สภา กทม. เริ่มถก งบฯ 7.9 หมื่นล้านบาท

ชัชชาติ ย้ำ จัดงบฯ​ ตามหลักความจำเป็น ประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนากทม. เดินหน้า กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ส.ก. ก้าวไกล เสนอสูตรเพิ่มประสิทธิภาพหารายได้ นำเงินไปพัฒนาเมือง

วันนี้ (6 ก.ค.2565) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาญัตติ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการพิจารณางบประมาณ ของ กทม.โดย ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก ในรอบ 8 ปี โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบ “สภากรุงเทพมหานคร Thai pbs และ เพจ The Active

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรงุเทพมหานคร กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กทม. ขอเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยกำหนดวงเงินให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจ และสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร บนหลักของความจำเป็น ประสิทธิภาพและความโปร่งใส โดยประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจหดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่มีผลต่อรายได้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น แต่สถานการณ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดี ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพที่ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการจัดทำข้อบัญญัติฯเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ 15 พ.ย. 64 ตนเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ในช่วงที่เกือบจะร่างเสร็จแล้ว และได้ส่งมอบต่อประธานสภากทม. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภาระ อำนาจ หน้าที่ เกิดความคุ้มค่า ประหยัด คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปีพ.ศ. 2565

นอกจากนี้ ยังปรับให้สอดคล้องกับบางส่วนของวิสัยทัศน์การบริหารงานกรุงเทพมหานครของตน คือกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยนำดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นฐานคิดพัฒนานโยบายนำมาสู่​ นโยบาย 9 มิติ และ แผนปฏิบัติการมากกว่า 200 ข้อ หวังว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะให้การสนับสนุนรับหลักการร่างข้อบัญญัติฉบับนี้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและกรุงเทพมหานครสืบไป

บรรยากาศในที่ประชุม ส.ก. ได้ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในภาพรวมของการจัดงบประมาณ รวมไปถึงการจัดเก็บรายได้ของ กทม. ที่มีผลต่อการนำมาพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของกทม.​ ​

สัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ​การจัดเก็บรายได้ของ กทม.​ยังไม่มีประสิทธิภาพ  เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูก ถ้าเรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงข้อมูล ให้แรงจูงใจเจ้าหน้าที่ที่สามารถจัดเก็บได้เกินเป้าก็จะได้โบนัส  ทำให้กทม.มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อยากให้ กทม.​เป็นกทม. ที่เราภูมิใจเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ เก็บภาษีได้อย่างสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างโซนเอกมัยที่เป็นพื้นที่สีแดงพื้นที่พาณิชย์ แต่กลับมีคนไปปลูกกล้วยกลางเมือง ควรจะละเว้นภาษีเกษตรกรรมในพื้นที่ได้หรือไม่ หรือยกเพดาภาษีให้สูงสุด

ขณะที่ในส่วนของค่าธรรมเนียมเก็บขยะ 7,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเก็บ ปี 2566 แค่ 800 ล้านบาท ด้านหนึ่งแม้จะดีกับประชาชนที่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่าย แต่ผู้ประกอบการนายทุนที่มีรายได้เป็นร้อยล้านบาท กลับจ่ายค่าขยะ 3-4 หมื่นบาท ตรงนี้จะมีการปรับอัตราการเก็บขยะนายทุนใหม่หรือไม่  ถ้าจัดเก็บภาษีแบบก้าวไกลจะมีเงินเพิ่ม 5,300 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5,290 ล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ 10 ล้านบาท  สามารถนำงบจำนวนนี้ไปทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งงบที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไปพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วกทม. กว่า 262 แห่ง หรือไปลอกท่อ ส่วนตัวรู้สึกเสียดายและผิดหวังกับการจัดเก็บรายได้ที่ตกหล่นหากให้โฮกาสนี้มีวิธีการจัดเก็บที่มีศักยภาพก็จะนำเม็ดเงินที่ได้ไปพัฒกทม.ได้​มากยิ่งขึ้น

สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า งบประมาณในส่วนของสำนักการระบายน้ำ  6,466 ล้านบาท มีพันธกิจแก้ปัญหาน้ำท่วมของบมาเยอะมากทุกปี แต่ฝนตกน้ำก็ยังท่วม คนกรุงเทพฯ เดินทางลำบาก ในรายละเอียดจะมี โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงแม่น้ำเจ้าพระยา  9,800 ล้านบาท  ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่พอไปดูรายละเอียดของบฯ มาแล้วแต่กลับมีความคืบหน้าไม่มากนัก  จึงอยากถามสำนักระบายน้ำว่า ปี 2569 โครงการนี้จะเสร็จตามแผนหรือไม่ เพราะถ้ายิ่งช้าประชาชนยิ่งเดือดร้อน​

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดแต่ละโครงการที่พบมีการจ้างที่ปรึกษา รวม 390 ล้านบาท อยากถามว่าจ้างที่ปรึกษาทำอะไร เพราะในการทำโครงการ ที่ปรึกษาจะเก่งกว่า สำนักการระบายน้ำของเราหรือไม่ สำนักการระบายน้ำ ​มีทั้งช่างเครื่องกลจำนวนมาก มีโครงสร้างการทำงาน มีคนที่มีคามสามารถ จะไปจ้างที่ปรึกษาทำไม นำไปใช้ทำอย่างอื่นจะเหมาสะมกว่าไหม และหากโครงการมีปัญหา ที่ปรึกษารับผิดชอบหรือไม่ ​ถึงเวลาต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ครบระบบ ​

ด้าน จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีปัญหาอยู่หลายด้าน เช่น จากข้อมูลโฉนดที่ได้มาไม่ตรงกับสภาพจริง เวลาฝ่ายจัดหารายได้ลงไปสำรวจแล้วไม่ได้รับความร่วมมือ หรือประเมินแล้วไม่รับใบประเมินมากกว่าครึ่งถูกตีกลับ จึงได้เชิญหัวหน้าฝ่าย 50 เขตมาหารือในขณะที่ระบบปัจจุบันก็ยังมีปัญหา บุคลากรยังมีอัตราไม่เต็มจำนวน ขณะนี้กำลังทำสารสนเทศภาษีเพื่อเป็นฐานเก็บภาษี ถ้าระบบดำเนินการได้แล้วเสร็จ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็จะเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าว่าปี 2566 จะจัดเก็บได้ 7,710 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า ปี 2565  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active