ว ศาลเป็นคนกลาง ต้องดูจุดประสงค์ของทุกฝ่าย การปฏิบัติตามกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย เรื่องไหนที่อยู่ในวิสัยให้ประกันตัว หรือปล่อยชั่วคราว ก็ให้มาตลอด”
สรวิศ ลิมปรังษี