ครั้งแรก! สภากทม. เตรียมถ่ายทอดสด ถกงบฯ 6 ก.ค. นี้

ประธานสภากทม. รับมอบร่างข้อบัญญัติ งบประมาณ กทม. 2566 ชี้ 7.9 หมื่นล้าน ประชาชนต้องรับรู้ วางทีม ส.ก. ลงดูปัญหารายเขต ตรวจงบรายสำนัก พร้อมผลักดันนโยบายพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับผู้ว่าฯ

วันนี้ (20 ก.ค. 2565) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วิรัตน์ มีนชัยนันน์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยรองประธานสภาฯ และตัวแทน ส.ก. จากทุกพรรค/กลุ่ม การเมือง รับมอบร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 จากสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมส่งให้กับ ส.ก. ตรวจสอบก่อนการพิจารณา

วิรัตน์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกับกับ ส.ก. ว่าจะมีการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณ กทม. ในวันที่ 6 – 7 ก.ค. 2565 นี้ ตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดกรอบเวลาไว้ ภายใน 45 วัน หลังจากการรับมอบร่างข้อบัญญัติ และให้เวลา ส.ก. ได้รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะจากประชาชนในระดับเขต ให้การพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ เป็นไปอย่างเหมาะสม และตรงตามความต้องการที่แท้จริง เพราะ ร่างข้อบัญญัติในครั้งนี้ มีการตั้งไว้ก่อนในชุดบริหารสมัยที่ผ่านมา

“กรุงเทพมหานคร มีความตั้งใจ ที่จะหารือฝ่ายกฎหมาย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงร่างข้อบัญญัตินี้ได้ด้วย เพราะงบประมาณกว่า 79,000 ล้านบาท เป็นเงินภาษีจำนวนมหาศาล ประชาชน ควรได้รู้ว่าจะนำไปพัฒนาด้านใด ใช้ตรงใจพวกเขาหรือไม่ และสามารถเสนอสิ่งที่เดือดร้อนในเขตต่างๆ ได้ ส.ก. ทุกคนมีความตั้งใจอยากทำวิธีงบประมาณให้โปร่งใส…”

นอกจากนี้ วิรัตน์ กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณ กทม. ในครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ในการทำงานของสภา กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะ จะมีการถ่ายทอดการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายฯ ให้ประชาชนได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย สมาชิกสามารถอภิปรายปัญหาความเดือดร้อนในระดับเขต ที่ได้รับข้อมูลจากประชาชนโดยตรงได้ อีกทั้งต้องมีบทบาทในการร่วมเสนอแนะกับฝ่ายบริหาร จากนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้ให้กับประชาชนเอาไว้ ว่าจะดำเนินการให้สอดคล้องกันได้อย่างไร

สำหรับ ขั้นตอนการพิจารณางบประมาณรายจ่าย กทม. นั้น หากวาระแรกที่ประชุมสภา กทม. รับหลักการ ประมาณเดือน ส.ค. จะมีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ทันที เพื่อให้ทันต่อการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ และได้มีการกำหนดตำแหน่งของผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมการวิสามัญ ซึ่ง ส.ก. ทั้งหมด 47 คน ไม่รวมประธาน และรองประธาน จะได้ทำหน้าที่ในคณะกรรมการฯ ทั้งหมด

เบื้องต้น จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดที่จะตรวจสอบงบประมาณรายเขต และชุดที่จะตรวจสอบงบประมาณในสำนักต่างๆ ของ กทม. ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ใหม่ และดีที่สุด เพราะ ผู้ว่าฯ ทำงานในนามอิสระ แม้ ส.ก. จะมีพรรคการเมือง แต่ไม่มีการแบ่งเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายบริหาร เราสามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระ ว่างบประมาณในแต่ละพื้นที่ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ มีความจำเป็นมากเพียงใด หากไม่จำเป็นต้องเสนอตัดลด เพื่อนำไปใช้ในโครงการอื่น วิรัตน์ กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้